LPNปรับองค์กรครั้งใหญ่ รับแผนบุกคอนโดฯระดับล่าง


ผู้จัดการรายวัน(8 มกราคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

แอล.พี.เอ็น.ปรับองค์กรครั้งใหญ่ทั้งบริษัทแม่และบริษัทในเครือ รองรับงานบริหารชุมชนที่คาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มเป็น 1 แสนครอบครัวในอีก 5 ปีข้างหน้า พร้อมเตรียมกลยุทธ์เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการบริหารชุมชน ควบคู่ไปกับนโยบาย “ชุมชนน่าอยู่”

หากจะเอ่ยถึงผู้ประกอบการคอนโดมิเนียม คงไม่มีใครไม่กล้าปฏิเสธบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN อีกทั้งยังมีผู้ขนานนามให้เป็นเจ้าพ่อตลาดคอนโดมิเนียมไปแล้วในปัจจุบัน จากบทเรียนล้มลุกคลุกคลานหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้สอนให้ผู้บริหารอย่าง ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานคณะกรรมการบริหารในปัจจุบันรู้ว่าควรทำธุรกิจที่ตนเองถนัดและต้องมีความระมัดระวังในทุกย่างก้าว จึงทำให้ LPN เดินหน้าพัฒนาเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมเพียงอย่างเดียว และเน้นไปที่ตลาดระดับกลาง

ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมาตลาดคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองติดแนวรถไฟฟ้า ทั้งบนดินและใต้ดิน ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหารถติด ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงมาก จนทำให้ LPN ก้าวมายืนอยู่แถวหน้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เมื่อตลาดคอนโดมิเนียมได้รับความนิยม ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์แนวราบกับชะลอตัวลง ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมาก ต่างหันเหธุรกิจมาพัฒนาคอนโดมิเนียมเพื่อขายบ้าง จนในปัจจุบันบางทำเลแทบลนตลาด

เมื่อคู่แข่งมีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง LPN โตมาได้ระดับหนึ่งแล้วจำเป็นต้องหา บลูโอเชี่ยนใหม่ๆ เพื่อขยายการเติบโต LPN จึงมองไปที่ตลาดระดับล่างราคาเริ่มต้นที่ 6 แสนกว่าบาท ส่วนการทำตลาดบนนั้นเป็นที่รู้กันดีว่ามีลูกค้าจำนวนน้อยแต่กำไรมากนั้นไม่ใช่เป้าหมาย เมื่อลงมาเล่นตลาดล่าง ย่อมพบโจทย์หนักๆ หลายข้อ ตั้งแต่การเลือกซื้อที่ดินในราคาที่พัฒนาแล้วมีกำไร พัฒนาจำนวนละนับพันยูนิตขึ้นไป จึงจะคุ้ม และเมื่อมีจำนวนยูนิตมากปัญหาให้ย่อมตกอยู่ที่การบริหารจัดการ หากบริหารไม่ดีมีแต่เสียกลับเสีย

ในปี 50 ที่ผ่านมา LPN เปิดขายคอนโดมิเนียมนับรวมคราวๆ เกือบ 1 หมื่นยูนิต และหากรวมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน LPN มีลูกค้าหรือชุมชนที่ต้องดูแล บริหารจัดการแล้วกว่า 50,000 ครอบครัว ที่ผ่านมา LPN ใช้การบริหารจัดการแบบ”ชุมชนน่าอยู่” แต่ด้วยการเติบโตที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ LPN ต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทและกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาอยู่ในความดูแล ซึ่งคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีลูกค้าเพิ่มเป็น 1 แสนครอบครัว ซึ่งนับว่าเป็นงานใหญ่สำหรับ LPN แต่ก็ไม่เกินความสามารถ

จึงเป็นที่มาของการปรับองค์กรครั้งใหญ่ของ LPN โดยนายทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานคณะกรรมการบริหาร LPN กล่าวว่า เหตุผลของการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวและการเติบโตของ L.P.N. Development Group ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในทุกส่วนงาน เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์การแข่งขัน ความต้องการของลูกค้า หรือต้นทุนการพัฒนาโครงการที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

โดยสิ่งที่เป็นหัวใจของความสำเร็จ คือการให้ความสำคัญกับลูกค้าในทุกขั้นตอน (Customer Focus) โดยเฉพาะการบริการหลังการขายหรือการบริหารชุมชน ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างจากคู่แข่งขัน โดยการโฟกัสบทบาทของบริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการบริหารจัดการชุมชนโดยเน้นการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยภายใต้นโยบาย “ชุมชนน่าอยู่” และเพิ่มศักยภาพของบริษัท พรสันติ จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการในลักษณะที่ไม่ใช่คอนโด (Non-Condo) ซึ่งจะเติบโตควบคู่ไปกับ LPN

นอกจากนี้ ยังจัดตั้งบริษัทใหม่ บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด ขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อบริหารจัดการในทุกขั้นตอนของการพัฒนาโครงการ ได้แก่ การบริหารงานขาย การบริหารงานก่อสร้าง ตลอดจนถึงการส่งมอบและ การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ลูกค้า ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการควบคุมต้นทุน และการสร้างคุณค่าเพิ่มของสินค้าและการบริการ

”สืบเนื่องจากวิสัยทัศน์ของบริษัทที่กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือผู้ที่มีรายได้ปานกลาง ถึงปานกลาง-ล่าง ซึ่งทำให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาโดยตลอด และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทฯ จะมีชุมชนที่อยู่ในความดูแลมากกว่าหนึ่งแสนครอบครัว ซึ่งถือเป็นสังคมที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชน ถือว่ามีความสำคัญและเป็นภาระที่หนัก ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน” นายทิฆัมพรกล่าวและว่า

การปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวของ LPN ในอนาคตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าไปใส่ใจและใกล้ชิดในทุกรายละเอียดของการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าได้มากที่สุด โดยเป้าหมาย คือ การสร้างสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดี ตามนโยบาย “ชุมชนน่าอยู่” ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อน การดำเนินงานของทุกส่วนให้ประสาน สอดคล้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

สำหรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ของ L.P.N. Development Group จะแบ่งประเภทธุรกิจ ออกเป็น 4 บริษัท ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางของการพัฒนาโครงการและการทำธุรกิจ ประกอบด้วยสายงานหลัก ได้แก่ สายงานพัฒนาธุรกิจ (Business Development) สายงานองค์กรสัมพันธ์ (Corporate Relation) สำนักพัฒนาบุคลากร (Human Resources Development) และสายงานอำนวยการ (Administration) โดยมีนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ และนางสาวสมศรี เตชะไกรศรี เป็นรองกรรมการผู้จัดการ

บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด (LPS) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท รับผิดชอบในการบริหารโครงการตั้งแต่การบริหารงานขาย การบริหารงานก่อสร้าง ตลอดจนถึงการโอนกรรมสิทธิ์และ การส่งมอบห้องชุดให้แก่ลูกค้า โดยมีนายจรัญ เกษร เป็นกรรมการผู้จัดการ

บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท รับผิดชอบในการบริหารจัดการชุมชน ทั้งหมดของบริษัทและบริษัทในเครือ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ในความดูแลรวมกว่า 46 โครงการ คิดเป็นจำนวน 136 อาคาร และมีพื้นที่อาคารที่ต้องดูแลมากกว่า 1.98 ล้านตารางเมตร โดยมีนายสรรค์ สุขุขาวดี เป็นกรรมการผู้จัดการ

บริษัท พรสันติ จำกัด (PST) รับผิดชอบการพัฒนาโครงการในลักษณะ Non-Condo เช่น ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเจริญเติบโตของ LPN ในระยะยาว โดยมีนางสาวสมศรี เตชะไกรศรี เป็นกรรมการผู้จัดการ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.