|
De-fence the Defense ล้มรั้วเมื่อรั้วโกง?
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ข่าวความฉ้อฉลในแวดวงราชการญี่ปุ่นตลอดช่วงปีที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวใดส่งผ่านแรงสั่นสะเทือนได้มากเท่ากรณีความฉ้อฉลของ Takemasa Moriya อดีตเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นข่าวครึกโครมตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา
เรื่องราวความฉ้อฉลถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อมีการระบุว่า Takemasa Moriya ไปตีกอล์ฟ (golf outing) กับนักธุรกิจเอกชนจาก Yamada Corp. ซึ่งเป็นคู่สัญญากับกระทรวง กลาโหมอย่างบ่อยครั้งระหว่างปี 2003-2006 กรณีดังกล่าวมีสภาพไม่ต่างจากการสะกิดสะเก็ดแผลเล็กๆ ที่ไม่น่าจะมีนัยทางการ เมืองมากนัก เนื่องเพราะ Takemasa Moriya มิใช่นักการเมืองสังกัดพรรคการเมืองใดๆ
หากภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า Takemasa Moriya เป็นข้าราชการระดับสูงในองค์กรด้าน ความมั่นคงของรัฐ ทำให้ข่าวความฉ้อฉลของ Takemasa Moriya มีนัยกว้างขวางเกินกว่าบริบททางการเมืองไปโดยปริยาย
Takemasa Moriya (เกิดเมื่อ 23/9/1944) สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Tohoku เข้าทำงานในบริษัทรับส่งสินค้าอยู่เพียงช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะสอบเข้ารับราชการในสังกัดของ Self-Defense Agency (SDA) ตั้งแต่เมื่อปี 1971
ช่วงชีวิตของ Takemasa Moriya ในฐานะเจ้าหน้าที่บริหารและอำนวยการใน SDA เติบโตขึ้นเป็นลำดับ ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง Administrative Vice-Minister ของกระทรวงกลาโหมในปี 2003 ซึ่งถือเป็นตำแหน่งในฝ่ายบริหารสูงสุดอันดับ 4 เลยทีเดียว
ความต่อเนื่องยาวนานของการรับราชการ อยู่ใน SDA รวมถึงบทบาทในตำแหน่ง Ad-ministrative Vice-Minister ของ Takemasa Moriya ทำให้เขาถูกกล่าวถึงในฐานะนายใหญ่ ของ SDA ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของข้าราชการประจำรายนี้ได้เป็นอย่างดี
เมื่อเรื่องราวแห่งความอัปลักษณ์ที่หมิ่น เหม่ต่อมาตรฐานทางจริยธรรม และระเบียบปฏิบัติของราชการ (code of conduct) ถูกเปิดเผยขึ้น Takemasa Moriya พยายามแบ่งรับแบ่งสู้ ด้วยการระบุว่า การไปตีกอล์ฟแต่ละครั้งเขาต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนของเขาเองไม่น้อยกว่าครั้งละ 1 หมื่นเยน
พร้อมกับระบุว่าการไปตีกอล์ฟดังกล่าว ไปเพื่อการพักผ่อนและสังคมในฐานะปัจเจก บุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน อีกทั้งเขาไม่เคยเอื้อประโยชน์ให้กับ Yamada Corp. ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนจากบริษัท General Electric (GE) ยักษ์ใหญ่ในวงการยุทธภัณฑ์จากสหรัฐอเมริกา แต่อย่างใด
กระนั้นก็ดี การสืบสวนสอบสวนเพื่อขยายผลกรณีของ Takemasa Moriya ซึ่งติดตามมาด้วยข้อมูลและเรื่องราวน่ารังเกียจ กลับทำให้สะเก็ดแผลที่ถูกเปิดออกมานี้ส่งผล ให้ Takemasa Moriya ตกอยู่ในสภาพเลือดไหลไม่หยุด
ขณะเดียวกันบาดแผลดังกล่าวยังมีลักษณะติดเชื้อที่พร้อมจะลุกลาม ไม่ต่างจาก การอักเสบเป็นหนองของฝีเม็ดใหญ่ที่ต้องขจัด และรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องเพราะในเวลาต่อมา Motonobu Miyazaki อดีตผู้บริหาร ระดับสูงของ Yamada Corp. ซึ่งเป็นผู้ประสาน งานและดูแลการเลี้ยงรับรอง Takemasa Moriya ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน
โดยยอมรับว่า Yamada Corp. เป็น ผู้จ่ายเงินสำหรับการตีกอล์ฟของ Takemasa Moriya รวมมูลค่ากว่า 3-4 ล้านเยนจริง พร้อม กับให้ข้อมูลด้วยว่า ไม่เพียงแต่การตีกอล์ฟเท่านั้น หาก Yamada Corp. ยังเป็นผู้จ่ายเงินสำหรับสันทนาการอื่นๆ (other entertain-ments) ให้กับทั้ง Takemasa Moriya และ Sachiko Moriya ซึ่งเป็นภรรยาด้วย
ขณะที่รายงานของคณะสอบสวนพิเศษ ซึ่งติดตามความฉ้อฉลในกรณีนี้ระบุว่าสองสามี ภรรยา Takemasa Moriya และ Sachiko Moriya รับประทานอาหารและรับมอบของกำนัลจาก Yamada Corp. อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรับสินบนในรูปของเงินสดอีกส่วนหนึ่งที่จัดจ่ายเข้าสู่ระบบการเงินของทั้ง Takemasa Moriya และ Sachiko Moriya ต่างกรรมต่างวาระ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ได้รับการยืนยัน ในเวลาต่อมาว่า ค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อใน สหรัฐอเมริกาของลูกสาวคนที่สองของ Takemasa Moriya เป็นเงินที่ได้รับโอนจาก Yamada International Corp. บริษัทในเครือของ Yamada Corp. ในสหรัฐฯ อีกด้วย รวมทั้งเงินที่ได้รับโอนเข้ามาเพื่อนำมาใช้หนี้บัญชีธนาคารให้กับบุตรชายของ Takemasa Moriya ด้วย
ค่าใช้จ่ายเพื่อสันทนาการ (entertain) ที่ Yamada Corp. จ่ายเพื่อการเลี้ยงรับรองสองสามีภรรยา Moriya ดำเนินไปภายใต้ บัญชีพิเศษ (slush fund) ของบริษัทซึ่งไม่ต่าง จากงบลับของระบบราชการในบางประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่าง Yamada Corp. และสองสามีภรรยา Moriya ดำเนินไปภายใต้ ความมุ่งหวังว่า Moriya จะช่วยเหลือให้ Yamada เป็นบริษัทผู้ชนะได้รับการคัดเลือก เป็นคู่สัญญา เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ และยุทธปัจจัยให้กับ SDA
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกระทรวงกลาโหมโดยกองทัพเรือ (MSDF : Maritime Self-Defense Force) อยู่ระหว่างการพิจารณา จัดซื้อเรือพิฆาตขนาด 5,000 ตัน ซึ่งจะเริ่มเข้าประจำการในปี 2011 ภายใต้งบประมาณ ที่มีมูลค่ารวมกว่า 7.5 หมื่นล้านเยน
Takemasa Moriya ได้ทำรายงานนำเสนอระบุว่าในส่วนของเครื่องยนต์ 4 เครื่อง ที่มีมูลค่ารวมกว่า 6 พันล้านเยน กองทัพเรือควรซื้อเครื่องยนต์จาก GE แทนการซื้อเครื่องยนต์ของ Rolls-Royce
ทั้งนี้รายงานนำเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก Takemasa Moriya ได้ร่วมสังสรรค์ กับผู้บริหารของ Yamada Corp. และผู้บริหาร ของ GE แม้ว่า MSDF จะมีท่าทีคัดค้านข้อเสนอของ Takemasa Moriya ด้วยเหตุผลทางเทคนิคและข้อจำกัดในสมรรถนะของเครื่องยนต์จาก GE ก็ตาม
นอกจากนี้ Takemasa Moriya ยังมีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีการจัดซื้อเครื่องบินลำเลียงรุ่นใหม่ในตระกูล CX (CX next generation) ของกองทัพอากาศ (ASDF : Air Self-Defense Force) และการจัดซื้อยานยนต์ ลาดตระเวนที่มีอุปกรณ์การตรวจจับอาวุธชีวภาพของกองทัพบก (GSDF : Ground Self- Defense Force) ที่ต่างมี Yamada Corp. เป็นนายหน้าด้วย
Takemasa Moriya พยายามต่อสู้ข้อ กล่าวหาที่ถาโถมด้วยการเอ่ยอ้างชื่อนักการเมืองระดับนำของพรรค LDP อีกหลายราย รวมถึง Fukushiro Nukaga รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง และ Fumio Kyuma อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ในลักษณะที่ระบุว่า บุคคลเหล่านี้ต่าง มีส่วนร่วมในการตีกอล์ฟและร่วมรับประทานอาหารกับผู้บริหารของ Yamada Corp. ที่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมนี้ด้วยเช่นกัน
ความพยายามหาเกราะกำบังของ Takemasa Moriya ด้วยการดึงนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงรายอื่นเข้ามาสู่วิบาก กรรมและวังวนของความอื้อฉาวดังกล่าว นอกจากจะไม่สามารถทำให้เขารอดพ้นจากการตรวจสอบแล้ว
กรณีดังกล่าวกลับทำให้เรื่องราวของ Takemasa Moriya อยู่ในความสนใจของสาธารณชนยิ่งขึ้นและกลายเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านหยิบฉวยขึ้นมาโจมตีรัฐบาลทันที
ก่อนที่ Takemasa Moriya จะถูกเรียกตัวเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาและติดตามมาด้วยการบ่ายเบี่ยง ที่จะยืนยัน และปฏิเสธคำกล่าวอ้างก่อนหน้า โดยให้เหตุผลว่าอาจเข้าใจสับสนและคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง
กรณีความฉ้อฉลที่อื้อฉาวครั้งนี้ติดตามมาด้วยข้อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยสัญญาและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้สาธารณชนได้มีโอกาสในการตรวจสอบ
เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา การจัดซื้อ จัดจ้างของกองทัพ มักดำเนินในรูปของความลับ หรือสัญญาลับที่อ้างถึงความมั่นคง เป็นฉากหน้าเสมอ
ข้ออ้างดังกล่าวกลายเป็นประหนึ่งกำแพงที่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นผลให้กองทัพมีสถานะอยู่ห่างจากประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียภาษี และไม่สามารถสร้างหลักประกันในความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งติดตามมาด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงในที่สุด
ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีของ Takemasa Moriya อยู่ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักการเมืองมักตกเป็นเป้าของวาทกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความฉ้อฉล และอยู่ท่ามกลางความสนใจในการตรวจสอบอยู่เสมอ ขณะที่ข้าราชการประจำส่วนใหญ่ ซึ่งกลายเป็น ผู้เพาะบ่มอิทธิพลอยู่ในองค์กรของรัฐอย่างฝังรากลึก กลับอยู่นอกเหนือจากความสนใจตรวจสอบของสาธารณชนไปโดยปริยาย
การยกสถานะ SDA ให้เป็นหน่วยงาน ระดับกระทรวง ด้วยการจัดตั้งกระทรวงกลาโหม Ministry of Defense (จัดตั้งเป็นกระทรวงเมื่อ 9 มกราคม 2007 จากผลของการปรับปรุงกฎหมายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2006)
นอกจากจะเป็นกรณีที่สอดรับกับความพยายามที่จะปรับแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 9 ของรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว
ดูเหมือนว่า ภารกิจของการปฏิรูปการ บริหารภายในองค์กรแห่งนี้จะเป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ
ก่อนที่กรณีของ Moriya ซึ่งเป็นประหนึ่งกาฝากที่แทรกตัวอยู่บนรั้ว และกำลังแทงรากเข้าบั่นทอนความมั่นคงแข็งแกร่งของรั้วกำแพง จะล้มรั้วนี้เสียเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|