ปูนขึ้นราคาวัสดุอ่วมต้นทุนพุ่ง10%


ผู้จัดการรายวัน(8 มกราคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

“ดีคอน” ระบุผู้ผลิตแผ่นพื้นสำเร็จรูป –วัสดุงานพรีแคสอ่วม เล็งปรับขึ้นราคาสินค้า 10% หลังปูนขึ้นราคา 13% แถมราคาน้ำมันขึ้นรายวัน ระบุอสังหาฯทั้งต้นน้ำ-ปลายน้ำกระทบหนักบางบริษัทลดเงินเดือนพนักงาน เชื่อสถานการณ์ชะลอต่อเนื่องถึงปี 53 แนะลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพ ตรวจสอบระบบขนส่งป้องกันการขโมยน้ำมัน

นายวิทวัส พรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดีคอนโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต เสาเข็มและแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป อิฐมวลเบา แบรนด์ "ดี-คอน" เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหมวดวัสดุก่อสร้างทั้งหมดได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากปัจจัยลบหลายประการ โดยเริ่มตั้งแต่ ธุรกิจต้นน้ำ เช่น ที่ปรึกษาโครงการ บริษัทรับออกแบบ งานลดลงกว่า 50% บางบริษัทถึงขั้นลดเงินเดือนพนักงาน

ในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยแนวราบได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อลดลง แต่ในธุรกิจนี้ยังมีตลาดคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าที่ยังมีทิศทางที่ดีอยู่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอการพัฒนาโครงการใหม่ เน้นขายสินค้าเก่าที่มีอยู่ในมือให้หมดไปหรือเปิดเฟสใหม่ในโครงการเดิมเท่านั้น

ในส่วนของธุรกิจเสาเข็ม มีการแข็งขันค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมาประกอบกับงานที่มีอยู่ลดน้อยลงจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นผลกระทบมากที่สุด คือ การปรับขึ้นราคาของปูนซีเมนต์ประมาณ 13% ของราคาขาย ซึ่งปูนคิดเป็น 80% ของต้นทุนการผลิต ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตงานพรีแคส เพิ่มขึ้นถึง 10% ในขณะที่กำไรในธุรกิจนี้มีเพียง 5-6% เท่านั้น

“ปูนขึ้นราคาต้นทุนเราก็ขึ้นตามแถมค่าขนส่งก็ขึ้นตามด้วย แม้จะบอกว่าปรับขึ้นในส่วนที่ให้ส่วนลดการขาย แต่ในทางปฏิบัติแล้วดีลเลอร์ก็ต้องขึ้นราคาขายตามอยู่ดี ทำให้แทบไม่เหลือกำไรดังนั้นเราจำเป็นขึ้นขึ้นราคาสินค้าประมาณ 10% เช่นกันเพื่อให้อยู่รอดได้ ถ้าใครขายราคาเดิมในปีนี้ก็ขาดทุน” นายวิทวัสกล่าว

ส่วนภาวะของตลาดอิฐมวลเบานั้น สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หากพิจารณาจากผลประกอบการของผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ ทุกบริษัทมีผลประกอบการติดลบ โดยในส่วนของดีคอนเองติดลบเดือนละ 2 ล้านบาท จากการหักค่าเสื่อมเครื่องจักรโรงงาน อย่างไรก็ตามสถานการณ์การขายมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมียอดขายเดือนละ 2-3 แสนก้อน หากขายได้มากกว่านี้ก็จะทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันการแข่งขันในเรื่องราคานั้นไม่ค่อยมีให้เห็น เนื่องจากราคาที่เสนอขายปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 18 บาท/ก้อน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนนี้ที่ราคา 15-16 บาท/ก้อน ซึ่งราคาปกติต้องอยู่ที่ 20 บาท/ก้อนจึงจะเหมาะสมกับต้นทุนในปัจจุบันและมีกำไรบ้าง แต่เชื่อว่าจากต้นทุนที่ปรับขึ้นจะทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถลดราคาลงได้อีก แต่จะมีการปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สำหรับผลประกอบการของดีคอนในปี 50 มียอดขายรวม 670 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปี 600-700 ล้านบาท

ส่วนในปี 51 นี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายและกำไรเท่ากับปี 50 เนื่องจากเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจในปี 51 จะยังคงชะลอตัวไปในทางติดลบต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาจากพื้นฐานของจีดีพี ได้แก่

1. การส่งออก มีปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่าทำแม้ว่าจะส่งออกได้มาก แต่มูลค่าลดลง

2. การลงทุนภาครัฐ การเป็นรัฐบาลที่ไม่แข็งแรงเพราะรัฐบาลใหม่มีที่ฐานเสียงที่ก่ำกึงจะเป็นรัฐบาลที่อยู่ไม่ยาวนาน หรือไม่มั่นคงเท่าที่ควร เชื่อว่าจะไม่มีการลงทุนมากนักจากรัฐบาลชุดนี้

3.การลงทุนภาคเอกชน มีการชะลอตัวจากความไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจและรัฐบาล 4.การบริโภคภาคประชาชน ไม่มีความเชื่อมั่นจึงไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้กำลังซื้อลดลง

“ทั้ง 4 ข้อสะท้อนว่าเศรษฐกิจในปี 51 จะยังไม่ดีขึ้นแต่อาจจะทรุดตัวลง และเชื่อว่ากว่าจะปรับตัวดีขึ้นน่าจะเป็นปี 53 “

นายวิทวัส กล่าวว่า ทางรอดของผู้ประกอบการนั้น จะต้องปรับลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด ในขณะที่สินค้าต้องมีคุณภาพสูงสุด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังต้องปรับระบบขนส่งโดยหันมาใช้แก๊ส พร้อมทั้งควบคุมการโกงน้ำมันของการขนส่ง เพราะจากสถิติมีการขโมยน้ำมันกว่า 90% ดังนั้นเราจึงติดตั้งระบบติดตามด้วยดาวเทียมพร้อมทั้งระบบตรวจสอบรถขนส่ง เพื่อไม่ให้เกิดการคอรัปชั่นขึ้น

สำหรับดีคอน ในส่วนการลงทุนใหม่นั้นจะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ รวมไปถึงการออกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากจะทำให้มีต้นทุนเพิ่ม รวมไปถึงค่าการตลาดที่ต้องประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ดังกล่าว ดังนั้นในปีนี้จะเน้นขายผลิตภัณฑ์เก่า พัฒนาให้ดีขึ้น รวมไปถึงการบริการ

“ในปีนี้ไม่หวังมาก แค่ทำให้เท่ากับปีที่แล้วก็พอใจแล้ว ปีนี้จะเน้นไปที่การล้างหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะเน้นขายโครงการจัดสรร โดยจะขายที่ดินเปล่า ถมแล้วในโครงการบ้านอรดา ซึ่งมีมูลค่าเหลือขายประมาณ 200-300 ล้านบาท โดยจะขายลดราคากว่า 50% จากเดิมราคาตารางวาละ 20,000 บาท ลดเหลือ 10,000 บาท/ตร.ว. หรือ บางแปลงเหลือ 8,000 บาท/ตร.ว. เชื่อว่าเราลดราคาขนาดนี้น่าจะขายได้หมดเพื่อนำเงินไปใช้หนี้” นายวิทวัสกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.