|
แบงก์นอกชี้ศก.ไทยยืดหยุ่นต่ำ ราคาน้ำมันพุ่ง10%กระทบจีดีพีหด0.6%
ผู้จัดการรายวัน(8 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ดอยช์แบงก์ประเมินภาพเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ 4% และยังคงพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง ชี้เศรษฐกิจไทยรับผลกระทบจากราคาน้ำมันสูง โดยหากราคาน้ำมันเพิ่ม 10% จะทำให้เศรษฐกิจไทยหด 0.6% ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยคาดแบงก์ชาติยังคงดอกเบี้ยไปอีก 3-4 เดือน และจะปรับลดลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่เฟดจะยังคงปรับลดดอกเบี้ยต่ออีก 2 รอบ เพื่อลดผลกระทบซับไพรม์-พยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายไมเคิล สเปนเซอร์ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสำนำวิจัยทางเศรษฐกิจ สายงานบริหารการเงินและอนุพันธ์ทางการเงิน ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ธนาคารดอยช์แบงก์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4% และยังคงพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูงอยู่ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ระดับ 4.3% และเพิ่มขึ้นเป็น 4.8%ในปี 2552 ส่วนการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะขยายตัวที่ระดับ 4% การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวอยู่ที่ 3% และ4% ในปีหน้า
ทั้งนี้ ในส่วนของราคาน้ำมันนั้น ในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันของทุกประเทศจะปรับตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐและจีนยังคงขยายตัวอยู่ แม้จะลดลงบ้าง จึงคาดว่าสิ้นปีนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ที่ 70 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันภายในประเทศของไทยจากวันนี้จนถึงสิ้นปีคาดว่าจะปรับลดลง 15% หรือราคาน้ำมันเบนมาร์คจะแตะระดับ 65 เหรียญต่อบาร์เรล ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จึงน่าจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคต
"ปกติแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะเติบโตไปพร้อมๆ กับประเทศสหรัฐ แต่ในกรณีประเทศไทยแปลกมากเพราะการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยจะมีความยืดหยุ่นน้อยกว่า โดยเศรษฐกิจไทยมีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันมาก เพราะหากน้ำมันเพิ่มขึ้น 10% จะมีผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.6% ขณะที่เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง 1% จะมีผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอลง 0.5%”
ส่วนค่าเงินบาทคาดว่ายังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากดุลการค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน จนทำให้ค่าเงินบาทแตะที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปีนี้
ด้านการลงทุนต่ำมากนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา แต่คาดว่าการบริโภคและการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะปรับตัวดีขึ้นและช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะภาครัฐจะมีการกระตุ้นด้วยการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นในกลางปี จึงเชื่อว่าแม้ภาครัฐจะมีการตั้งงบแบบขาดดุลเพิ่มขึ้น 1-2 ปีก็ไม่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
"แม้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตเกือบ 100% แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการผลิตยังดีอยู่ แต่ยังมีการลงทุนที่น้อย ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคถือว่ามีการลงทุนน้อยที่สุด โดยมีปัจจัยหลายอย่าง นอกเหนือจากปัจจัยด้านการเมืองแล้ว หากเทียบกับประเทศอื่นอย่างจีนและเวียดนามมีความได้เปรียบจากต้นทุนการผลิตที่ถูก ส่วนไต้หวันก็มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนไทยก็ถือว่าเป็นประเทศกลางๆเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 1.75% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3.25% แต่ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าเชื่อว่าธปท.ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปจากปัญหาเงินเฟ้อสูง แต่จะเริ่มลดดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากมองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐจะมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป
สำหรับมาตรการกันสำรอง 30% สำหรับเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศของธปท.นั้น เชื่อว่าธปท.ยังคงมาตรการนี้ไประยะหนึ่ง เพราะยังใช้ประโยชน์ได้อยู่ อย่างไรก็ตามการลงทุนส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นมาตรการนี้ เช่น การลงทุนในหุ้น หรือใช้วิธีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า(Swap) ดังนั้น ในอนาคตธปท.จะยกเลิกมาตรการนี้หรือไม่ก็ไม่มีผลต่อพื้นฐานเศรษฐกิจนัก
นายสเปนเซอร์ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งในปีนี้เชื่อว่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วเห็นได้จากราคาบ้านปรับตัวลดลงอย่างน้อย 10% และคาดว่าจะมีผลให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐลดลง 1%เช่นเดียวกับปีก่อน ขณะที่อัตราการจ้างงานในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การบริโภคไม่ได้ชะลอตัวลงเห็นได้จากอัตรารายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แม้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงลดลง
"เศรษฐกิจสหรัฐคาดว่าไม่ได้ถดถอยลง แต่การเจริญเติบโตลดลงบ้าง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย”
ทั้งนี้ ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์) มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งคาดว่าปัญหาจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ผ่านอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ชำระเป็นรายงวดเพิ่มขึ้น 40% ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาปัญหานี้สร้างความเสียหายไปแล้ว 3 แสนล้านเหรียญ โดย 1 ใน 3 เป็นธุรกิจธนาคารของสหรัฐ ส่วนที่เหลือจะมีผลต่อนักลงทุนและธนาคารอื่นๆทั่วโลก จนมีผลให้ธนาคารต่างๆ เกิดความลังเลในการปล่อยสินเชื่ออื่นๆด้วย และมีการเพิ่มทุนด้วยจากความเสียหายที่ผ่านมา
ดังนั้น จากปัญหาดังกล่าวคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง นับตั้งแต่การประชุมครั้งถัดไปนี้ และธนาคารกลางยุโรปก็จะมีทิศทางแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าอยู่ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ครึ่งหลังของปีนี้จะเริ่มอ่อนค่าลง เนื่องจาก ดุลการค้าที่ไม่ใช่น้ำมันมีแนวโน้มลดลง ทำให้เงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐลดลง 1.37% ภายในสิ้นปีนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|