เฟยเตี่ยน

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"ยังไม่กลับบ้านอีกเหรอ?" โชเฟอร์ขับรถแท็กซี่ป้ายดำที่คุ้นหน้าคุ้นตา เพราะใช้บริการกันเป็นประจำ ถามหลังผมออกมาเดินเตร็ดเตร่ซื้อของกิน-ของใช้ตุนไว้

"ยัง ... โรงเรียนยังไม่ปิด" ผมตอบ

"อืม ถ้าจะอยู่ก็ระวังตัวด้วย ตอนนี้ปักกิ่งอยู่ใน ขั้นอันตรายมาก"

โชเฟอร์แท็กซี่กล่าวเตือนด้วยความเป็นห่วงเป็นใย เช่นหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ เพื่อนชาวจีน ป้าขายบัตรโทรศัพท์ แม่บ้านดูแลหอพัก เด็กเสิร์ฟในร้านสุกี้ หม้อไฟ หรือพนักงานร้านขายของชำ แม้แต่ยามหน้า ประตูโรงเรียน

กลางเดือนมีนาคม 2546 ขณะที่ "โคโรน่า ไวรัส" ที่เป็นต้นเหตุของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือ ไข้หวัดมรณะ "ซาร์ส" (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า "เฟยเตี่ยนสิง ซิ่งเฟ่ยแหยน

" หรือที่ เรียกกันสั้นๆ ว่า"เฟยเตี่ยน"

กำลังเริ่มแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง และเกาะฮ่องกง น้อยคนนักที่คาดคิดว่า เชื้อไวรัสตัวนี้จะรุกขึ้นเหนือมาแพร่ระบาดอย่างหนักในปักกิ่ง หัวใจทางด้านการเมืองและวัฒนธรรมของจีน

ถัดมาอีกเพียง 1 เดือน หลังการประกาศยอมรับ จากกระทรวงสาธารณสุขจีนว่า "เฟยเตี่ยน" ได้คืบคลานมาถึงเมืองหลวงแห่งนี้ และกำลังแพร่กระจายอย่างเหนือความสามารถจะควบคุมได้ ภาวะของความตื่นตระหนกของผู้คนก็เกิดขึ้น

เริ่มจาก มีการซื้อหน้ากากอนามัยมาใช้กันอย่างแพร่หลาย การซื้อยาที่ชื่อว่า "ปั่นหลานเก็น " "น้ำส้มสายชู " รวมถึงตัวยาสมุนไพรจีน 8 ชนิด มากักตุน โดยทั้งสามอย่างนี้มีความเชื่อกันว่าจะสามารถป้องกันโรคได้ ขณะที่ทางการจีนก็แจกคู่มือ ป้องกันโรคซาร์ส ซึ่งแนะนำวิธีสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีแนวโน้มจะเป็นหรือไม่ รวมถึงวิธีการปฏิบัติตัว และดำเนินชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงโรค

การรักษาความสะอาด มีการรณรงค์ให้ล้างมือกันเป็นประจำ ทุกครั้งที่สัมผัสกับสิ่งที่เป็นของสาธารณะ ทุกครั้งที่ออกไปนอกที่พักและกลับเข้ามา สบู่และน้ำยารักษาความสะอาดเป็นสินค้ายอดนิยม สถานที่ทุกแห่ง ต่างคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ห้องน้ำสาธารณะ แทบทุกแห่ง รวมถึงตามร้านอาหารต่างๆ ต่างต้องมีขวดสบู่เหลวตั้งไว้ข้างอ่างล้างหน้า

สถานที่สาธารณะอย่าง ธนาคาร ไปรษณีย์ ที่ทำงาน ห้องเรียน รวมถึงหอพัก ห้องพักต่างเปิดหน้าต่าง เพื่อถ่ายเทอากาศ พฤติกรรมการเข้าคิวก็เปลี่ยนไป จาก ที่เคยต่อคิวกันอย่างเบียดเสียด ก็กลับกลายเป็นต่อคิวกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

เดินทาง-คมนาคม เนื่องจากเชื้อ "โคโรน่า ไวรัส" ที่เชื่อกันว่ากลายพันธุ์ได้หลายรูปแบบนี้สามารถแพร่กระจายได้ง่าย แม้แต่ทางอากาศ จึงมีการแนะนำไม่ให้อยู่ ในที่ซึ่ง "ผู้คนแออัด" พร้อมกับแนะนำด้วยว่า หากจะใช้ บริการขนส่งสาธารณะก็ควรใส่หน้ากากอนามัยไว้ด้วย

คำเตือนนี้ทำให้การใช้บริการรถประจำทาง รถไฟรถไฟใต้ดิน เครื่องบิน รวมถึงแท็กซี่กันน้อยลงอย่างถนัดตา แม้พาหนะเหล่านี้จะมีการทำความสะอาด พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อกันอย่างสม่ำเสมอแต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะผู้คนเดินทางกันน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ในทางตรงกันข้าม พาหนะสองล้ออย่างจักรยาน กลับได้รับความนิยมมากขึ้น และในระยะสั้นราคาสูงขึ้นราวร้อยละ 20-30

แน่นอนว่าเมื่อมีการคมนาคมกันน้อยลงย่อมทำให้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ น้อยลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ร้านอาหารทุกระดับ ห้างสรรพสินค้า แหล่งบันเทิง แหล่งพักผ่อนหย่อนใจในร่ม ทั้งโรงภาพยนตร์ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โบว์ลิ่งต่างไม่มีผู้ใช้บริการ สังเกตได้จาก แม้ในช่วงเวลาที่ธุรกิจเหล่านี้น่าจะวุ่นวายที่สุดคือในช่วงพักกลางวัน หรือตอนเย็น พนักงานต่างจับกลุ่มล้อมวงนั่งคุยกันอย่างหมดอาลัยตายอยาก

ร้านขายสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะเสื้อผ้า ของใช้ฟุ่มเฟือย แม้พยายามจะปรับตัวใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเท่าใด ก็ไม่สามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านได้ จนบางแห่งต้องปิดตัวไปภายในระยะเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ หลังจากข่าวการแพร่ระบาดของโรค (ยกเว้น ซูเปอร์มาร์เก็ต ขายอาหาร และของใช้ประจำวันที่คนล้นหลามเนื่องจากมีการซื้อสินค้าไปกักตุน)

การท่องเที่ยวจีนซบเซาอย่างรุนแรง บริษัทท่องเที่ยวรับจัดทัวร์ต่างๆ ที่พิมพ์เอกสารแนะนำการท่องเที่ยว ในช่วงเทศกาลวันแรงงาน (วันหยุด 1-7 พ.ค.) หนึ่งในสามเทศกาลวันหยุดที่สำคัญที่สุดของชาวจีน ต้องเจ็บตัว อย่างหนัก เนื่องจากรัฐบาลจีนผ่านกระทรวงสาธารณสุข ประกาศลดวันหยุดเหลือเพียง 5 วัน (1-5 พ.ค.) รณรงค์ไม่ให้มีการท่องเที่ยวต่างเมือง พร้อมกับออกมาตรการอย่างเด็ดขาด ห้ามเข้า-ออก เมืองอันตรายอย่างปักกิ่ง ขณะที่ชาวบ้านต่างเมืองที่เห็นรถติดทะเบียนปักกิ่งก็แสดงความรังเกียจ รวมถึงขับไล่ เนื่องจากความหวาด หวั่นว่าจะเป็นตัวแพร่กระจายโรค

ข่าวสาร-ข่าวลือ ท่ามกลางความหวาดหวั่นต่อสิ่งที่มองไม่เห็น ควบคุมไม่ได้ หัวข้อการสนทนา ต่าง วกเวียนอยู่เฉพาะในเรื่องนี้ ข่าวคราวที่น่ากลัวที่สุดไม่ได้เป็นยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในระดับร้อยรายต่อวัน หรือยอดผู้เสียชีวิตราว 5-10 รายต่อวัน (เฉพาะในปักกิ่ง) แต่กลับเป็น "ข่าวลือ"

"ที่หอพักนั้น ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตโน้น มีคนติดเชื้อ แล้ว ... อย่าไป!!!"

"ตอนนี้มีคนติดเชื้อหลายพันแล้ว!!! (ขณะที่ตัวเลขทางการอยู่ในระดับร้อย)"

ในภาวะของความอลหม่าน ข่าวลือที่ออกมาเสมือน เป็นบทลงโทษกับความไม่โปร่งใสทางการเผยแพร่ข้อมูล-ข่าวสารของทางรัฐบาลจีน ที่ในช่วงแรกปกปิดข้อมูลไว้ และข่าวลือนี้เองที่กระทบชิ่งให้เกิดผลลบต่อภาวะทางเศรษฐกิจ และลงทุนอย่างรุนแรง

บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง ไม่เพียงยกเลิกการประชุมและการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในจีน แต่แนะนำจนถึงสนับสนุนทางด้านค่าใช้จ่ายให้พนักงานของตนที่ทำงานอยู่ในจีน กลับบ้านเสีย ส่วนนักศึกษาต่างชาติก็ขนกระเป๋ากลับประเทศ

นักศึกษาเกาหลีมากกว่าสองพันคนในปักกิ่ง กลับประเทศภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์!

ในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน ภาพของสิ่งต่างๆ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ปักกิ่งเมืองที่มีประชากรมากกว่า 13 ล้านคน และ ผู้อยู่อาศัยชั่วคราวอีก 4 ล้านคน คล้ายเป็นพื้นที่อันตรายตามประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทุกคนหากไม่มีธุระสำคัญจริงๆ ต่างเก็บตัวอยู่กับบ้าน ในช่วงปลายเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม โรงเรียน-มหาวิทยาลัยต่างๆ ปิดตาย ห้ามนักเรียน บุคลากรเข้า-ออก ตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อของทางการ

วิกฤติ "เฟยเตี่ยน" หรือ "ซาร์ส" ที่เกิดขึ้น เป็นจุดผกผันจุดหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน โรคระบาดนี้กำลัง จะเปลี่ยนจุดมุ่งหมายในชีวิตของคนจีน จากเป้าหมายเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เป็นเพื่อความมั่นคง-ปลอดภัยในชีวิต

บทเรียนจากปี 2546 นี้จะเปลี่ยนการดำเนินนโยบาย ทางการเมืองของทางจีน ให้ออกมาในรูปโฉมใหม่

20 ปี ภายใต้ร่มธงทางเศรษฐกิจของผู้นำรุ่นเก่า เติ้งเสี่ยวผิง เจียงเจ๋อหมิน (รวมถึง จูหรงจี) จากมรดกการพัฒนาแบบก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ผู้นำรุ่นใหม่ หูจิ่นเทา เวินเจียเป่า ถูกบังคับให้เปลี่ยนเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างสังคมจีน ที่มั่นคง ปลอดภัย และเปิดกว้างกว่าเดิมอย่างกะทันหัน

หมายเหตุ : หลังจากผู้เขียนเดินทางจากปักกิ่งถึงไทยต้นเดือน พฤษภาคมก็ต้องกักบริเวณตัวเอง 14 วันในที่รโหฐาน จนถึงวันเพ็ญ 15 พฤษภา จึงดำเนินชีวิตได้ตามปกติ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.