สงครามยาเสพติด SARS และชัยชนะของรัฐบาล

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากเกิดสงครามระหว่างอเมริกันและพันธมิตรกับอิรัก ข่าวคราวเรื่องฆ่าตัดตอนดูจะลดความรุนแรงลง จนกระทั่งสงคราม สิ้นสุดลงข่าวเกี่ยวกับวิสามัญฯ ของตำรวจหรือการฆ่าตัดตอนดูจะจางหายไป ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะความรุนแรงของปัญหาเบาลง หรือสื่อมวลชนเลิกให้ความสำคัญกับข่าวนี้แล้ว แต่ตัวเลข ตามสื่อต่างๆ เมื่อประมาณต้นเดือนเมษายนนั้นพบว่า จำนวนบุคคลที่เสียชีวิตจากการฆาตกรรมอันน่าจะเกี่ยวข้องกับแอมเฟต ตามีน น่าจะมากกว่า 1,500 คนขึ้น คนส่วนมากชื่นชมกับความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลจนทำให้ปัญหานี้ลดความรุนแรงลง แต่อาจจะมีปัญหาที่น่าคิดตามมา คือ ทำไมก่อนหน้านี้ทั้งรัฐบาลชุดนี้และรัฐบาลชุดก่อนจึงจัดการกับปัญหานี้ไม่ได้ และหากรัฐบาลชุดนี้จัดการกับปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะคาดหวังได้หรือไม่ว่า รัฐบาลจะสามารถสรุปบทเรียนจากการปราบปรามปัญหายาเสพติด แล้วนำไปสู่การแก้ปัญหาอื่นทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

ในความเห็นของผมแล้ว รัฐบาลสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรัฐบาลตั้งโจทย์ว่าหากไม่มีผู้ค้าหรืออุปทาน ผู้เสพควรจะลดลงหรืออย่างน้อยก็ไม่ควรจะเพิ่มขึ้น ซึ่งหากการตั้งโจทย์อยู่ที่ว่า การลดจำนวนผู้ค้า ดังนั้นตัววัดที่บ่งถึงประสิทธิภาพของฝ่ายปราบปรามก็คือทำอย่างไร (ก็ได้) ให้จำนวนผู้ค้าลดลง

ผลงานที่เกิดขึ้นคือ จำนวนผู้ที่เราเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับ การค้ายาลดลงจริงๆ อย่างน้อยกว่า 1,500 คน ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้แน่ เพราะคนส่วนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนจะเลิกค้าเลิกขายเพราะกลัวโดนตัดตอนอีกเท่าไรนั้นคงไม่มีใครให้คำตอบได้

หากตั้งคำถามว่าจำนวนผู้ค้าลดลงแล้ว จะส่งผลให้จำนวนผู้เสพหรืออุปทานลดลงตามด้วยหรือเปล่านั้น คำตอบคือ ทั้งใช่และไม่ใช่ เหตุที่มันแพร่ระบาดมากไม่เหมือนสารเสพติดตัวอื่น เพราะผู้ใช้หาซื้อได้ง่าย การเสพใช้ได้หลายวิธี ตัวยาออกฤทธิ์ต่อสมองเร็วและเห็นผลเร็ว (อาการเบื่ออาหารช่วยในการลดน้ำหนัก, ไม่ง่วงและขยัน ทำให้ทำงานได้มากหรืออยู่ดึกๆ ได้, อารมณ์ดี ทำให้กล้าแสดงออกและอยากเข้าสังคม ฯลฯ) ในส่วนผู้ผลิตนั้นสามารถสังเคราะห์มันได้ง่ายและเร็ว ต้นทุนต่ำ และผลตอบแทนสูง ดังนั้นเมื่อหาซื้อได้ยากขึ้น ความเสี่ยงสูง และเนื่องจากแอมเฟตตามีนไม่ใช่ปัจจัยสี่ของชีวิต (หากขาดก็ไม่ตาย) ดังนั้นคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ติดมากมายนักย่อมพร้อมที่จะเลิก นั่นคือผู้เสพจำนวนหนึ่งจะเลิก

ส่วนกลุ่มคนที่ยังไม่อยากเลิกหรือติดจนงอมแงมแล้วจะทำอย่างไร คำตอบคือเปลี่ยนไปหายาตัวอื่นที่แม้คุณภาพอาจต่ำกว่า แต่หาได้ง่ายกว่าและความเสี่ยงน้อยกว่า ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่สารระเหยเริ่มกลับมาระบาดใหม่ รวมทั้งกัญชา ยาแก้ไอ และใบกระท่อม นั่นคือคำตอบที่ว่าไม่ใช่ เพราะคนกลุ่มนี้จะยังคงเสพต่อไป แต่เป็นสารเสพติดที่รัฐบาลยังตามไม่ทันและไม่ให้ความสนใจในขณะนี้

แล้วในส่วนของผู้ค้า การปราบอย่างหนักส่งผลให้จำนวน ผู้ค้าลดลงจริงหรือ (หากเราไม่นับคนส่วนที่เลิกค้าเพราะตายไปแล้ว) คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนเนื่องจากมันเป็นธุรกิจที่ผิด กฎหมาย ดังนั้นตัวเลขผู้ค้าที่แท้จริงและยังคงค้าอยู่คงเป็นได้แต่การ ประมาณการ แต่ผมเชื่อว่าสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประเมินว่าลดลง แต่ก็จะของบประมาณมากขึ้นในการปราบปรามด้วยเหตุผลว่าเพื่อไม่ให้ขบวนการค้ายาฟื้นตัวขึ้นมาใหม่

เราคงต้องยอมรับว่าการจัดการปัญหายาเสพติดของรัฐบาลชุดนี้ใช้วิธีการและรูปแบบเช่นเดียวกับการแก้ปัญหาอื่นๆ นั่นคือ อยู่บนพื้นฐานของตัววัดบางอย่าง โดยเชื่อว่าข้อมูลด้านตัวเลขจะให้ภาพที่ชัดเจนว่าการทำงานนั้นมีประสิทธิภาพเพียงใด นี่อาจจะเป็นเคล็ดลับสำคัญในการจัดการปัญหายาเสพติดได้ผลของรัฐบาลชุดนี้ ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ต้องคิดคือ แล้วหากข้อมูลผิด หรือตัวเลข นั่นไม่ใช่ของจริง เราคงนึกถึงภาพช่วงฟองสบู่แตกที่เราพบว่าตัวเลข ทางบัญชีของแต่ละบริษัทมีการปรับให้ดูดีกว่าที่มันเป็นจริง

แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวนอกจากเป็นการแก้ปัญหาในเชิงตัวเลขแล้ว ที่สำคัญคือเป็นการจัดการที่ส่วนปลายของปัญหาเพียงอย่างเดียว เหตุที่ผมคิดเช่นนี้เพราะการค้ายาและการใช้ยา แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกสังคมที่คนกลุ่มหนึ่งต้องการเงินแบบง่ายๆ และเร็ว ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งต้องการความสุขแบบสำเร็จรูป และทันที แต่การระบาดจนเหมือนโรคระบาดแบบ SARS นั้น มัน บ่งบอกว่า สังคมนั้นต้องมีปัจจัยบางอย่างที่เอื้อให้มันระบาดออกมาได้มากมายขนาดนี้

หากเปรียบเทียบกับโรค SARS ผมมองว่าในส่วนของสิงคโปร์ และฮ่องกงนั้นมีปัจจัยอยู่ 2-3 ประการที่คล้ายคลึงกัน คือ ความแออัดของคนในพื้นที่ การเคลื่อนย้ายของคนอย่างรวดเร็วทั้งในพื้นที่ และระหว่างประเทศ และประการสุดท้ายคือการขาดความสามารถในการทำให้คนกลุ่มที่ติดโรคหรือมีโอกาสได้รับเชื้อมารายงานตัวหรือกักตัว (quarantine) ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลต่อการหยุดการกระจายของโรค

บ้านเราขาดปัจจัยทั้ง 3 ประการ ทั้งในส่วนของความแออัด และการเคลื่อนย้ายของคนไปมาระหว่างประเทศ (อัตราของเราคงเทียบกับสองประเทศนั้นไม่ได้) ส่วนการกักกันโรคนั้นบ้านเราจนถึงขณะที่บทความนี้ตีพิมพ์มีเพียง 2-3 รายที่ยืนยันว่าป่วยเป็นโรคนี้ และการที่ท่านนายกฯ ทักษิณใช้วิธีให้รางวัลสำหรับคนที่ป่วยและตายจากโรคนี้ แม้ว่าหลายคนจะชมเชยว่าเป็นวิธีการหาตัวผู้ป่วยเพื่อนำมาสู่ การกักโรค แต่มันทำให้ผมอดนึกถึงการให้รางวัล ในการปราบและการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ผลงานไม่เข้าเป้าจนนำไปสู่การตัดตอนในกรณีของผู้ค้ายาบ้า

เราอาจหยุดโรค SARS ไม่ให้แพร่กระจายได้ เพราะคนป่วยไม่อยากป่วย และคนเป็นพาหะก็ไม่ต้องการเป็น และด้วยความโชคดีที่เราไม่มีปัจจัยเอื้อต่อการแพร่กระจาย แต่ในกรณีของยาเสพติดมันมีปัจจัยที่ลึกซึ้งกว่านั้น ผู้ติดยินยอมที่จะติดยา (หรือยอมป่วยหากพิจารณามันในฐานะของโรค) ผู้ค้ายินดีที่จะค้า (หากคิดว่าผู้ค้าเป็นพาหะของโรคในการแพร่กระจาย)

ดังนั้น หากคิดในกรอบเดียวกับโรค SARS งานที่ท่านนายกฯ ต้องทำต่อไปคือ ทำอย่างไรจึงจะลดปัจจัยที่ทำให้คนที่เดิมไม่ได้ใช้ยากลายเป็นผู้ใช้ และคนที่เดิมไม่ใช่ผู้ค้าตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพมาค้ายาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยแสดงให้เห็นว่า ได้วางแผนหรือให้ความสำคัญกับกิจกรรมส่วนนี้มากเท่า กับกิจกรรมการนับจำนวนผู้ค้าหรือผู้มารายงานตัวว่าเคยค้า

ยิ่งได้ยินผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหายาเสพติดเปรย ให้ฟังว่ารัฐบาลจะประกาศชัยชนะในสงครามยาเสพติดในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ทำให้มีคนแย้งว่าแล้วหากรัฐบาลไม่ชนะจะทำอย่างไร ก็มีคนเสนอว่าอย่างไรต้องชนะ ถ้าลงว่ารัฐบาลกำหนดว่าจะประกาศชัยชนะเป็นไปได้อย่างไรที่ข้าราชการจะกล่าวหรือทำอะไรที่ตรงกันข้าม เพราะหากแม่ทัพบอกว่าจะประกาศชัยชนะแต่ลูกน้องทำตรงกันข้าม พวกนายกองทั้งหลายก็ต้องหัวขาดกันไปตามๆ กัน

การมีตัวชี้วัดในการจัดการปัญหาเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยให้เรารู้ว่าเราแก้ปัญหาไปแล้วเกิดผลมากน้อยเพียงใด แต่การไปเน้นแต่ตัวเลขจะทำให้เราหลงอยู่กับกระพี้โดยไม่เห็นแก่นของปัญหาและการแก้ไขเชิงคุณภาพ และย้อนกลับไปที่คำถามว่าทำไมรัฐบาลนี้จัดการกับปัญหายาเสพติดแล้วดูจะได้ผลมากกว่ารัฐบาลหลายๆ ชุดที่ผ่านมา

คำตอบแรกคือรัฐบาลมีตัวชี้วัดและบทลงโทษที่ชัดเจนหากไม่เป็นไปตามนั้น แต่นั่นอาจไม่สำคัญกับคำตอบอีกประการ หนึ่งคือท่านนายกฯ เอาจริงกับปัญหานี้ ซึ่งคำตอบแบบบทบาทของเอกบรุษนี้นำไปสู่ข้อคิดว่า แล้วหากท่านนายกฯ เกิดเป็นอะไร ไป (อย่างที่หลายคนกลัวตอนที่ท่านจะนั่ง F-16) หรือท่านเกิดเปลี่ยนความตั้งใจหรือความสนใจใหม่ (เลิกประกาศสงครามกับยาเสพติด) อะไรจะเกิดขึ้นกับการแก้ปัญหา ยาเสพติดของชาติ และหากท่านสนใจข้อมูลเชิงปริมาณและอะไรที่เห็นผลทันตา เป็นไปได้หรือที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะสนใจการแก้ปัญหาและพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งเน้นข้อมูลเชิงคุณภาพ และไม่ให้ผลตอบแทนเร็วอย่างที่นักการเมืองต้องการ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.