(เกิดเป็น) สุนัขที่ญี่ปุ่น

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ตามสวนสาธารณะหรือสถานีรถไฟบางแห่งในเมืองใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น เช่น โตเกียว โอซากา มักจะเห็นคนญี่ปุ่น ที่เป็น homeless ได้บ่อยๆ แต่ไม่ว่าที่ไหนๆ ในญี่ปุนไม่มีสุนัข homeless ให้เห็นสักตัว ??

นั่นเป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีทัศนคติต่อสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขที่อาจจะไม่เหมือนชาติอื่นในโลก สุนัขของคนญี่ปุ่นไม่ได้เป็นสัตว์เลี้ยงเอาไว้แก้เหงาแต่เป็นเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี (มากถึงมากที่สุด) ในบางครั้งรู้สึกแปลกใจเหมือนกันที่เห็นคนญี่ปุ่นอุ้มสุนัขแต่จูงลูก (ที่อายุประมาณ 2-3 ขวบ)

คนญี่ปุ่นที่คิดจะเลี้ยงสุนัขสักตัวไม่ได้เกิดจากความบังเอิญที่ไปเจอลูกสุนัข ซึ่งน่ารักดีก็เลยซื้อมา แต่เป็นความตั้งใจอย่างแรงที่คิดอยากจะมีสมาชิกใหม่ของครอบครัว สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ถ้ายังไม่พร้อมทั้งสถานที่ เวลา การเงิน การที่จะมีสุนัขสักตัวก็ลืมไปได้เลย เพราะคนที่อาศัยอยู่ตามอพาร์ต เมนต์ หรือห้องเช่าธรรมดา (ภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า apato) หมดสิทธิ์ที่จะเลี้ยงสุนัข เพราะเจ้าของ apato ไม่อนุญาตให้เลี้ยง แน่นอน ถ้าขืนแอบเลี้ยงแล้วถูกจับได้หรือถูกคนข้างห้องไปบอกเจ้าของ apato แล้วล่ะก็ เป็นอันถูกเชิญออกไปพร้อมๆ กับสุนัข ตัวนั้น ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นรังเกียจสุนัข แต่เป็นความไม่พร้อมของสถานที่ ดังนั้นคนญี่ปุ่นที่จะมีสุนัขได้ส่วนใหญ่จะต้องมีบ้านเป็นสัดส่วน มีรั้วรอบขอบชิด หรือไม่ก็ mansion ราคาแพงที่อนุญาตให้เลี้ยงสุนัขได้ ซึ่งจะมีที่สำหรับสุนัขโดยเฉพาะ

นอกจากนั้นเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีให้กับ สุนัขทุกๆ วันอย่างน้อยประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง ถือว่า เป็นกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน คือพาสุนัขไปเดินเล่น และ เป็นการออกกำลังกายไปในตัว ไม่ว่าวันฝนตก หิมะตก หรือแดดออก จะเห็นคนญี่ปุ่นจูงสุนัขเป็นปกติ เพราะถือ เป็นหน้าที่

ที่สำคัญอีกเรื่องคือ เงิน เพราะว่าลูกสุนัขแต่ละตัว มีราคาแพงมาก อย่างธรรมดาๆ ก็ประมาณ 100,000 เยน เข้าไปแล้ว พันธุ์ที่ได้รับความนิยมก็จะเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก เนื่องจากบ้านคนญี่ปุ่นค่อนข้างแคบ ขณะนี้พันธุ์ที่ฮิตมากที่สุด คือ พันธุ์ Chihuahua อย่างถูกๆ ก็ราคาเริ่มต้นที่ 500,000 เยน ความนิยมสุนัขพันธุ์นี้เป็นผลมา จากโฆษณาชิ้นหนึ่งในญี่ปุ่นเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้เอง ทำให้สุนัขพันธุ์นี้ราคาพุ่งขึ้นมาแตะที่ครึ่งล้านเยนเป็นอย่างต่ำได้สบาย

เมื่อคิดว่าพร้อมทั้ง 3 ประการแล้วถึงจะมีสมาชิก ใหม่ได้แต่ไม่ใช่ว่าจะจบง่ายๆ แค่นี้ เพราะว่าที่สำคัญที่สุด คือ ความรัก (สัตว์) การต้อนรับสมาชิกใหม่เริ่มต้นด้วยการพาสุนัขไปตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า จะไม่มีของฝาก (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โอมิยาเกะ) ที่ไม่พึงประสงค์แถมมากับสมาชิกใหม่ เช่น โรคต่างๆ หรือ เห็บสุนัข อาหารสัตว์เป็นอีกสิ่งที่จำเป็น คนญี่ปุ่นไม่นิยม ทำอาหารให้สุนัข อาจจะเป็นเพราะว่ารสชาติไม่ถูกปาก (สุนัข) ทำแล้วสุนัขอาจไม่ยอมรับประทาน จนอาจทำให้แม่บ้าน (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าโอคซัง) เสียความมั่นใจได้ ดังนั้นอาหารสำเร็จรูปสำหรับสุนัขเป็นทางออก ที่ดี สะดวก และมั่นใจได้ว่าถูกปากสมาชิกใหม่ แถมมีสูตรที่มี balance diet ดีกว่าอาหารคนในบางมื้อด้วยซ้ำ ธุรกิจอาหารสุนัขในญี่ปุ่นจึงไม่เคยซบเซา ไม่ว่าเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นจะตกไปกี่สะเก็ด ทั้งนี้ก็เพราะเจ้าของสุนัขทั้งหลาย เป็นกลุ่มลูกค้าผู้มีอันจะ (ให้สุนัข) กินแทบทั้งสิ้น

ร้าน accessory สำหรับสุนัขก็เห็นได้ทั่วไปในญี่ปุ่น ตั้งแต่รับจ้างตัดขน อาบน้ำ ขายเสื้อผ้าแฟชั่นสุนัข จนกระทั่งถึงโรงแรมสุนัข ซึ่งเจ้าของจะนำไปฝากเวลาไปต่างจังหวัดไกลๆ หรือไปต่างประเทศ คลินิกสัตวแพทย์ ก็เป็นอีกที่ที่ทำรายได้ดีในปัจจุบัน

สุนัขบางพันธุ์โดยเฉพาะพันธุ์ตัวโต เช่น German Shepherd, Doberman เป็นต้น ส่วนใหญ่มักจะต้องไป โรงเรียนตอนอายุ 6 เดือน โรงเรียนฝึกสุนัขจะมีหลักสูตร 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ค่าเรียนประมาณเดือนละ 60,000 เยน สุนัขที่สอบผ่านและมีผลการเรียนที่ดี ก็จะมี course advance ให้เรียนต่ออีกด้วย สุดท้ายจะมีการสอบสำหรับเป็นสุนัขตำรวจ เมื่อจบหลักสูตรก็กลับไปอยู่บ้าน กับเจ้าของได้ตามปกติ ในกรณีที่มีเหตุที่ต้องขอความร่วมมือทางตำรวจจะติดต่อมา การช่วยงานตำรวจถือเป็นงานอาสาสมัคร อาจจะไม่ได้ค่าตอบแทนหรืออย่างมากก็ประมาณ 2,000 เยน เรียกว่าเป็นน้ำใจ ซึ่งเจ้าของ เองก็ไม่ได้หวังจะรวยกับงานนี้อยู่แล้ว แต่ได้ความภูมิใจในความสามารถของสมาชิกตัวเก่งที่นอกจากจะฉลาดแล้วยังเป็นประโยชน์ให้สังคมได้อีก นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรสำหรับช่วยเหลือคนพิการโดยเฉพาะอีกด้วย

เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันกับสมาชิกใหม่ที่พูดไม่ได้นั้น เร็วๆ นี้มีสินค้าใหม่ที่ได้รับความนิยมแทบจะทันทีที่วางตลาด นั่นก็คือ Bowlingual ๚ เป็นเครื่องแปลภาษาสุนัข (จากเสียงเห่า) เป็น ภาษาญี่ปุ่นได้ โดยป้อนข้อมูลของสุนัข (สายพันธุ์ อายุ เพศ) เข้าไป เวลาสุนัขเห่าไมค์ที่ปลอกคอสุนัขจะส่งสัญญาณมาที่เครื่องซึ่งมีขนาดพกพาได้ แล้วแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นบอกให้ทราบว่าสุนัขสื่ออะไร ฟังดูแล้วเหมือนของวิเศษของโดราเอมอน แต่จากผลการสำรวจของผู้ใช้พบว่ากว่า 80% แปลได้ถูกต้อง เช่น เวลารดน้ำต้นไม้อยู่ เสียงเห่าแปลได้ว่า "จะให้ผมช่วยไหมครับ" หรือเวลาจูงสุนัขเดินสวนกันอาจจะขึ้นมาว่า "ขนเธอสวยจัง" และอีกตัวก็ตอบว่า "ขอบคุณค่ะ" เป็นต้น Bowlingual ๚ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในตลาดญี่ปุ่น คิดว่ากำลังพยายามแปลเป็นภาษาอื่นเพื่อส่งไปขายต่างประเทศด้วย ไม่รู้ว่าจะมีภาษาไทยหรือเปล่า?

ในกรณีที่เจ้าของสุนัขมีความจำเป็นจริงๆ ที่ไม่สามารถเลี้ยงสุนัขได้อีกต่อไป ทางรัฐจะมีองค์กรพิเศษมารับช่วงต่อที่จะทำหน้าที่เหมือนเจ้าของเดิมจนสุนัขตายไป ซึ่งจะต้องจ่ายเงินจำนวนมากเป็นค่าเลี้ยงดู โดยปกติแล้วสุนัขมักจะอยู่กับเจ้าของสุนัขจนแก่ตายไปเอง ดังนั้นอาจพูดได้ว่า สุนัขที่เกิดในญี่ปุ่นเป็นสุนัขที่โชคดีที่สุดในโลกก็คงไม่ผิดใช่ไหมครับ...



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.