บ้านดินสอ โฮสเทลบ้านเก่า 85 ปี

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

จากบ้านไม้สักทองสองชั้นที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 ในตรอกศิลป์ ถนนดินสอ กลายมาเป็นโฮสเทล เรือนพักแรมสำหรับผู้เดินทางขนาดไม่กี่ห้อง ถูกตาต้องใจชาวต่างชาติ นี่คือธุรกิจที่พักรูปแบบใหม่ที่ยังรักษาภาพเก่าของตัวบ้านไว้ได้อย่างลงตัว

จากปากซอยตรอกศิลป์ คนละฝั่งถนนกับที่ว่าการกรุงเทพ มหานคร ย่านถนนดินสอ เดินตรงไปไม่กี่สิบเมตร เลี้ยวเข้าซอยขวามือแรก ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาจะเห็นป้ายโดดเด่นบอกข้อความว่า "Bann Dinso Hostel" บ้านดินสอ โฮสเทล เป็นเรือนพักแรมสำหรับนักเดินทางขนาด 9 ห้องพัก มีวันชัยและพุทธิมา อัครวิวัฒน์ สองสามี ภรรยาถือครองกรรมสิทธิ์อย่างชอบธรรม

เรือนไม้สักสองชั้นซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 121 ตารางวา ถูกเปลี่ยนมือเจ้าของมาหลายทอดกว่าจะมาถึงมือวันชัยและพุทธิมา โดยที่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าบ้านไม้สักหลังนี้ถูกสร้างขึ้นจริงๆ ในปีไหนกันแน่

จากข้อความที่ปรากฏบนแผ่นโฉนดที่ดินเลขที่ 1607 ซึ่งออก เมื่อวันที่ 22 เดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2465 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามให้ไว้แก่ พระยาวิเศษสงคราม (ช้อย จันทรสนธิ) เจ้าของบ้านและที่ดินหลังนี้คนแรก

ทำให้เจ้าของปัจจุบันพอจะคาดเดาระยะเวลาของตัวบ้าน ได้ว่าอายุก็ล่วงเลยยาวนานตั้งแต่ยุคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรืออายุ 85 ปีเข้าไปแล้ว

เมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่เห็นประกาศขายบ้านจากหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งวันชัยและพุทธิมา ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทกรีนแอคส์ จำกัด ผู้รับออกแบบตกแต่งและก่อสร้าง ก็ตัดสินใจซื้อบ้านหลังนี้มาครอบครองไว้แทบจะทันทีและใช้เวลาอยู่พักหนึ่งในการปรับปรุงสภาพตัวบ้านให้แข็งแรงและสวยงามเหมือนเก่า

ทั้งวันชัยและพุทธิมาให้ทีมงานซึ่งเคยฝากผลงานการออกแบบตกแต่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น อนันตรา รีสอร์ทแอนด์ สปา โกลเด้น ไทรแองเจิ้ล เชียงราย หรือ การรับหน้าที่เป็นผู้ตกแต่งห้องจัดเลี้ยงของโรงแรมบันยันทรีโรงแรมโฟร์ซีซั่น กรุงเทพ เข้ามาปรับเปลี่ยนสภาพบ้านไม้สองชั้น สไตล์โคโลเนียลทั้งหลังนี้ให้เป็นที่พักสำหรับคนเดินทาง หรือที่เรียกกันว่า "โฮลเทล" โดยคงสไตล์ของบ้านเก่าเอาไว้อย่างครบถ้วน

เจ้าของใหม่ทำการสำรวจบ้านเก่า และตัดสินใจรื้อส่วนต่อเติมด้านหลังออกทั้งหมด เนื่องจากสภาพทรุดโทรมจนเกินเยียวยารักษาสภาพของบ้านเก่าเอาไว้ได้

รวมถึงทำฐานรากคอนกรีตใหม่ ขึ้นโครงสร้างของตัวบ้านด้วยเหล็กเสียใหม่ แล้วทำการห่อหุ้มตัวบ้านด้วยไม้ เหมือนกับสภาพเดิมของบ้านไม้สองชั้นหลังเก่า

"จากนั้นขึ้นเสา คาน โครงหลังคา ด้วยไม้ทั้งหมดแล้วจึงจัดแปลนเป็นห้องพัก 4 ห้องพร้อมห้องน้ำ อาคารด้านหน้าซึ่งประกอบด้วยมุขหน้า โถงกลาง ห้องพักด้านล่าง 1 ห้อง บันไดขึ้นชั้นบนและห้องพัก 4 ห้องด้านบน ยังอยู่ในสภาพดีจึงทำการบูรณะให้คงสภาพเดิมเก็บรักษาราวระเบียงไว้

เสริมตัวบันได ลูกตั้ง ลูกนอน ไม้พื้นสักขัดลอกทั้งหลังแล้วลงน้ำยารักษาเนื้อไม้ เสาอาคารที่เปื่อยผุ ตัดต่อเสริมความแข็งแรง สายไฟรื้อทิ้งเดินใหม่ ทั้งหลัง ขณะที่ผนังไม้สักของเดิมเป็นไม้ฝาเข้าลิ้น ถากแต่งด้วยมือ สังเกตได้ที่ แนวคลื่นของเครื่องมือช่างส่วนที่ยังมีคุณภาพดีได้รักษาไว้ ส่วนที่ชำรุดแล้วทำการเสริมแต่งด้วยไม้ใหม่ให้ใกล้เคียงที่สุด" ข้อความนี้ปรากฏเอาไว้ในเว็บไซต์ แนะนำตัวบ้านดินสอ เพื่อบอกเล่าถึงประวัติของตัวบ้าน จุดขายอย่างหนึ่งที่ผู้พักมักเลือกให้ความสำคัญบ่อยครั้ง

ไม่เพียงแต่ตัวบ้านหลังเก่าที่เจ้าของพยายามจะรักษาสภาพภายนอกให้เหมือนกับของเดิมเท่านั้น รายละเอียดปลีกย่อยบางประการ โดยเฉพาะชิ้นส่วน ข้าวของเครื่องใช้ วัสดุตกแต่งตัวบ้าน ทีมงานก็พยายามเลือกให้มีลักษณะใกล้เคียงกับของเดิมที่ใช้อยู่

พุทธิมาบอกว่าสภาพของบ้านเก่ามาก ส่วนที่รักษาได้ก็พยายามรักษาสภาพกันอย่างเต็มที่แต่ส่วนที่รักษาไว้ไม่ได้ก็พยายามเลือกสิ่งที่ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยมีมากที่สุด

ในจำนวนของใหม่ที่ใช้ทดแทนของเก่ามีทั้งกระเบื้องหลังคาที่ผุพัง เจ้าของเลือกใช้กระเบื้องว่าวสีน้ำเงินมารีนของ อ.ป.ก. ขณะที่ลานทางเข้าด้านหน้าบ้านผู้คนจะสะดุดตากับกระเบื้องลวดลายเก่าแก่ด้วยกระเบื้องโบราณของสินพงศธร

นอกจากนี้กลอนประตูทองเหลืองทั้งหมดยังเป็นกลอนโบราณของเดิม แม้แต่กระจกช่องแสงที่ติดกับตัวบ้าน ปัจจุบันเจ้าของบอกว่าหาไม่ได้อีกแล้ว ทีมงานก็ยังคงสภาพของเก่าเอาไว้ในตัวเรือนเช่นเดิม

เมื่อเสร็จสิ้นการแก้ไขและบำรุงรักษาตัวบ้าน ปัจจุบันบ้านดินสอ ชื่อใหม่ที่ตั้งขึ้นตามถนนหลักก่อนเข้าตัวบ้าน กลายเป็นที่พักแรมสำหรับคนเดินทางขนาด 9 ห้องที่เพิ่งเปิดให้บริการได้เพียง 5 เดือน แต่มีแขกที่ส่วนมากเป็นชาวยุโรปที่พบเห็นการประกาศจากตัวเว็บไซต์ท่องเที่ยวและเอกสารเผยแพร่ต่างๆ แวะเวียนมาพักตลอดเวลา

เรือนพักแรมสำหรับคนเดินทางแบบเดียวกันกับบ้านดินสออาจจะมีให้เห็นกันอยู่บ้าง แต่จะมีสักกี่ครั้งที่จะเห็นว่าเจ้าของใหม่พยายามคงสภาพของความเป็นบ้านเก่าได้อย่างพิถีพิถันเช่นนี้ เรือนพักแรมสำหรับคนรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่ใหม่ด้วยสภาพภายนอก เท่านั้น แต่ภายในยังมีของเก่าที่คงสภาพเดิมเอาไว้ให้เห็นด้วยความพยายามมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ที่สำคัญบ้านเก่าอายุเกินกว่า 85 ปีหลังนี้ก็ยังคงสภาพสู้ดินสู้ฟ้าไปอีกยาวนานด้วยการปรับปรุงแก้ไขส่วนผุพังไปแล้วนั่นเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.