|
'บ้านใหม่' ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
วันที่ 3 ธันวาคม 2550 สำนักข่าวไทยรายงานถึงการแถลงผลการหารือระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.เฉา กังชวน รองประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ในตอนหนึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ได้เสนอให้ประเทศจีนช่วยถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อนำความรู้มาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย ซึ่งทาง พล.อ.เฉา รับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...
ท่านผู้อ่านสงสัยไหมครับว่า ทำไมรัฐบาลไทยจึงต้องไปขอความช่วยเหลือขอความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากประเทศจีน? ตอนนี้ประเทศจีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่าไร? และทุกวันนี้สถานการณ์เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศจีนนั้นเป็นอย่างไร?
ณ ปัจจุบันในภาวะที่โลกกำลังตกอยู่ในหล่มของวิกฤติพลังงานจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กอปรกับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นของชาวโลก โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่ที่กำลังเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตน อย่างจีนและอินเดีย
ในช่วงสิบกว่าปีมานี้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่สูงมากมาตลอด อย่างเช่นในปี 2550 มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตเร็วที่สุดในรอบ 13 ปี กล่าวคือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.3
ในฐานะที่พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจีนได้อาศัยแหล่งพลังงานจากถ่านหินและน้ำเป็นหลักในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของตนเอง กระนั้นด้วยข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ที่แหล่งถ่านหินของจีนนั้นกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือทำให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินกลายเป็นหลักในการผลิตพลังงานไฟฟ้าของจีนในภาคเหนือ ขณะที่การผลิตพลังไฟฟ้าจากน้ำนั้นใช้กันมากในพื้นที่ทางตอนใต้
อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเพื่อใช้ในพื้นที่ทางภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายทะเลที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างเช่นพื้นที่ในแถบมณฑลกวางตุ้ง เจ้อเจียง เจียงซู และเซี่ยงไฮ้นั้นแน่นอนย่อมไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งการสร้างเขื่อนยังเป็นการลงทุนที่มีต้นทุนสูงมากทั้งในแง่ของงบประมาณในการก่อสร้าง รวมถึงต้นทุนทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมยกตัวอย่างเช่น ในช่วงนี้มีข่าวคราวปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับโครงการเขื่อนสามโตรกกั้นแม่น้ำแยงซีเกียง ถูกเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ความอัตคัดทางด้านพลังงานในพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศนี้บ่มเพาะให้แนวคิดของการศึกษาเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 70 ของศตวรรษที่ 20 จนในที่สุดตกผลึกเป็นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ 2 โรง ณ อ่าวต้าย่า (Daya Bay) ซึ่งเริ่มการก่อสร้างในช่วงกลางทศวรรษ 80 และเสร็จสิ้นจนเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2537 (ค.ศ.1994)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้าย่าจำนวน 2 โรงดังกล่าวนั้นใช้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จีนได้รับการถ่ายทอดจากบริษัทฝรั่งเศสที่ชื่อ Framatome โดยผลิตกระแสไฟได้ประมาณ 13,000 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ต่อปี โดยจ่ายไฟประมาณร้อยละ 70 ของที่ผลิตได้ให้กับเกาะฮ่องกง และอีกร้อยละ 30 หล่อเลี้ยงมณฑลกวางตุ้ง
นับจากโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ต้าย่า เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จีนได้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ ในแถบพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกในเขตมณฑลกวางตุ้ง (4 โรง) เจ้อเจียง (5 โรง) และเจียงซู (2 โรง) โดยใช้เทคโนโลยีจากหลากหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส (บริษัท Framatome), แคนาดา (AECL), รัสเซีย (ZAO Atomstroyexport) โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้บางส่วนมีส่วนผสมของเทคโนโลยีและการออกแบบของจีนเองด้วย ขณะที่บางโรงไฟฟ้านั้นก็เป็นเทคโนโลยีที่จีนพัฒนาขึ้นเองทั้งหมด
ทั้งนี้ในปัจจุบัน (นับถึงปลายปี 2550) ทั่วประเทศจีนมีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 11 โรง โดยทั้งหมดกระจายอยู่ตามชายฝั่งตะวันออก (ดูแผนที่ Power Reactors in Mainland China ประกอบ)
ปลายเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมาระหว่างการมาเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วันของนิโกลา ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซาร์โกซี และหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนได้เป็นสักขีพยานในการลงนามที่จีนสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัสจำนวน 160 ลำ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรงจากบริษัท Areva ซึ่งเป็นวิสาหกิจด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ในความเห็นของผม อาจกล่าวได้ว่าปี 2550 ถือเป็นปีของจุดเปลี่ยนทิศทางทางด้านพลังงานของจีนที่สำคัญอีกปีหนึ่ง กล่าวคือ ประการแรก ปี 2550 นี้เป็นปีที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จนก่อให้เกิดวิกฤติของการบริโภคน้ำมันขึ้นในบริเวณตอนใต้ของประเทศจีนอย่างรุนแรง ประการที่สอง ปีนี้นับเป็นปีแรกที่ประเทศที่มีทรัพยากรด้านถ่านหินเหลือเฟืออย่างจีน กลายเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าสุทธิถ่านหิน โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม
ประการต่อมา จากสภาวการณ์ที่หลายปีหลังมานี้กระแสความสนใจต่อปัญหาโลกร้อนนั้นพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ด้วยอิทธิพลจากหลายๆ ด้าน ทั้งภายในและภายนอกประเทศบีบให้รัฐบาลจีน นอกจากจะต้องเร่งหาแหล่งพลังงานมาเพื่อหล่อเลี้ยงประเทศให้เพียงพอแล้วยังต้องหันมาคำนึงถึงการสรรหาแหล่งพลังงานที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ประการสุดท้าย จากปัจจัยและข้อจำกัดหลายๆ ประการข้างต้น ทางการจีนจึงตัดสินใจเลือกพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางออกของปัญหาในที่สุด โดยแผนการในระยะกลางและระยะยาวนั้นรัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ว่า จากปัจจุบันที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ภายใน 13 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563 (ค.ศ.2020) สัดส่วนดังกล่าวจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 หรืออีกนัยหนึ่งคือภายในปี 2563 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในประเทศจีนจะต้องมีกำลังในการผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 40 ล้านกิโลวัตต์ และภายในปี 2573 กำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 120-160 ล้านกิโลวัตต์
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น นอกจากในช่วงปลายปี 2550 นี้ จีนจะสั่งซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบความดันสูงรุ่นใหม่ หรือที่รู้จักกันในนาม European Pressurized Water Reactor (EPR) จำนวน 2 โรงที่จะตั้งอยู่ที่มณฑลกวางตุ้งจากบริษัทฝรั่งเศส ที่ชื่อ Areva แล้ว ก่อนหน้านั้นในเดือนกรกฎาคม 2550 จีนก็เพิ่งบรรลุข้อตกลงในการสั่งซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ AP1000 จำนวน 4 โรง มูลค่า 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐ จากบริษัท Westinghouse ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกาไป นอกจากนี้ระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศรัสเซียของเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน จีนกับรัสเซียก็ยังบรรลุข้อตกลงพื้นฐานในการลงทุนระยะที่ 2 ในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เถียนวาน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเหลืองในมณฑลเจียงซู
โดยนัยแล้ว การเดินหน้ากว้านซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกของจีนไม่ได้ผิดแผกอะไรจากการที่จีนกว้านซื้อพลังงานและทรัพยากร ธรรมชาติประเภทอื่นๆ จากทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซ น้ำมัน หรือกระทั่งแร่ยูเรเนียม วัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
รัฐบาลจีนทราบดีว่า ภายใต้ภาวะของโลกในปัจจุบันประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนไม่มีทางเลือกด้านพลังงานอะไรมากนัก ด้วยข้อจำกัดหลายๆ ประการ เช่น ประชากร 1,300 ล้านคนที่ความต้องการใช้พลังงานกำลังเพิ่มขึ้นแบบติดจรวดชนิดที่พลังงานทางเลือกอื่นๆ มิอาจรองรับได้การรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้คงอยู่ในระดับสูงต่อไป ข้อจำกัดทางด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานอื่นๆ เช่น ถ่านหินและพลังงานเขื่อนที่ต่างก็มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูงเกินไป ทั้งอุบัติเหตุในเหมืองถ่านหินในประเทศจีนยังเกิดขึ้นอยู่อย่างถี่ยิบ การกระจายความเสี่ยงทางด้านพลังงาน การจับตาจากชาติตะวันตกที่โจมตีจีนอย่างต่อเนื่องว่า กำลังจะกลายเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนอีกด้วย ฯลฯ
สำหรับจีน ลึกๆ แล้วการหันมาทุ่มเงินเพื่อซื้อเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, แคนาดา และอาจรวมไปถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในอนาคตนั้นในทางหนึ่งนอกจากจะเป็นการเดินหมากเพื่อแก้ไขปัญหาหลายๆ ประการภายในประเทศแล้ว ในอีกทางหนึ่งยังถือเป็นประโยชน์ในการอุดปากบรรดานักการเมืองต่างชาติทั้งหลายที่ขยันวิพากษ์วิจารณ์จีนอยู่อย่างต่อเนื่อง
เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกนั้นตกอยู่ในภาวะซบเซามานานหลายสิบปี นับจากกรณีอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิล เมื่อปี 2529 ทั้งนี้ข้อตกลงในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ Westinghouse และ Areva ได้จากจีนนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นดีลที่ช่วยชุบชีวิตบริษัททั้งสองเลยทีเดียว ทั้งยังเป็นการปลุกชีวิตอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของโลกอีกด้วย
กระนั้นก็ใช่ว่าจีนจะยอมตกเป็นเบี้ยล่างไปตลอด เพราะผมได้ข่าวมาแว่วๆ ว่า ทางจีนเองก็วางแผนระยะยาวเอาไว้ว่า ด้วยเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตะวันตกที่จีนผูกเอาไว้และการทุ่มลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาของตนเองจะทำให้จีนสามารถส่งออกเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในราคาที่ย่อมเยากว่าออกไปขายยังต่างประเทศภายในช่วงราว 15-25 ปีข้างหน้าได้บ้างเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|