INGถอนสมอ"ประกันอายุสั้น" เลี่ยงประสานงาสินค้าดอกผลสูง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 มกราคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

"ไอเอ็นจีประกันชีวิต" ไม่แลกหมัดสินค้าแบงก์ หน่วยลงทุน และกรมธรรม์อายุสั้นให้ดอกผลสูง มองประกันชีวิตไม่ใช่สินค้า "คอมซูเมอร์โปรดักส์" และตอบโจทย์การวางแผนการเงินระยะยาวหรือเงินออมลูกค้ามากกว่า ต่างจากกองทุนรวม และเงินฝาก หรือสินค้าแบงก์ ที่กำลังชิงดีชิงเด่นระดมเงินจากลูกค้าอย่างบ้าคลั่ง ตั้งหน้าตั้งตาเข็นกรมธรรม์ระยะยาว สินค้าประเภทบำนาญเป็น "เรือธง" รองรับการ"รีครูตตัวแทน" ที่เริ่มเบ่งบาน...

ในมุมมองของเจ้าของเงินออม ทั้งธนาคาร ธุรกิจจัดการกองทุน และประกันชีวิต อาจจะกลายเป็นเป้าหมายในการนำเงินไปลงทุนเพื่อออกดอกออกผลในช่วงที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ แต่ในสายของทั้ง 3 ธุรกิจแล้ว กำลังจะกลายเป็นคู่ต่อสู้ที่ขับเคี่ยวกันอย่างถึงพริกถึงขิง

ธนาคารแทบทุกแห่ง เริ่มโน้มน้าวใจลูกค้าที่มีเงินก้อนโตให้กันมาฝากเงินไว้ในบัญชีด้วยดอกเบี้ยที่ค่อนข้างจูงใจ ขณะที่กองทุนรวมแทบทุกแห่ง ที่มีความได้เปรียบจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีก็คลอดกองทุนหน้าประหลาดๆ ออกมาอวดโฉมไม่เว้นแต่ละวัน

ธุรกิจประกันชีวิตหลายแห่ง โดยเฉพาะที่มีแบงก์แม่เป็นแบ๊คอัพ ก็พยายามจะโยกย้ายบัญชีเงินฝากเข้ามาในพอร์ตของธุรกิจประกันชีวิตผ่านกรมธรรม์ออมทรัพย์ระยะสั้นมากขึ้น เพื่อลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย

"กรมธรรม์ระยะสั้นที่ให้ดอกผลสูง ไม่ควรจะหันไปเน้นมาก แต่ควรจะมีเป็นสินค้าเสริม"

สมโภชน์ เกียรติไกรวัล ไอเอ็นจีประกันชีวิต มองต่างออกไป โดยเห็นว่า ช่วงนี้ธุรกิจประกันชีวิตหลายแห่งยังคงโฟกัสไปที่ สินค้าที่ให้ดอกผลสูงเป็นหลัก ทั้งๆที่ กรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ใช่สินค้าคอนซูเมอร์โปรดักส์

สำหรับสมโภชน์ สินค้าประเภทนี้น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจจัดการลงทุนที่การรันตีผลตอบแทนสูงโดยการขายผ่านช่องทางธนาคารมากกว่า ส่วนประกันชีวิตควรจะเป็นกรมธรรม์ตลอดชีพและสินค้าบำนาญ ที่จะตอบปัญหา การวางแผนทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตผู้คนทั่วไปจะเหมาะกว่า

ข้อมูลในมือของสมโภชน์ อธิบายไว้ละเอียดเกี่ยวกับอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตที่ขายผ่านช่องทางสาขาแบงก์ อาจมีการขยายตัวค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับตัวแทนกลับแตกต่างกันลิบลับ

จากสถิติบอกได้ว่า ประกันชีวิตแทบทุกแห่งที่ขายสินค้าประเภทนี้ผ่านช่องทางแบงก์ ยังผลิตเบี้ยได้ไม่เท่ากับขายผ่านช่องทางตัวแทน ที่สามารถผลิตเบี้ยได้สัดส่วนสูงระดับ 70-90% ของพอร์ตรวมทุกช่องทาง

สมโภชน์ บอกว่า สินค้าผลตอบแทนสูง หรือกรมธรรม์ออมทรัพย์ระยะสั้น มีข้อดีที่ผลตอบแทนสูง แต่ที่หลายคนยังไม่รู้และทำความเข้าใจก็คือ บริษัทที่ออกสินค้านั้นมาขาย จะต้องนำเงินไปลงทุน บริหารให้ได้ผลตอบแทนสูงเพื่อนำมาจ่ายลูกค้า พร้อมกับลดคอมมิชชั่นตัวแทนให้น้อยลง รวมถึงมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังนั้นเงินที่นำไปลงทุนจึงมีความเสี่ยง

ขณะเดียวกัน การออกสินค้าประเภทนี้มาขายก็ทำให้บริษัทประกันชีวติรายนั้นต้องตั้งสำรองสูงเกินกว่าเกณฑ์การตั้งสำรองทั่วไป

" สินค้าประเภทนี้มักจะเป็นไปตามเทรนด์ เช่น ช่วงดอกเบี้ยปรับตัวลดลง กรมธรรม์ออมทรัพย์ระยะสั้นจะกลายเป็นแฟชั่น"

สมโภชน์ บอกว่า ต้องขายไอเดีย การหันมาโฟกัสสินค้าประเภทตลอดชีพ และสินค้าบำนาญกับบรรดาตัวแทน เพื่อเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในปีหน้า 2551 เป็นการหันไปโฟกัสสินค้าอายุยาว

รวมทั้งแนะนำสินค้าที่ขายดีให้กับตัวแทน อาทิ P 888 และสินค้า UE 15/5 จ่ายเบี้ย 5 ปี คุ้มครอง 15 ปี พร้อมกับในปีหน้าเตรียมจะลงทุนในด้านไอที การให้บริการคอล เซ็นเตอร์ และศูนย์บริการลูกค้ารวม 50 ล้านบาท เพื่อรองรับกับฐานลูกค้า

สำหรับ ไอเอ็นจีประกันชีวิต มีสัดส่วนพอร์ตสินค้าระยะสั้น 30% และ 70% เป็นสินค้าระยะยาว โดยคาดว่าพอร์ตสินค้าระยะสั้นจะลดลงมาเป็น 20%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.