|

จับชีพจร SMEs ปีชวด ผ่าน 4 ตัวชี้วัดทางการเงิน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
การประเมินแนวโน้มศักยภาพทางธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปี 2551 โดยโครงการวิเคราะห์และเตือนภัยรายสาขาของสสว. ด้วยการนำผลที่เกิดขึ้นในอดีตมาประกอบกับแนวโน้มบนสมมุติฐานหลายๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นจีดีพี 5% ราคาน้ำมัน 100 เหรียญต่อบาเรลล์ อัตราเงินเฟ้อ 2.8% ในปีหน้า จะเป็นตัวบ่งชี้เบื้องต้นที่เปรียบได้กับสุขภาพทางธุรกิจซึ่งเอสเอ็มอีสามารถนำไปใช้ประกอบในการทำธุรกิจ
ภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มองแนวโน้มภาพรวมสถานการณ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปี 2551 ด้วยการนำ financial ratio จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาประกอบการวิเคราะห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการฯ หาวิธีสร้างกำไรให้ได้มากขึ้น และปรับตัวให้ถูกต้อง
โดยนำตัวชี้วัดทางการเงิน 4 ด้านหลักๆ มาใช้ ด้านแรกคือ รายได้สุทธิจากการดำเนินงาน เพื่อดูว่าธุรกิจอะไรที่มีรายได้สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ ด้านที่สองคือ ผลตอบแทนจากการดำเนินงานของธุรกิจที่สูงกว่าธุรกิจอื่น ด้านที่สามคือความสามารถในการชำระหนี้ และด้านที่สี่คือผลิตภาพรายได้ต่อการจ้างงาน
สำหรับ ธุรกิจ SMEs 10 สาขาในภาคการผลิตที่มีรายได้ต่อการดำเนินงานสูง ได้แก่ 1. เคมีภัณฑ์ 290,000 ล้านบาท คิดเป็น 36%ของธุรกิจเคมีภัณฑ์ทั้งหมดที่รวมผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วย 2. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 262,000 ล้านบาท คิดเป็น 55% 3. เหล็ก โลหะและผลิตภัณฑ์ 231,000 ล้านบาท คิดเป็น 35% 4. เครื่องจักรกล 149,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% 5. อัญมณีและเครื่องประดับ 137,000 ล้านบาท คิดเป็น 79% 6.ยานยนต์และชิ้นส่วน 129,000 ล้านบาท คิดเป็น 14% 7. เครื่องใช้ไฟฟ้า 109,000 ล้านบาท คิดเป็น 14% 8. ธัญพืช 107,000 ล้านบาท คิดเป็น 38% 9. ผลิตภัณฑ์พลาสติก 102,000 ล้านบาท คิดเป็น 49% และ10. ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 98,000 ล้านบาท คิดเป็น 34%
ขณะที่ ธุรกิจ SMEs ซึ่งมีผลตอบแทนจากการดำเนินงานสูงสุด 10 สาขา ได้แก่ 1.พลังงานและพลังงานทดแทน อยู่ที่ 27.10% 2.เยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ 11.62% 3.อาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนม 10.43% 4..การบินและชิ้นส่วนการบิน 6.53% 5. ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ 6.49% 6. เครื่องจักรกล 6.97% 7. อาหารและเครื่องดื่ม 6% 8. เคมีภัณฑ์ 5.1% 9.เหล็ก โลหะและผลิตภัณฑ์ 4.44% และ 10. สิ่งพิมพ์ 3.75%
ในส่วน ธุรกิจของ SMEs ที่มีผลตอบแทนจากการดำเนินงานค่อนข้างต่ำ ทำให้ต้องดูแลระวังด้านต้นทุนอย่างมาก 10 สาขา ได้แก่ สาขาแรก อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทเส้น -23.88% เรียกได้ว่าอยู่ในระดับที่ขาดทุน สาขาที่สอง อาหารประเภทน้ำมันจากพืชและสัตว์ -8.5% สาขาที่สาม อาหารประเภทผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ –0.97%
จากนั้นเป็นกลุ่มที่ดีขึ้นมาเล็กน้อย เริ่มด้วยสาขาที่สี่ แก้วและเซรามิก +0.20% 5. ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ +0.27% 6. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 0.68% 7. ธุรกิจรีไซเคิล 0.75% 8. หนังและผลิตภัณฑ์จากหนัง 0.92% 9. เฟอร์นิเจอร์ 1.44% เมื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านการส่งออกกลุ่มเฟอร์นิเจอร์อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ผลตอบแทนการดำเนินยังต่ำอีก จึงเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ และ10. ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง 1.61%
สำหรับ ธุรกิจ SMEs ที่น่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้สูงสุด 10 สาขา ได้แก่ 1. สาขาเครื่องมือเฉพาะด้าน สามารถชำระหนี้ได้สูงที่สุด อยู่ที่ 36.34 เท่า 2. เยื่อกระดาษ กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ 26.93 เท่า 3. การบิน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ อยู่ที่ 26.32 เท่า 4. อาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์นม 14.79 เท่า 5. เครื่องจักรกล 11.79 เท่า 6. ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ 11.65 เท่า 7. ยา สมุนไพรและเวชภัณฑ์ 11.12 เท่า 8. รีไซเคิล 7.49 เท่า 9. เครื่องอิเล็คทรอนิกส์ .41 เท่า 10. สิ่งพิมพ์ 7.38 เท่า
ส่วนธุรกิจ 10 อันดับแรกที่ต้องมีความระมัดระวังเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ ได้แก่ 1. อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทเส้น – 11.80 เท่า 2. น้ำมันพืชและไขมันจากสัตว์ แม้ว่าจะเป็นบวก แต่อยู่ที่ 0.22 เท่า เท่านั้น 3. อาหารและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อยู่ที่ 0.46 เท่า 4. แก้วและเซรามิก 1.01 เท่า 5. ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 1.11 เท่า 6. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม1.48 เท่า 7. หนังและผลิตภัณฑ์หนัง 1.52 เท่า 8. อาหารประเภทธัญพืช 1.73 เท่า 9. เฟอร์นิเจอร์ 1.86 เท่า และ10. อาหารประเภทอบกรอบ 2.09 เท่า
ตัวชี้วัดสุขภาพด้านการเงินตัวสุดท้าย 10 สาขาการผลิตที่มีรายได้ต่อการจ้างงานสูงที่สุดหรือมีผลิตภาพดี ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ยาวนานและแข็งแกร่ง ได้แก่ 1. การบิน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ 16.48 ล้านบาทต่อคนต่อปี 2. พลังงาน และพลังงานทดแทน 6.10 ล้านบาท 3. เคมีภัณฑ์ 4 ล้านบาท 4. น้ำตาลและกากน้ำตาล 3 ล้านบาท 5. ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ 1.58 ล้านบาท 6. ต่อเรือและซ่อมเรือ 1.44 ล้านบาท 7. อัญมณีและเครื่องประดับ 1.33 ล้านบาท 8.เครื่องใช้ไฟฟ้า 1.24 ล้านบาท 9.เยื่อกระดาษ กระดาษ และผลิตภัณฑ์ 1.08 ล้านบาท และ10. น้ำมันพืชและไขมันจากสัตว์ 1.07 ล้านบาท โดยภาพรวมของ 10 อันดับแรกนี้จะพบว่าสามารถทำได้สูงกว่า 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างดี
ส่วนรายได้ผลิตภาพต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีมูลค่าน้อยหรือค่อนข้างต่ำ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจรีไซเคิล มีเพียง 4 หมื่นบาทต่อคนต่อปี 2. อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทเส้น 1.2 แสนบาท 3. อาหารประเภทอบกรอบ 1.5 แสนบาท 4. ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 2.4 แสนบาท 5. สิ่งพิมพ์ 3.2 แสนบาท 6. แก้วและเซรามิก 3.2 ล้านบาท 7. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3.4 แสนบาท 8.เครื่องสันทนาการ 4.5 แสนบาท 9. เฟอร์นิเจอร์ 5 แสนบาท 10. หนังและผลิตภัณฑ์จากหนัง 5.1 แสนบาท ทั้งหมดนี้ต้องให้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจในด้านของผลิตภาพมากที่สุด
สำหรับภาคการค้าและบริการนั้น 10 สาขา ที่น่าจะสร้างรายได้สูงสุดในปี 2551 ได้แก่ 1. ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง 1,333,000 ล้านบาท (68%) 2. บริการอสังหาริมทรัพย์ 661,000 ล้านบาท (75%) 3. บริการด้านการเงิน 579,000 ล้านบาท (70%) 4. ก่อสร้าง 257,000 ล้านบาท (64%) 5. บริการที่ปรึกษา 125,000 ล้านบาท 6. บริการอำนวยการ 124,000 ล้านบาท (96%) 7. โลจิสติกส์ 104,000 ล้านบาท (56%) 8. ไปรษณีย์และโทรคมนาคม 52,000 ล้านบาท (26%) 9. วัฒนธรรม บันเทิงและกีฬา 35,000 ล้านบาท (76%) 10. โรงแรมและภัตตาคาร 29,000 ล้านบาท (43%)
ส่วน 6 สาขาที่น่าจะมีผลตอบแทนในการดำเนินงานสูงสุด ได้แก่ 1.โลจิสติกส์ 17.55% ของกำไรสุทธิเมื่อหักรายได้รวม 2.บริการด้านการเงิน5.77% 3.ไปรษณีย์และโทรคมนาคม 5.36% 4.บริการที่ปรึกษา 4.38% 5.วัฒนธรรมและบันเทิง 4.21% และ6.ค้าปลีก-ค้าส่ง 3.09% จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนจากการดำเนินงานหรือกำไรของภาคการค้าและบริการต่ำกว่าภาคการผลิต
ในขณะที่ 6 สาขาที่ต้องระวังเรื่องผลตอบแทน ได้แก่ 1. บริการเสริมสร้างสุขภาพ สปา -3.45% 2.โรงแรมและภัตตาคาร –1.11% 3.บริการท่องเที่ยว –0.46% จะเห็นได้ว่า 3 สาขาแรกมีผลตอบแทนต่ำสุดและติดลบ ส่วน อีก 3 สาขาหลังอยู่ในระดับบวกแต่ต้องระวัง ประกอบด้วย 4.บริการคอมพิวเตอร์ 0.10% 5.บริการซอฟท์แวร์ 0.18% 6.บริการอสังหาริมทรัพย์ 0.52%
สำหรับ 6 สาขาที่มีความสามารถในการชำระหนี้สูงสุด ได้แก่ 1.บริการวิจัยและพัฒนา 28.76 เท่า 2.ไปรษณีย์และโทรคมนาคม 17.06 เท่า 3.บริการที่ปรึกษา 16.14 เท่า 4.ค้าปลีก-ค้าส่ง 11.87 เท่า 5.ก่อสร้าง 9.31 เท่า และ6. วัฒนธรรม บันเทิง และกีฬา 6.60 เท่า
ส่วน 6 สาขาที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ ได้แก่ 1.บริการเสริมสร้างสุขภาพ สปา – 0.39 เท่า 2. โรงแรมและภัตตาคาร 0.47 เท่า 3. บริการอำนวยการ 0.90 เท่า 4. บริการให้เช่าสินทรัพย์ 1.23 เท่า 5. บริการคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ 1.30 เท่า และ6.บริการอสังหาริมทรัพย์ 2.06 เท่า
ตัวชี้วัดสุดท้ายสำหรับภาคการค้าและบริการ 6 สาขาแรก ที่จะน่ามีผลิตภาพรายได้ต่อการจ้างงานสูงที่สุดในปี 2551 ได้แก่ 1.บริการทางการเงิน มีรายได้ 3.67 ล้านบาทต่อคนต่อปี 2.บริการอสังหาริมทรัพย์ 3.24 ล้านบาท 3.ไปรษณีย์และโทรคมนาคม 1.49 ล้านบาท 4.บริการวิจัยและพัฒนา 0.71 ล้านบาท 5.บริการที่ปรึกษา 0.59 ล้านบาท และ6.ก่อสร้าง 0.54 ล้านบาท
6 สาขาที่ต้องระมัดระวังด้านผลิตภาพรายได้ต่อการจ้างงาน ได้แก่ 1. เสริมสร้างสุขภาพและสปา 1 หมื่นบาทต่อคนต่อปี 2.โรงแรมและภัตตาคาร 5 หมื่นบาท 3.สุขภาพอนามัย 1.6 แสนบาท 4.บริการอื่นๆ 1.9 แสนบาท 5. บริการอำนวยการ 1.9 แสนบาท และ6.โลจิสติกส์ 3 แสนบาท
ข้อมูลด้านการเงินของธุรกิจเอสเอ็มอีดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประเมินธุรกิจในสาขาของตนเอง และภาพรวม เพื่อนำมาประกอบการวางแผนธุรกิจและสร้างความพร้อมเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะต้องเผชิญ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|