|

ส่องเส้นทางบริหาร.... สู้วิกฤตปี'51
ผู้จัดการรายสัปดาห์(31 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
- จะบริหารอย่างไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในปี 2551
- ที่ปรึกษาองค์กรชั้นนำชี้ทาง "ภาวะผู้นำ" ปัจจัยหลักสู่ความสำเร็จ
- ผู้บริหารระดับสูงในเครือซีพี เน้น "พัฒนาศักยภาพภายใน" สู่ความยั่งยืน
- เครือสหพัฒน์ฯ แนะมุ่งนำ "ปัจจัยใหม่" สร้างความแข็งแกร่งองค์กรต่อกรการแข่งขันระดับโลก
แม้ว่าจะมีหลายปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโดยรวมในด้านลบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งในปี 2551 ที่กำลังมาถึงนี้ นักวิเคราะห์ทั้งที่เป็นนักวิชาการและนักบริหารต่างแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า แม้ปัจจัยลบด้านการเมืองของไทยซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศดูเหมือนจะผ่อนคลายลง แต่ยังไม่ใช่ทิศทางที่สดใส สิ่งสำคัญที่จะทำได้คือผู้บริหารต้องเตรียมพร้อมรับมือและเน้นการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อรับมือกับทุกสถานการณ์
ที่ปรึกษาแนะทางฝ่าวิกฤต
สรณ์ จงศรีจันทร์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท Young & Rubicam ที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กร มองว่าแนวโน้มด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2551 ยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวในทิศทางที่ดีนัก ดังนั้น แนวโน้มด้านการจัดการเพื่อฝ่าวิกฤตในปีหน้า สิ่งที่จะเป็นทางรอดต้องมาจากการจัดการด้วยการเน้นสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้ารายเดิม เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและสามารถจัดการได้ง่ายกว่าลูกค้ารายใหม่
การจะตอบโจทย์ความต้องการในระยะยาวนั้น ผู้ประกอบการและผู้บริหารต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตน โดยควรจะร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อให้สินค้าของตนเกิดความหลากหลายและมีคุณค่าเกินกว่าความคาดหมายของผู้ใช้
ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงการบริหารต้นทุนให้เหมาะสมกับรายรับของหน่วยงาน ซึ่งต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีในระยะยาวเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองในอนาคต และต้องถามตนเองอยู่เสมอว่า สินค้าและบริการที่มีอยู่มีความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดหรือไม่? เพราะความแตกต่างจะเป็นตัวกำหนดอนาคตขององค์กร ขณะที่ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต้องขึ้นอยู่กับการวางรากฐานด้านการจัดการความรู้ของบุคลากรภายในอย่างเป็นระบบและจริงจังในกระบวนการจัดการ
"ถามตนเองว่า สินค้าและบริการเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้ารายเก่าและรายใหม่หรือไม่ ด้วยการสำรวจความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาเพื่อหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาว"
สรณ์ ยังแนะนำถึงบทบาทของ CEOว่า ต้องเป็นทั้งผู้นำทางความคิดและนักปฏิบัติ เพราะในโลกขณะนี้การจะชักจูงพนักงานให้ทำงานตามที่สั่งไม่ได้อีกต่อไป แม้จะนำเทคโนโลยีด้านอีเมลมาใช้ก็ตาม เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นแรงจูงใจของกระบวนการสู่ความสำเร็จของผู้บริหาร ต้องมาจากการทำตนเองให้เป็นแบบอย่าง
สำหรับบทเรียนในปี 2550 ที่ผ่านไป องค์กรธุรกิจได้เรียนรู้ถึงบทบาทของความเป็นผู้นำที่ต้องมีการตัดสินใจที่ชัดเจน จะเห็นได้จากความผิดพลาดในการบริหารประเทศโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ไม่มีความชัดเจนในการตัดสินใจ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและสังคมขาดผู้นำที่เข้มแข็ง
"ในปีหน้า องค์กรที่มีอายุของการทำงานมาอย่างยาวนานมีสิทธิที่จะตกอยู่ในภาวะวิกฤติได้หากไม่มีการปรับตัว เพราะองค์กรที่มีอายุยืนยาวทำให้บุคคลากรภายในยึดติดกับสิ่งที่เป็นอยู่เดิม ดังนั้น ในการแก้ปัญหา องค์กรจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เพื่อให้มีความคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง"
สรณ์ ยังได้แนะนำอีกว่า ผู้ประกอบการไทยและผู้บริหารต้องประยุกต์การบริหารจัดการ ด้วยการนำจุดเด่นในการบริหารแบบครอบครัว คือการมีความใกล้ชิดกับลูกน้องมาใช้ ขณะเดียวกันต้องระวังการใช้อารมณ์ในการจัดการกับปัญหาโดยต้องมีสติทุกครั้งทั้งการคิดและปฏิบัติ
"วันนี้ผู้ประกอบการควรจะเลิกหวังพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือคนอื่นได้แล้ว แต่ต้องหันมาสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานของตนให้มากที่สุด"
มองปัจจัยลบให้เป็นโอกาส
สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มองถึงทิศทางการบริหารองค์กรในปี 2551 ว่า จากสถานการณ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจโดยรวมที่คาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลลบทำให้ผู้ประกอบการต้องเน้นการสร้างศักยภาพภายในของตนเองให้มากขึ้น และเลิกรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะในความเป็นจริงความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในธุรกิจนั้นเป็นสิ่งต้องสร้างขึ้นเองจากภายในองค์กร
สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องทำคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการทำให้เกิดการคิดเชิงกลยุทธ์อย่างเป็นระบบผ่านการฝึกอบรมและเพิ่มประสบการณ์ตรงในภาคปฏิบัติ
ทั้งนี้ จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้บริหารองค์กรต้องมีการวางแผนลดต้นทุนในการขนส่ง ต้องมีการจัดระบบการทำงานเพื่อลดกระบวนการผลิตที่สิ้นเปลือง เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกำลังในการซื้อสินค้าสูงขึ้นตามไปด้วย กลายเป็นผลดีกับผู้ผลิตสินค้าและบริการที่สนองต่อกลุ่มลูกค้าเหล่านี้
สุวิทย์ แนะนำถึงการเตรียมความพร้อมในการบริหารองค์กรเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า ผู้บริหารต้องเปลี่ยนแนวความคิดของตนเองจากการเน้นกระบวนการผลิตเพียงอย่างเดียว มาเป็นการสร้างสมดุลในการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรให้มีความรู้และสนับสนุนความสามารถเฉพาะด้านของแต่ละบุคคลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
จากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในปี 2550 หลายองค์กรได้เรียนรู้ถึงการจัดการความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ผู้บริหารต้องเตรียมแผนการบริหารงานเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตจะประสบกับภาวะวิกฤตหากไม่มีการปรับตัว เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ เศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกรูปแบบหนึ่งในแนวทางที่ไม่เหมือนเดิมเพราะการผลิตจะต้องเพิ่มความรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ค่าครองชีพของพนักงานเพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มรายได้ให้กับพนักงาน ผู้บริหารจึงต้องมีแนวความคิดที่กว้างไกล อย่าคิดถึงกระบวนการทำงานแบบเดิมเพราะปัจจัยภายนอกของการทำธุรกิจได้เปลี่ยนไป มองว่าองค์กรไทยควรจะนำศักยภาพเดิมของตนเองที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้กับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสม
ค้นปัจจัยใหม่ มุ่งสู่ผลสำเร็จ
บุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผงซักฟอกเปา ให้ความเห็นถึงแนวโน้มภาพรวมธุรกิจในปี 2551 ไปในทิศทางเดียวกันว่า ผู้ประกอบการและผู้บริหารจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานเก่า ดังนั้น นักบริหารต้องมองหาปัจจัยใหม่เพื่อสร้างศักยภาพให้องค์กรมากกว่าพึ่งพาปัจจัยเดิมๆ ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานไปสู่เป้าหมาย
ปัจจัยใหม่ในวงจรธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างรวดเร็วจะต้องถูกพัฒนามาจากความสามารถของบุคลากรภายในองค์กรเอง เช่น ต้องมีการบริหารราคาสินค้าไม่ให้แพงกว่าคู่แข่ง สร้างสินค้าให้มีความแตกต่าง ส่งมอบของให้ตรงเวลา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้องค์กรอยู่ได้ในทุกสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
"การพัฒนาศักยภาพภายในต้องมีเป้าหมายให้องค์กรเป็น benchmark ของธุรกิจที่อยู่ในตลาด เพราะจะเป็นผลดีให้ธุรกิจมีการแข่งขันได้กับคู่แข่งทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสนใจกับปัจจัยเดิมๆ เพราะองค์กรมีบุคลากรที่มีศักยภาพในทุกระดับ"
บุญฤทธิ์ มองว่าวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการและผู้บริหารในอนาคตจะต้องพยายามค้นหาปัจจัยใหม่ๆ ในการบริหารจัดการ ด้วยการพยายามคิดบวกเพราะหลายปัญหาที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่สิ่งที่หนักหนาสาหัส แต่คนภายในองค์กรกลับมองในด้านลบจนลดทอนประสิทธิภาพของตนเองลง
นอกจากนี้ ผู้บริหารต้องมองหาโอกาสให้เป็น เพราะบางเรื่องเป็นเพียงโอกาสระยะสั้นแต่ผู้ประกอบการและผู้บริหารให้ความสนใจมากกว่าการตัดสินใจในเรื่องที่เป็นผลต่อหน่วยงานในระยะยาว รวมทั้ง ต้องมีการจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยควรจะนำปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบมาช่วยประเมินในการตัดสินใจ ซึ่งสิ่งที่ได้มาจะก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ขององค์กรชัดเจนมากขึ้น
สุดท้ายผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ที่เป็นสากล ไม่ควรนำการตัดสินใจแบบคนไทยไปใช้กับกระบวนการทำงานในประเทศยุโรปหรือที่อื่นๆ เพราะต้องยอมรับในทัศนคติที่แตกต่างกันและเคารพในสิทธิของคนที่ร่วมทำงาน เพื่อให้การตัดสินใจเหล่านั้นประสบความสำเร็จทั้งสองฝ่าย
"สิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการก้าวสู่ความสำเร็จ ผู้บริหารงานต้องมีสติในการตัดสินใจ มองทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้เข้าใจและรู้ถึงความเป็นไปของกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง และสุดท้ายจะเข้าใจในสิ่งเหล่านั้นอย่างชัดเจน" บุญฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ปี 2551 ย่อมเป็นอีกบทพิสูจน์ของนักบริหารว่า จะนำพาองค์กรด้วยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยสรรพกำลังของตนเองอย่างไรและทำได้ดีเพียงใด ?
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|