|
แอร์เปิดเกมรุกปี51 อิงโกลบอลวอร์มมิ่ง
ผู้จัดการรายวัน(2 มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
โกลบอล วอร์มมิ่ง ส่งต่อถึงเฮลธ์แคร์ ยังติดลมบนถึงปีนี้ ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าขอเกาะกระแส ชูเครื่องปรับอากาศ เรือธง ลงศึกเป็นตัวแรกของปี 2551 คาดแนวโน้มกลยุทธ์ที่จะนำมาแข่งขันไม่ทิ้งกัน ทั้งดีไซน์ ประหยัดพลังงาน สุขภาพ และมุ่งเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมากยิ่งขึ้น หวังตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่คาดว่าจะโต 10%
กูรูทางด้านตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้คาดการณ์การเติบโตของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้ไว้ว่า น่าจะมีการเติบโตประมาณ 3-5% ซึ่งส่วนใหญ่ยังมาจากกลุ่มจอภาพและเสียง และไอที แต่ยังมีสินค้าอีก 1 ตัว คือ เครื่องปรับอากาศ ที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะถือเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันของตลาดดุเดือดไม่แพ้กลุ่มจอภาพและเสียง อย่าง แอลซีดี ทีวี
อีก 1 เหตุผลที่ไม่ควรมองข้าม คือ ถือเป็นสินค้าตัวแรกที่จะมาประเดิมเปิดศึกรบในศักราชใหม่นี้ ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกด้วย ทั้งนี้จากปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า อานิสงค์จากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ได้สร้างปรากฏการณ์ เครื่องปรับอากาศขาดสต๊อกกันมาแล้ว เพราะหลายแบรนด์เชื่อกันว่า ปี 2550 ตลาดเครื่องปรับอากาศจะทรงตัว คนไม่ใช้เงิน ดังนั้นในปีนี้ จึงน่าจะเป็นอีก 1 ปี ที่ผู้เล่นในตลาดนี้ จะต้องวางหมากการแข่งขันที่รัดกุมมากขึ้น เพื่อให้ไม่พลาดอย่างในปีที่ผ่านมา ซึ่งในเบื้องต้นหลายค่ายได้เอ่ยปาก ถึงกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้สำหรับดึงรายได้จากเครื่องปรับอากหาศกันบ้างแล้ว
โดยดึงเอาเรื่องของโกลบอล วอร์มมิ่ง และเรื่องของสุขภาพ ที่ยังเป็นกระแสให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เจ้าของแบรนด์เครื่องปรับอากาศหลายยี่ห้อ จับกระแสดังกล่าว มาพัฒนาสินค้า หวังเรียกยอดขายกันแล้วในปีนี้
แอลจี ทำตลาดแบบเจาะลึก
นายอลงกรณ์ ชูจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ผู้จัดการรายวัน”ว่า ปีหน้าบริษัทฯจะมีการทำตลาดเครื่องปรับอากาศที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยจะมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มตลาดแมส และอีโคโนมี่ รวมถึง รุ่นท็อป ที่จะมีการนำเอาเรื่องของการประหยัดพลังงาน ที่ดีต่อสุขภาพ และมีการดีไซน์สินค้าให้ตรงใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะทำให้ยอดขายเครื่องปรับอากาศเติบโตขึ้นไม่แพ้ปีที่ผ่านมา ที่สามารถทำได้ถึง 30% หรือมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 17% รองจากมิตซูบิชิ ที่เป็นผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่งกว่า 23%
“ปี 2551 นี้มองว่า ปัจจัยในการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศหลักๆ น่าจะมาจาก 1. เรื่องของการประหยัดพลังงาน 2. สุขภาพหรือ เฮทธ์แคร์ และ 3.ดีไซน์ โดยที่ราคาน่าจะเป็นเหตุผลท้ายๆที่จะนำมาตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า”
ส่วนภาพรวมของตลาดมองว่า จะมีการแข่งขันที่ไปในทิศทางเดียวกัน คือ เรื่องของการประหยัดพลังงาน และสุขภาพ โดยยังมองว่า การแข่งขันยังคงดุเดือดไม่แพ้ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ซึ่งกลยุทธ์ทางด้านราคา อาจจะไม่ค่อยแรง เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และในเรื่องของภาษีการนำเข้า ขณะที่แบรนด์ใดที่มีฐานการผลิตในไทย ก็อาจจะได้เปรียบในเรื่องการทำราคาค่อนข้างสูง กว่าแบรนด์ที่มีการนำเข้าแทน
ซัมซุง ดึงเซอร์วิส งัดข้อ
ด้านนายสมพร จันกรีนภาวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของซัมซุง มองว่า ภาพรวมการแข่งขันของตลาดเครื่องปรับอากาศปีนี้ จะอิงกระแส โกลบอล วอร์มมิ่ง เป็นหลัก เนื่องจากเครื่องปรับอากาศ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ทำลายอากาศชั้นโอโซน อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่ใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูง ทั้งในแง่ของตัวผลิตภัณฑ์เอง และการที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องเปิดในภาวะที่อากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การเติบโต คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5% หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 8 แสนยูนิต
ทั้งนี้สำหรับซัมซุงเอง ปีนี้ได้เตรียมนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากประเทศเกาหลี ที่จะมาทำตลาดทางด้านประหยัดพลังงาน ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีความเป็นฟูลออฟชั่น และดีไซน์ จำนวน 3 โมเดล คือ เป็นแบบอินเวสเตอร์ 2 โมเดล และตั้งพื้น 1 โมเดล โดยมีกลุ่มเป้าหมายในระดับไฮเอนด์เป็นหลัก ส่วนกลุ่มตลาดแมส บริษัทฯจะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ประมาณ 12 รุ่น จากโรงงานผลิตในประเทศไทย
นายสมพร กล่าวต่อว่า การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้ากลุ่มแมส ค่อนข้างทำยาก เพราะแทบจะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ดังนั้นเพื่อทำให้รักษาลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไว้ให้ได้ บริษัทฯจะเน้นในเรื่องของเซอร์วิส ทั้งเรื่องของการบริการและความรวดเร็ว ที่ทางซัมซุงได้เริ่มมีการจัดการอบรมให้กับกลุ่มเจ้าหน้าจากภายนอก ที่กระจายอยู่ตามช่องทางจำหน่ายทั้งหมด เกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้มีมาตรฐานเดียวกัน เชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ แบรนด์ ซัมซุง มากขึ้น
ทั้งนี้มั่นใจว่าบริษัทฯน่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 30% ในปีนี้ จากเดิมในปีที่ผ่านมามีการเติบโตสูงถึง 80% หลังจากมีการปรับปรุงช่องทางจำหน่าย และการเพิ่มไลน์อัพ สินค้าจนครบ พร้อมทั้งยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 13% รองจากแอลจีที่มีแชร์ 17% และมิตซูบิชิที่เป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งทางการประมาณ 23%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|