PFมองข้ามช็อตลุยธุรกิจรีเทล แย้มดึงพันธมิตรตั้ง"พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์"กองใหญ่


ผู้จัดการรายวัน(7 มกราคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

PF แจงตั้งบริษัทย่อย “เซ็นเตอร์พ้อยท์ ชอปปิ้ง มอลล์” รุกธุรกิจรีเทล ขยายช่องทางสร้างรายได้ รองรับแนวโน้มการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต พร้อมเล็งขยายการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มมูลค่าการลงทุนใหม่ๆ หลังมอบหน้าที่บริษัทพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญธุรกิจรีเทลและอาคารสูง ศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการและทำเลลงทุนเพิ่ม คาดไตรมาสร3เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทย่อยเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท รองรับการลงทุนในอนาคต

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF เปิดเผยถึงการจัดตั้งบริษัท เซ็นเตอร์พ้อยท์ ชอปปิ้ง มอลล์ จำกัด บริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ ทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 1ล้านบาท โดยบริษัทฯเข้าถือหุ้นอยู่ 60% ว่า ในปี 2551 จะเริ่มรุกเข้าสู่ธุรกิจรีเทลอย่างเต็มตัวโดยจะเริ่มลงทุนก่อสร้างโครงการแรกในย่านรัชดาภิเษก บนพื้นที่การพัฒนาโครงการ10 ไร่

สำหรับ บริษัทดังกล่าวเป็นการร่วมทุนกับ ระหว่างบริษัทฯกับ บริษัท ทิมเบอร์ไลน์ อินเวสเม้นท์ พีทีอี. ลิมิเต็ด จำกัด ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 40% โดยการขยายไลน์ธุรกิจใหม่ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่บริษัท ในการเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ขณะเดียวกันยังเป็นการบริหารความเสี่ยงให้แก่บริษัทในอนาคต ซึ่งการลงทุนสู่ธุรกิจศูนย์การค้าจะช่วยเพิ่มรายได้จากค่าเช่าในระยะยาว นอกเหนือจากรายได้จากขายบ้าน ที่ทางบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ โครงการศูนย์การค้าดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี2551 โดยในขณะนี้ ทางบริษัทได้มอบหมายให้พันธมิตร ทำการศึกษารูปแบบโครงการ ในเบื้องต้นการก่อสร้างโครงการศูนย์การค้า จะเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างศูนย์การค้าและพื้นที่สำนักงานให้เช่า คาดว่าจะต้องใช้วงเงินการก่อสร้างเกินกว่า1,000 ล้านบาท ทำให้ในช่วง 3 ไตรมาสจากนี้ บริษัทจะต้องดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนในบริษัทเซ็นเตอร์พ้อยท์ ชอปปิ้ง มอลล์ฯ เพิ่มมาอยู่ในระดับ 100 กว่าล้านบาท

นอกจากการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้ว บริษัทย่อยยังได้วางแผนขยายการพัฒนาโครงการประเภทรีเทล ไปในโซนที่มีศักยภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งในการดำเนินการโครงการใหม่นั้น จะมอบหน้าที่ให้บริษัทพันธมิตร ที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญตลาดดังกล่าว เป็นผู้ศึกษาตลาดและกำหนดรูปแบบการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ

“สำหรับที่ดินในย่านรัชดาภิเษกนั้น เดิมที บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ฯ มีสิทธิในการเช่าอยู่ และมีแผนจะก่อสร้างเป็นอาคารสำนักงานให้เช่า แต่หลังจากที่บริษัทต้องเดินเข้าสู่ขั้นตอนการทำแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้ต้องชะลอแผนการดำเนินการดังกล่าวไว้ก่อน แต่ในขณะนี้ บริษัทได้ผ่านพ้นการดำเนินการทำแผนพื้นฟูกิจการแล้ว จึงปัดฝุ่นโครงการขึ้นมาอีกครั้ง และเมื่อโครงการที่รัชดาภิเษกเสร็จแล้ว ทางบริษัทและบริษัทลูกค้า มีแผนจะย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่สำนักงานแห่งใหม่ทั้งหมด จากปัจจุบันเช่าพื้นที่อาคารวรสมบัติอยู่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัทด้วย”

นายธีระชน กล่าวฉายภาพถึงศักยภาพโซนรัชดาภิเษกว่า เหมาะสมในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรีเทล เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากจำนวนการอยู่อาศัยในพื้นที่และแนวโน้มการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่ขยายตัวอย่างหนาแน่นในบริเวณนี้ จะเกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรใหม่ๆ เข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับในบริเวณดังกล่าว ยังเกิดการลงทุนและพัฒนาโครงการศูนย์การค้า อาคารสำนักงานให้เช่า เช่น โครงการไซเบอร์เวิลด์ทาวเวอร์ (โครงการรัชดาสแควร์) ของบริษัท ทีซีซี แลนด์ ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านไอทีในโซนนี้ เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง และยังมีศูนย์การค้าเอสเพอร์นาท และห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ในอนาคต บริเวณรอบรัชดาภิเษกกลายเป็นย่านธุรกิจใหม่ ที่มีความต้องการพื้นที่เช่าสำนักงานเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับการตั้งบริษัทย่อยดังกล่าวนี้ นอกจากเป็นการขยายไลน์ธุรกิจใหม่ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่บริษัทฯ ในการเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน และการบริหารความเสี่ยงในอนาคต แล้วยังเป็นการรองรับการเพิ่มช่องทางการระดมทุนในรูปบบกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือ พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ เช่นเดียวกับรูปแบบที่บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท คอวลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่มีการร่วมทุนกันสินทรัพย์ ที่มีทั้งโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และอาคารสำนักงานให้เช่า มาจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นช่องทางการระดมทุนอีกช่องทางหนึ่งด้วย

โดยแนวโน้มการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทนั้น หากบริษัทย่อยมีการพัฒนาโครงการรีเทลเสร็จสมบูรณ์ ก็อาจจะมีการนำโครงการต่างๆ ไปร่วมกับบริษัทพันธมิตร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีก อาคารสำนักงานให้เช่า และอาคารสูง จัดตั้งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ และเสนอขายให้แก่นักลงทุน หรือกลุ่มสถาบันลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศในอนาคต ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ในระยะยาวให้แก่บริษัทได้อีกช่องทางหนึ่ง

“ในปีนี้ หากรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในประเทศจากกลุ่มทุนต่างประเทศ อาจจะมีการยกเรื่องมาตรการกันสำรองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ 30% มาหารือ และอาจจะมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดตั้งกองทุนอสังหาฯในอนาคตมากขึ้น”

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น บริษัทได้จัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยนำบ้านส่วนหนึ่งในโครงการ เพอร์เฟค เพลส รามคำแหง-สุวรรณภูมิ มาจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และเปิดขายให้แก่นักลงทุน ทำให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้จากรายการพิเศษ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีนี้

สำหรับโครงการดังกล่าว มีจำนวน 40 กว่าหลัง เจาะกลุ่มชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในไทยและรวมถึงอาจารย์ที่สอนอยู่ในโรงเรียนนานาชาติ ขณะนี้ จากการรวบรวมมีผู้แสดงความต้องการเข้ามาเช่ากว่า 30 ราย โดยอัตราการเช่าต่อเดือนตั้งแต่ 60,000-80,000 บาท โดยขนาดของกองทุนฯจะอยู่ประมาณ 500 ล้านบาท และเหมาะที่จะขายนักลงทุนในประเทศ อัตราผลตอบแทนประมาณ 8.5%

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ บริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด บริษัทในเครือของเพอร์เฟค ได้ร่วมทุนกับบริษัท เซ็นเตอร์พอยท์ จำกัด บริษัทอสังหาฯจากสิงคโปร์ ก่อตั้งบริษัทลูก ภายใต้ชื่อ บริษัท ริเวอร์ไซด์ โฮมส์ ดิเลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ครบวงจร ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ ,แนวสูง ,อาคารสำนักงานเช่า ,ห้างสรรพสินค้าและอพาร์ตเมนต์ปล่อยเช่า บนเนื้อที่ 24 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเขตพระราม3 ซึ่งเป็นโครงการคอนโดฯ ห้างสรรพสินค้าและอพาร์ตเมนต์ปล่อยเช่าและโรงแรม รวมมูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.