เงินสกุลแมค และดัชนีบิ๊กแมค

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

โดยทั่วไป สกุลเงินจะอิงอยู่กับชาติหรือประเทศ ใดประเทศหนึ่ง แต่เมื่อปี ค.ศ.1986 หรือในราว 17 ปีก่อน ได้มีผู้คิดค้นดัชนีหรือเครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจขึ้นมาตัวหนึ่ง เรียกว่า ดัชนีบิ๊กแมค เพื่อใช้สะท้อนการแข็ง ค่าหรืออ่อนตัวลงของเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้ราคา แฮมเบอร์เกอร์ "บิ๊กแมค" ของแมคโดนัลด์เป็นตัววัด หลักการก็คือการดูค่าความเท่ากันของอำนาจในการซื้อ แฮมเบอร์เกอร์บิ๊กแมค ที่มีขายในร้านแมคโดนัลด์ซึ่งเปิด สาขาในประเทศต่างๆ กว่า 118 แห่งทั่วโลก

ราคาบิ๊กแมคที่ใช้เป็นตัวตั้งในที่นี้ก็คือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับราคาบิ๊กแมคในประเทศ อื่นๆ แล้ว จะพบว่ามีราคาที่แตกต่างกันมาก ทั้งในด้านบวกและลบ คือมีทั้งราคาที่แพงมากและราคาที่ถูก มาก สะท้อนค่าเงินของแต่ละประเทศว่าแข็งหรืออ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

การรายงานดัชนีบิ๊กแมคนี้เข้าใจว่าตีพิมพ์ในนิตยสารดิอีโคโนมิสต์เป็นแห่งแรก และปัจจุบันก็มีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย รวมทั้งมีผู้สนใจทำการศึกษาค้นคว้าเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยราคาบิ๊กแมคหรือดัชนีบิ๊กแมคกันหลายคน รวมถึงรายที่อีโคโนมิสต์บอกว่าได้ทำการศึกษาจนเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่ม คือผลงานของ Li Lian Ong แห่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ให้ชื่อหนังสือว่า "The Big Mac Index : Applications of Purchasing Power Parity" มี Palgrave Macmillan เป็นผู้จัดพิมพ์ออกมาในปี 2003 นี้

Li Lian Ong บอกว่าน่าประหลาดใจมากที่เครื่องมือราคาบิ๊กแมคสามารถใช้ตรวจสอบการเคลื่อน ไหวของค่าเงินในระยะยาวได้อย่างแม่นยำ แต่มันก็มีความเบี่ยงเบนออกจากความเสมอกันของอำนาจการซื้อหรือ PPP อยู่บ้าง โดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่หรือที่เรียกว่า Emerging Market ซึ่งผลที่ได้สะท้อนให้เห็นว่าสกุลเงินในประเทศเหล่านี้มีค่าอ่อนกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐโดยแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ใครที่ติดตามการรายงานดัชนีบิ๊กแมคจะพบว่าในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ดัชนีตัวนี้ได้ส่งสัญญาณให้มีการเทขายเงินดอลลาร์อย่างหนัก เพราะสกุลเงินหลักของโลกสกุลนี้มีค่าสูงกว่าความเป็นจริง หรือมีค่าสูงเกิน จริงมากยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในรอบ 17 ปีที่มีการใช้ดัชนีบิ๊กแมค หลังจากนั้นเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงถึง 12%

การนำราคาบิ๊กแมคในแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกัน เพื่อดูว่าราคาแฮมเบอร์เกอร์บิ๊กแมคในแต่ละประเทศ มีค่าถูกหรือแพงกว่าราคาบิ๊กแมคที่ขายในสหรัฐฯ โดยราคาบิ๊กแมคที่ขายในสหรัฐฯ ก็หยิบมาจากราคาขาย เฉลี่ยหรือราคากลางใน 4 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ คือ ชิคาโก, นิวยอร์ก, ซานฟรานซิสโก และแอตแลนตา

ราคาบิ๊กแมคในประเทศใดถูกกว่าราคาเฉลี่ยในสหรัฐฯ สะท้อนว่าประเทศนั้นมีสกุลเงินที่อ่อนกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หากราคาบิ๊กแมคแพงกว่าก็สะท้อนว่าประเทศนั้นมีค่าเงินแข็งกว่าดอลลาร์สหรัฐ

อย่างเช่น ราคาบิ๊กแมคที่แพงที่สุดในโลกอยู่ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คือ บิ๊กแมคมีราคา 4.52 ดอลลาร์ฯ เทียบกับราคากลางในสหรัฐฯ ที่ 2.71 ดอลลาร์ฯ คิดเป็นราคาที่แพงกว่าราคาในสหรัฐฯ 69%

ส่วนบิ๊กแมคที่ราคาถูกที่สุดในโลกอยู่ที่ประเทศ จีน มีราคาเพียง 1.20 ดอลลาร์ฯ หรือถูกกว่าในสหรัฐฯ 56%

พูดอีกอย่างหนึ่งก็สามารถบอกว่าสกุลเงินหยวน ของจีนมีค่าอ่อนมากที่สุด เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนเมษายน ค่าเงินหยวนอยู่ที่ 8.28 หยวน ต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่หากคิดตามดัชนีนี้แล้ว จะพบว่าเงินหยวนควรมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ 3.65 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ การที่แลกเงินหยวนได้มากถึง 8.28 หยวน ก็สะท้อนว่าเงินหยวนมีค่าอ่อนมากถึง 56% เมื่อ เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนเงินสวิสฟรังก์ก็มีค่าแข็งที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ราคาบิ๊กแมคโดยเฉลี่ยในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู มีค่าเท่ากับในสหรัฐฯ ค่าเงินยูโรในเดือนเมษายนอยู่ที่ 1.10 ยูโรต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเงินยูโรมีค่าแข็งกว่าเงินดอลลาร์ 10% ส่วนค่าเงินของประเทศที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูก็มีค่าแข็งกว่าเงินสกุลยูโรอยู่แล้ว

ในบรรดาประเทศร่ำรวยทั้งหลาย ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าเงินสหรัฐฯ ดอลลาร์ออส เตรเลียมีค่าอ่อนกว่าดอลลาร์สหรัฐ 31% หรือ 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกได้ 1.61 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ส่วนสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายก็มีค่าอ่อนกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐราว 30% - 50% ยกเว้นค่าเงินวอนของเกาหลีใต้ที่เท่ากับดอลลาร์สหรัฐซึ่งก็สะท้อนว่าเงินวอนมีค่าแข็งกว่าเงินสกุลเอเชียอื่นๆ

ใครที่ติดตามการรายงานดัชนีบิ๊กแมคอาจมีความรู้สึกว่าราคาสินค้าตัวนี้น่าทึ่งมาก เพราะสะท้อนค่าเงินหลายสกุลได้ชัดเจน แต่ก็มีคนโต้แย้งการใช้ดัชนี บิ๊กแมคกันมากเช่นกัน ซึ่งอีโคโนมิสต์ก็ยอมรับว่าการจัดทำดัชนีตัวนี้ยังมีข้อบกพร่องให้ตำหนิติเตียนได้มาก

บิ๊กแมคไม่ใช่สินค้าที่มีการซื้อขายกันระหว่างประเทศ ราคาบิ๊กแมคในแต่ละประเทศก็อาจถูกบิดเบือน ได้จากอัตราค่าภาษี ค่าธรรมเนียม และอัตรากำไรที่แตกต่างกัน รวมทั้งต้นทุนบางอย่างเช่นอัตราค่าเช่า ที่ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ อย่างไรก็ดี การจัดทำดัชนี บิ๊กแมคไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อบ่งชี้ทิศทางค่าเงิน แต่เพื่อให้ใช้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น

อีโคโนมิสต์ชี้แจงจุดยืนไว้เช่นนั้น แต่ก็พยายามที่จะบอกว่าเครื่องมือตัวนี้ทำงานได้ผล โดยยกเอาเหตุการณ์ในต้นทศวรรษ 1990 ก่อนที่จะเกิดวิกฤติเรื่องกลไกอัตราแลกเปลี่ยนในยุโรป ดัชนีบิ๊กแมคส่งสัญญาณว่าสกุลเงินของหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งเงินปอนด์อังกฤษมีค่าแข็งกว่าเงินมาร์กเยอรมัน และดัชนีตัวนี้ก็ยังบอกด้วยว่าเงินยูโรจะมีค่าต่ำลงหลังจากประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 1999

Li Lian Ong ผู้ศึกษาดัชนีบิ๊กแมคและดูเหมือน จะสรุปว่าดัชนีตัวนี้ใช้ได้ผลในการบอกทิศทางค่าเงิน (แต่อีโคโนมิสต์พยายามที่จะไม่พูดออกหน้าอย่างชัดเจนเช่นนั้น) ก็ได้แสวงหาจุดบกพร่องของดัชนีบิ๊กแมค โดยเฉพาะในข้อที่ว่าดัชนีตัวนี้จะสะท้อนค่าเงินเอเชียว่าอ่อนกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเธอพบว่าเมื่อมีการปรับอัตราเบี่ยงเบนบางอย่างแล้ว ดัชนีบิ๊กแมคก็ยังใช้ติดตามดูความเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุล ต่างๆ เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐได้อย่างดีทีเดียว

นับเป็นความสำเร็จของการจัดทำดัชนีบิ๊กแมค ที่ในที่สุดได้มีคนสนใจศึกษาและเขียนหนังสือออกมา สนับสนุนประสิทธิภาพของดัชนีตัวนี้ และเราก็ได้เห็นคำทำนายทิศทางค่าเงินสกุลสำคัญของโลกโดยใช้ดัชนีบิ๊กแมคเป็นเครื่องชี้วัดต่อไป

ดัชนีบิ๊กแมคส่งสัญญาณมาว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะมีค่าอ่อนกว่าเงินยูโร เพราะปัญหาเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก หากไม่มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นมากในญี่ปุ่นและยุโรป ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐคงจะแข็งค่าอยู่ไม่ได้แน่

เงินอีกสองสามสกุลที่จะมีความเคลื่อนไหวอย่าง สำคัญในปีนี้คือดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งจะแข็งค่าแน่เงินปอนด์ก็จะตกเมื่อเทียบกับเงินยูโร และเงินหยวนจะได้รับแรงกดดันอย่างหนักให้ต้องมีการประเมินค่าใหม่

สัญญาณเหล่านี้เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.