|

ฝ่าความท้าทายในปี '51 ตอบโจทย์ธุรกิจ SMEs
ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
- เมื่อ SMEs ถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลาในแง่ของการแข่งขันและการพัฒนาศักยภาพของตนเอง
- แล้ว SMEs จะนำพาธุรกิจให้ยืนหยัดและยาวนานอยู่ได้อย่างไรในสภาวการณ์โดยรวมที่ไม่ได้เกื้อหนุน
- "อิสเม็ด- สถาบันเพิ่มฯ - เอ็มเอไอ" ผู้รู้ในวงการเตือนให้สำรวจตนเองและสมรภูมิอย่างเท่าทัน
- แนะเกาะกลุ่มเจาะตลาดแข่งต่างชาติ มุ่งมั่นสร้าง core competency และตีโจทย์ business model ให้แตก....เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ
ดูเหมือนว่าธุรกิจ SMEs จะถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลา เนื่องด้วยขนาดที่เล็กจึงต้องถูกท้าทายจากภาวการณ์แข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างน้อยก็เสียเปรียบเรื่องความสามารถในการหาทรัพยากรในราคาที่ถูกกว่า จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ธุรกิจ SMEs จะชนกับธุรกิจใหญ่ตรงๆ ได้ ดร.ธเนตร นรภูมิพิภัชน์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED กล่าวถึงมุมมองด้านความท้าทายทางธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ดร.ธเนตร มองต่อไปว่า ดังนั้นสิ่งที่เป็นความท้าทายของ SMEs คือ การหาตลาดเฉพาะเจาะจงที่มีขนาดเล็กๆ หรือ Blue Ocean รวมถึงการหาสินค้าและบริการของใหม่ที่ดีกว่าเดิมเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งหมายถึงการเพิ่มคุณค่าทางสินค้าและบริการให้กับลูกค้าเสมอ
"SMEs ที่อิงกับกระแสใหญ่ของธุรกิจใหญ่ ความท้าทายจะอยู่ที่การอ่านเกมให้ออกว่า ณ ช่วงเวลานี้เป็นกระแสขาขึ้นหรือขาลง ต้องเก่งพอที่จะเข้าเร็วออกเร็ว ฉะนั้นต้องทันข้อมูลอยู่เสมอ ส่วน SMEs ที่อยู่กับกระแสใหญ่แต่อยู่ในช่วงของขาลง อาจต้องตัดสินใจว่าจะล้มบนฟูกได้อย่างไร"
ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ เรื่องค่าเงินบาท เพราะยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยอยู่ที่เท่าไร และในอนาคตเศรษฐกิจไทยอาจจะแกว่งรุนแรงได้จากปัญหานี้ ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงควรแก้ไขเรื่องนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
ความท้าทายประการต่อมาคือ การที่คนส่วนใหญ่มักจะพิจารณาเพียงปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ซึ่งจริงๆ แล้ว สาเหตุส่วนใหญ่ที่ธุรกิจล้มหายตายจากไป มาจาก “วินัยทางความคิด” ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของผู้ประกอบการฯ ที่มักจะประมาทและชะล่าใจ ไม่มีการเตรียมแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาทั้งตัวเองให้เก่งและผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นตลอดเวลา มีการปรับตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะพื้นฐานในเรื่องการสร้าง Core Competency ที่ยิ่งสร้างก็ยิ่งเก่ง
สิ่งที่ธุรกิจขนาดเล็กได้เปรียบคือ ความทุ่มเทในงานของผู้ประกอบการฯ แล้วจะได้ผลเต็มที่ ซึ่งต่างกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องพึ่งพาอาศัยพนักงานมากกว่า ที่ไม่แน่เสมอไปว่าบุคคลเหล่านั้นจะทุ่มเทกับงานอย่างเต็มที่ นี่จึงถือเป็นข้อดีที่ผู้ประกอบการฯ ต้องนำมาใช้ให้เป็น
นอกจากนี้ SMEs ยังได้เปรียบในเรื่องการใกล้ชิดกับลูกค้า สามารถตอบสนองต่อความต้องการแบบ 1ต่อ1ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นลูกค้ากลุ่มเล็กๆ สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งธุรกิจใหญ่ๆ ทำได้ลำบากเพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้ม
"เอสเอ็มอีที่อาจมีปัญหาในอนาคตคือ ธุรกิจที่เป็น supplier ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ sensitive กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ ฯลฯ ดังนั้น เอสเอ็มอีจะต้องพูดคุยกับบริษัทใหญ่อยู่ตลอดเวลา ต้องรู้ว่าทิศทางการทำธุรกิจจะไปในทิศทางใด เพื่อปรับทิศทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ต้องถามตัวเองว่า เราอยู่ในช่องว่างทางการตลาดนั้นจริงไหม ถ้าเราอยู่ตรงนั้นจริงแม้บ้านเมืองจะวุ่นวายยังไง ของก็ยังขายได้อยู่ดี เพราะเป็นการขายสินค้าตรงกับลูกค้า ไม่ได้พึ่งบริษัทใหญ่" ดร.ธเนตร กล่าว
ส่วนการเลือกใช้เครื่องมือด้านการบริหารจัดการที่เหมาะสมสำหรับ SMEs นั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด อย่าอิงตามกระแสที่เปลี่ยนไปมากนัก เพราะเครื่องมือทางการบริหารเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเหมาะกับบริษัทขนาดใหญ่ๆ
รวมกันเพื่ออยู่ แยกหมู่ลำบาก
ด้าน ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า ความท้ายทายของธุรกิจคือ การบริโภคในประเทศจะลดลงเพราะความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ และอีกสิ่งหนึ่งคือ สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น
"ปี 2551 เป็นปีที่ค่อนข้างช้า คือ พอบริโภคน้อยลงก็ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุน ผมคิดว่า GDP เราขึ้นไปถึง 5% ก็เก่งแล้วสำหรับปีหน้า ยกเว้นว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายที่ชัดเจน แต่ก็ยากเพราะเป็นรัฐบาลผสม" ดร.พานิช กล่าว
จากการที่บริโภคน้อยลง ฉะนั้นสิ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ คือ การลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ๆ เช่น รถยนต์ หรือในเรื่องอุตสาหกรรมหนักบางชนิด รวมถึงการพึ่งพาตัวเลขการส่งออกที่ต้องโตอย่างน้อย 10% ขึ้นไปถึงจะช่วยชดเชยการบริโภคที่ลดลงไปได้ แต่ดูเหมือนว่าการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมใหญ่ๆ นั้นเริ่มตันเสียแล้ว ฉะนั้น การส่งออกที่จะโตได้ต้องมาจาก SMEs ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
แต่ปัญหาใหญ่คือ SMEsไทยส่วนใหญ่ส่งออกไม่เป็น เราไม่เคยมีการรวมกลุ่มกันเพื่อส่งออก การพยายามบุกตลาดต่างประเทศแบบฉายเดี่ยวเป็นวิธีที่ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้ ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกอย่างจริงจัง โดยนำเสนอสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องกัน
"เรามักไม่มีแผนการส่งเสริมที่จริงจัง เวลาไปจัดงานส่งเสริมสินค้าเราก็ให้เขาไปเดี่ยวๆ เราไม่เคยบอกว่า ครั้งนี้เราจะพาอุตสาหกรรมอาหารที่เกี่ยวเนื่องกันหมดทั้งอุตสาหกรรมไปจัดแสดง เช่นตั้งแต่กุ้งดิบ กุ้งสุก โปรดักต์ของกุ้ง ที่ออกมาเป็นสินค้า โดยที่ไม่ใช่การไปขายแค่กุ้งสด"
ดร.พานิช ยกตัวอย่างเรื่อง global outsourcing ที่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ๆ จากต่างประเทศจะหา supplier ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ให้ เขาจะไม่ดูประเทศไทยก่อน แต่จะพิจารณาจากประเทศจีน อินเดีย มาเลเซีย ก่อน ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า SMEs เราเก่งด้านการผลิต ด้านการควบคุมต้นทุน แต่ขายไม่เป็น ไม่รู้วิธีการที่จะพรีเซ็นต์ตัวเอง
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ SMEsไทยยังไม่ก้าวหน้า คือ การไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบกับคู่แข่ง (data benchmarking) และการทำวิจัยที่น้อย ทำให้ไม่รู้ว่าตนเองอยู่ในระดับไหนในอุตสาหกรรม
แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่สกัดกั้นการเจริญเติบโตของ SMEs คือตัวผู้ประกอบการเองจำนวนไม่น้อยที่ไม่คิดที่จะขยายตลาดเอง มักคิดว่าทำแค่นี้ก็พอแล้ว หรือไม่ค่อยโทษตัวเองแต่มักโทษปัจจัยอื่นๆ เช่น นโยบายรัฐ อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ และผู้ประกอบการมักจะรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐโดยที่ไม่พึ่งพาตัวเองก่อน
แนะมองการณ์ไกล เร่งคว้าโอกาส
ชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ แสดงความคิดเห็นด้วยมุมมองด้านบวกต่อศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับภาพรวมของเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า SMEs รายใดที่สามารถฝ่าฟันสถานการณ์อันย่ำแย่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ ก็ถือว่ามีภูมิคุ้มกันในตัวเองอยู่ในระดับที่สูงแล้ว เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวถือได้ว่าเศรษฐกิจอยู่ในสภาพค่อนข้างโหดร้าย ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง
แม้ว่าอยู่ในช่วงยากลำบากก็ยังพอมีโอกาสที่ดีทางธุรกิจแฝงอยู่บ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการฯ ที่มีวิสัยทัศน์สามารถมองการณ์ไกลและรู้ตัวว่ายังจำเป็นต้องขยายธุรกิจ จึงควรอาศัยช่วงเวลานี้ขยายกิจการเพราะจะมีต้นทุนที่ถูกลงเนื่องจากผู้ขายส่วนใหญ่ขายของไม่ได้จึงจำเป็นต้องลดราคาสินค้าลง และการขยายกิจการล่วงหน้าก็เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
"ถ้าผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสอย่างนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะผมมองว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศน่าจะกลับมาหลังการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาจะเป็นการกระตุ้นการบริโภค ผู้คนกล้าจับจ่ายใช้สอย ผู้ประกอบการก็กล้าที่จะลงทุน นี่คือสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น" ชนิตร กล่าว
แต่ปัจจัยผลักดันสำคัญจะมาจากรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องมีลักษณะ "business friendly" กล่าวคือ ต้องแฟร์กับธุรกิจ มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจภายในประเทศ ไม่ควรที่จะตั้งกฎหมายกีดกันโดยขาดการพิจารณาที่เหมาะสม หรือทำจนกลายเป็นเรื่องยุ่งยากจนเกินไป ทั้งนี้อย่าลืมว่าในอดีตที่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตในระดับที่สูงได้ ล้วนแล้วแต่มาจากการลงทุนจากต่างประเทศ
หากพิจารณาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์แล้ว ประเทศไทยยังอยู่ในลักษณะศูนย์กลางของความร่วมมือเส้นทางการคมนาคมที่เรียกว่า Route 3 A เส้นที่ 1 คือ จากประเทศจีน เข้ามาทางเชียงใหม่ และอีกเส้นหนึ่งคือ จากภาคอีสานของไทย ไปสู่เมืองดานังประเทศเวียดนาม ซึ่งเส้นทางโลจิสติกส์ จะส่งให้ไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนจากเอเชียมาลงทุนมากขึ้น แต่อาจส่งผลให้มีของถูกจากประเทศจีนหลั่งไหลเข้าไทยมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการฯ เองอาจจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อหนีสินค้าเหล่านั้น
ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ ยังให้ความเห็นต่อไปว่า ประเทศไทยน่าจะได้รับผลดีจากการแข่งขันโอลิมปิกให้ช่วงปลายปี 2008 ที่จะเกิดขึ้นในประเทศจีน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวแวะมาประเทศไทยทั้งก่อนและหลังการแข่งขัน ส่งผลดีต่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ หรือแม้แต่ธุรกิจเสื้อผ้าที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโอลิมปิก ดังนั้น ผู้ประกอบการฯ ควรจะใช้จังหวะนี้สร้างโอกาสที่ดีทางธุรกิจของตนเอง
ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหม่นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตีโจทย์ Business Model ของตนเองให้ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร หากยังใช้วิธีการก๊อปปี้เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการพัฒนาต่อ ผลลัพธ์สุดท้ายคือต้องล้มหายตายจากกันไปข้างหนึ่ง นอกจากนี้ ในของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาตนเอง เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้
ทั้งนี้ บทบาทของตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอในปัจจุบันคือการพัฒนาศักยภาพธุรกิจขนาดกลาง โดยจะ เน้นธุรกิจที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ให้สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ได้ ด้วยการนำเสนอตลาดทุนเป็นทางเลือกหนึ่งของการเติบโตควบคู่ไปกับตลาดเงิน แทนที่ผู้ประกอบการฯ จะต้องพึ่งตลาดเงินเพียงอย่างเดียว โดยเน้นเจาะธุรกิจครอบครัวที่กำลังส่งต่อให้กับรุ่นลูกที่น่าจะมีความเข้าใจในเรื่องของการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์มากกว่า
ความท้าทายต่างๆ ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเผชิญนั้น มองมุมหนึ่งคือปัญหาหรือความยุ่งยาก แต่มองอีกมุมหนึ่งก็คือบททดสอบศักยภาพหรือเกมสนุกๆ ....เมื่อผ่านพ้นไปได้ย่อมทำให้กล้าแกร่งขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|