The Railway Museum

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

หากไม่นับรวมนวัตกรรมทางด้านหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นแล้ว “รถไฟ” โดยเฉพาะรถไฟหัวกระสุน Shinkansen จัดเป็นอีกไอคอนที่สื่อถึงภาพลักษณ์ของ Modern Japan ได้เป็นอย่างดี

รถไฟจักรกลขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำซึ่งประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกของโลกบนเกาะอังกฤษเมื่อปี 1804 เป็นหนึ่งในอารยธรรมตะวันตกที่ไหล่บ่าข้ามฝากเข้ามาถึงเกาะญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยปฏิรูปเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) จากนั้นได้รับการพัฒนาต่อยอดแตกแขนงในหลายมิติทั้งจากภาครัฐและเอกชนก่อเกิดรถไฟหลากหลายรูปแบบในเวลาต่อมา ทั้งรถไฟประเภทที่มีคนขับและที่ขับเคลื่อนเองโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่นรถไฟที่ใช้พลังงานไฟฟ้า รถราง รถไฟใต้ดิน รถไฟ Monorail รถไฟที่แล่นได้ทั้งบนรางและบนถนน รวมถึงรถไฟความเร็วสูงอย่าง Shinkansen ที่เกื้อกูลสานต่อกันเป็นเครือข่ายระบบรถไฟที่ได้ชื่อว่าทรงประสิทธิภาพที่สุดในโลก

นวัตกรรมรถไฟที่พัฒนาขึ้นในประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีความโดดเด่นแตกต่างไปจากสินค้าประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีของรถไฟ Shinkansen ซึ่งได้ส่งกลับไปใช้ยังมาตุภูมิแหล่งกำเนิดของรถไฟในฐานะระบบขนส่งมวลชนสายหลักช่วยชูโรงในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่มหานครลอนดอน*

แต่ก็ใช่ว่าเทคโนโลยีรถไฟญี่ปุ่นนั้นจะเกิดผลสัมฤทธิขึ้นมาได้โดยง่าย ในพัฒนาการแต่ละขั้นนั้นได้ผ่านสมมุติฐาน กระบวนการเรียนรู้ การลองผิดลองถูก ความเพียรพยายามค้นคว้าวิจัยและพัฒนาจนตกผลึกออกมาเป็นเทคโนโลยีของตัวเองที่ค่อยๆ สั่งสมอย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อเนื่องซึ่งเป็นระยะเวลานานเพียงพอที่เรื่องราวของรถไฟญี่ปุ่นอันเป็นสมบัติชาติที่ควรค่าแก่การสงวนรักษา

ส่วนหนึ่งขององค์ความรู้เหล่านั้นจัดแสดงไว้ให้ชมในพิพิธภัณฑ์การคมนาคมแห่งประเทศญี่ปุ่น (Transportation Museum Japan) ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่ปี 1936 ที่ Kanda Sudacho บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟโตเกียวใจกลางเมืองหลวง

แม้ว่าภายในพิพิธภัณฑ์จะมีส่วนอื่นที่นอกเหนือจากการคมนาคมด้วยระบบรางแทรกอยู่บ้างก็ตามแต่ในส่วนของรถไฟนั้นมีเนื้อหาอันอัดแน่นและรายละเอียดปลีกย่อยของสิ่งที่นำมาจัดแสดงซึ่งดูจะเหมาะกับกลุ่มคนที่ชื่นชอบรถไฟเป็นพิเศษที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า Tetsudou Otaku หรือ Railway Mania มากกว่าบุคคลทั่วไป ส่งผลให้พิพิธภัณฑ์การคมนาคมแห่งประเทศญี่ปุ่นถูกขนานนามให้เป็น Mecca of Railway Mania ไปโดยปริยาย

ความคิดริเริ่มโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่จัดแสดงเกี่ยวกับรถไฟโดยตรงได้เริ่มขึ้นในขณะที่อาคารสถานที่ค่อยๆ ทรุดโทรมไปตามกาล ประกอบกับพื้นที่อันจำกัดของพิพิธภัณฑ์การคมนาคมแห่งประเทศญี่ปุ่นไม่เพียงพอที่จะรองรับความก้าวหน้าของวิทยาการที่มากขึ้นทุกขณะ จนในที่สุดได้ปิดตัวลงชั่วคราวเมื่อปี 2006 และย้ายไปเปิดใหม่ฉลองวาระที่รถไฟญี่ปุ่นครบรอบ 135 ปี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2007 ที่ Oomiya ในจังหวัด Saitama ทางทิศเหนือของโตเกียวพร้อมกันนั้นก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Railway Museum

การออกแบบพิพิธภัณฑ์ใหม่ตามหลักการจัดการพิพิธภัณฑ์ที่เป็นสากลมากยิ่งขึ้นช่วยให้สิ่งของจัดแสดงกว่า 580,000 ชิ้น วางเป็นสัดส่วนหมวดหมู่สอดคล้องตามลำดับเรื่องราวได้อย่างสมบูรณ์แบบ ชวนติดตามและเข้าใจได้ง่ายบนเนื้อที่ทั้งหมด 42,500 ตารางเมตร (จากเดิม 5,000 ตารางเมตร) ดำเนินการโดย East Japan Railway Culture Foundation ซึ่งเป็นองค์กร non-profit ของบริษัท East Japan Railway Company หรือที่เรียกกันว่า JR Higashi-nihon

History Zone เป็นห้องโถงเพดานทรงสูงจัดแสดงรถไฟประวัติศาสตร์ขบวนจริง 36 ขบวนที่ชั้นล่าง โดยเริ่มตั้งแต่รถไฟขบวนแรกๆ ในยุคสมัย Meiji รถไฟขบวนหลักในยุคที่เครือข่ายรถไฟขยายคลอบคลุมไปทั่วญี่ปุ่นในสมัย Taisho (ค.ศ.1912-1926) รถไฟในยุคก่อนสงครามโลก การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในช่วงทศวรรษ 1950 กระทั่งถึงกำเนิดรถไฟ Shinkansen ที่เป็น Flagship Transportation ใน Tokyo Olympic 1964 พร้อมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของรถไฟตามลำดับเวลาก่อนหลังเป็นลายลักษณ์อักษรในบริเวณชั้น 2 ของห้องโถง

การเปลี่ยนแปลงใน The Railway Museum ซึ่งฉีกภาพเดิมของ Mecca of Railway Mania ออกไปนั้นอยู่ที่การเพิ่มเติมส่วนของ Learning Zones บริเวณชั้น 1, 2 และ 3 ที่ออกแบบเพื่อการเรียนรู้เชิงสันทนาการสำหรับเด็กกับอีกส่วนที่อยู่บริเวณภายนอกอาคาร ซึ่งมีลักษณะกึ่ง Theme Park เป็นพื้นที่เปิดโล่งให้สัมผัสกับ Mini Train ซึ่งจำลองระบบรักษาความปลอดภัยของไฟจราจรที่ใช้กับรถไฟ Mini Shuttle Train ซึ่งย่อส่วนรถไฟ Shinkansen ขบวน Hayate ที่ใช้วิ่งระหว่างโตเกียว-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ Hayate ยังเป็นขบวน Shinkansen แม่แบบที่ส่งออกไปยังประเทศจีนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา Friendly Train ขบวน Moha 455 และ Kuha 455 สำหรับการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถโดยสารได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กโดยเฉพาะที่มากันเป็นครอบครัว

ขณะเดียวกัน Train Simulators ภายในอาคารที่ขยายจอกว้างขึ้นจากเดิม 2 เท่า สามารถทดลองฝึกขับรถไฟเสมือนจริง ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นและวัยทำงานไม่แพ้ Railway Model Diorama ขนาดความกว้าง 8 เมตร ยาว 25 เมตร ย่อส่วนจากของจริง 1 ใน 80 ส่วน สำหรับรถไฟธรรมดา และ 1 ใน 87 ส่วน สำหรับรถไฟ Shinkansen ซึ่งวิ่งอยู่บนราง HO Guage เป็นโมเดลรถไฟจำลองที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังมี facilities อื่น เช่น ห้องสมุดรถไฟ ร้านอาหาร Kid Space สำหรับเด็กเล็ก และ Museum Shop ที่ขายดีจนต้องต่อคิวเข้าร้าน

สีสันของพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอีกอย่างอยู่ที่การจัดแสดงพิเศษครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2007 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2008 ในหัวข้อ “Challenge of Shinkansen” ว่าด้วยนวัตกรรมล่าสุด FASTECH 360 : Next Generation of Shinkansen แล่นด้วยความเร็วปกติ 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เน้นความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร ตัวรถมีน้ำหนักเบาประหยัดพลังงานและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มความปลอดภัยให้สูงยิ่งขึ้นโดยใช้ระบบเบรกที่มีลักษณะเหมือนหูแมว ซึ่งจะกางออกต้านอากาศช่วยลดความเร็วลงอย่างปลอดภัยเมื่อรถไฟเบรก

แม้ว่าในระยะแรกทางพิพิธภัณฑ์จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งซึ่งวัดได้จากจำนวนผู้เข้าชมที่มากกว่าที่คาดไว้ก็ตามที การจัดแสดงพิเศษที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามหัวข้อและช่วงเวลานี้ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัวเพื่อดึงดูดให้คนที่เคยมาแล้วเดินทางกลับมาชมอีก

ตราบใดที่รถไฟในประเทศญี่ปุ่นยังคงแล่นไปบนรางเหล็กคู่ขนาน ร่องรอยแห่งการเดินทางไม่รู้จบของการรถไฟญี่ปุ่นก็จะนำมาเสนอและเก็บรวบรวมเอาไว้ที่ The Railway Museum แห่งนี้

*อ่านเพิ่มเติม : นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับมีนาคม 2550 คอลัมน์ Japan Walker


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.