SARS effect

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครจะว่า SARS ไม่ดีอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ในมุมที่มีประโยชน์ ก็มีไม่น้อย

อย่างน้อย สังคมไทยจะได้เรียนรู้ระดับยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยสังคมไทยกับสังคมโลก ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นสังคมที่มองและให้ความสำคัญแต่ปัญหาของตนเองมากกว่ามองภาพรวม ทั้งๆ ที่มีความทันสมัยในฐานะลูกค้า ที่ดีของสินค้าแบรนด์ระดับโลก Regional perspective

เหตุการณ์ครั้งนี้ สร้างกระแสสนใจความเคลื่อนไหวในสิ่งที่เรียกว่า regional perspective ในแต่ละวันจะสนใจรายงานขององค์การอนามัยโลก หากศึกษารายงานนี้ทุกวัน จะเห็นภาพความเชื่อมโยงชุมชนชาวจีนที่มีเครือข่ายเข้มข้นในย่านนี้ เครือข่ายนี้เป็นเครือข่ายยุคใหม่ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจ

- ไต้หวันเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงโรค SARS ประเทศหนึ่ง เป็นที่เข้าใจได้ว่าเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่าที่คนทั่วไปคิด ไม่น้อยเหมือนกันที่รู้กันว่ามีความขัดแย้งทางแนวคิดทางการเมือง

- เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่กำลังดำเนินนโยบายว่าด้วยยุทธศาสตร์ ของจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเอาการเอางาน มากที่สุดในทุกประเทศในย่านนี้ก็เป็นได้

ผู้คนที่เดินทางไปมาระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับประเทศของตน ในยุคนี้ล้วนเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มิใช่เป็นความสัมพันธ์ทางเชื้อสายดั้งเดิม เมื่อการเดินทางมากขึ้น ซึ่งเป็นดัชนีหนึ่งของโลกยุคใหม่ ย่อมจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกับข่าวสารความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีปฏิกิริยา และจัดการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคของเรา ซึ่งกระทบประเทศไทยด้วยไม่น้อยเหมือนกัน Competitive advantage of nation

การบริหารวิกฤติของรัฐไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในย่านนี้ ความสามารถนี้เป็นเรื่องที่จับต้องได้และบังเอิญ ผู้ประเมินไม่ใช่สถาบันที่มีผลประโยชน์ร่วมกับรัฐไทย

จึงเป็นเรื่องดีพอประมาณ ที่ไม่ปรากฏกลุ่มคนอีกฝ่ายหนึ่ง ในรูปฝ่ายค้าน ที่อยู่ในรูปนักวิชาการ องค์กรเอกชน ไม่มีใครออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐ เช่นปกติ

โดยปกติสังคมไทยดูเหมือนไม่มีวิธีคิดที่ประเมินผลของการปฏิบัติอย่างมีมาตรฐานหรือไม่ยอมรับมาตรฐาน หากเป็น อีกฝ่ายหนึ่งก็จะได้รับการ วิพากษ์อยู่เสมอ ไม่ว่าทางหนึ่ง ทางใด อันเป็นวัฒนธรรมปกติ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะกลายเป็นเรื่อง ที่ทำให้สื่อตะวันตกขยายความ ต่อๆ กันไปจนเกินเลย วิกฤติการณ์ SARS มีความหมายในมิติที่น่าสนใจ

- เชื้อโรค เป็นภัยที่มีโอกาสเกิดกับทุกคน ไม่แบ่งกลุ่มแบ่งแก๊งและฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้าน เป็นความรู้สึกร่วมที่สุด มากกว่าเรื่องอื่นใดที่ใครๆ เรียกว่า National Agenda

- เรื่องนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ มันเป็นเรื่องยากที่แปรเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องที่ไม่อาจตีความได้หลากหลาย

- เป็นเรื่องระดับโลกหรือ Global Agenda มีตัวละครมากขึ้น มีข้อมูลมาก มายมีความสลับซับซ้อนพอสมควร

Globalization จากนี้ไปไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวเท่านั้น หากจะมีเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าด้านสังคม โรคภัย ภัยธรรมชาติ ภัยจากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องไม่แบ่งแยกรัฐ แต่รัฐจะกลาย เป็นกลุ่มคนที่จัดการในบางเรื่องได้ดีกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

จากนี้ไป Global Agenda จะมี ความสำคัญมากขึ้นกว่า National Agenda ซึ่งจะทำให้ความคิดของคนหลายกลุ่ม ที่อ้างเป็นกลุ่มพลังในสังคมไทย เข้าพิพิธภัณฑ์ไปในที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.