|
Exclusive Banking กลยุทธ์อุ้มลูกค้าเข้าสาขาของ ธ.กรุงศรีอยุธยา
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
แนวคิดที่ให้บริการลูกค้าที่มีเงินฝากหรือธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารที่มีเงินเริ่มต้นที่หลักล้าน กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้ถูกยกระดับให้เป็นคนพิเศษ เพื่อดูแลให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน บริการ เช่นนี้ได้ปรากฏให้เห็นมาสักพักหนึ่งแล้ว จะแตกต่างกันก็เพียงแต่ชื่อบริการเท่านั้นที่จะสร้างสรรค์ให้ออกมารูปแบบใด
ล่าสุด ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เปิดตัวบริการ Exclusive Banking ที่เป็นบริการพิเศษให้บริการลูกค้าบุคคลรายใหญ่ที่เงินฝากประจำ หรือเงินลงทุนอื่นที่ซื้อผ่านธนาคารตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป เป้าหมายบริการนี้ก็เพื่อต้องการรักษาสายสัมพันธ์กับลูกค้า และคาดหวังลูกค้าจะใช้บริการใหม่ๆ เพิ่มในอนาคต
ธนาคารได้เลือกเปิดศูนย์บริการดังกล่าวเป็นแห่งแรกที่สาขาออลซีซั่นเพลส ชั้น 1 อาคารแคปิตอล ทาวเวอร์ ถนนวิทยุ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ธนาคารได้เปิดสาขามาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะอยู่ฝั่งตรงกันข้ามภายในตึกเดียวกัน
นอกจากธนาคารจะเลือกเปิดสาขาและศูนย์บริการ Exclusive Banking ที่นี่แล้ว อาคารแห่งนี้ยังเป็นสำนักงานใหญ่ของจีอี มันนี่ ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
ในวันแถลงข่าว 27 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา แม้ว่าในเอกสารจะบอกว่า ตัน คอง คูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้แถลงข่าวเปิดศูนย์บริการใหม่ แต่เขากลับมอบหมายให้รอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าบุคคล เป็นผู้แถลงข่าวแทน และมีแดน ฮาร์ โซโน่ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการตลาดองค์กร ผู้บริหารคนใหม่ เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนั้น และแดนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดบริการ Exclusive Banking ในขณะที่ตัน คอง คูน เพียงแต่เข้ามาทักทายผู้สื่อข่าวเพียงชั่วระยะเวลา สั้นๆ และถ่ายรูปร่วมกับศูนย์บริการใหม่เท่านั้น
ผู้บริหารทั้ง 3 คน ตัน คอง คูน, รอยย์ และแดน นั้นมาจาก จีอี มันนี่ ทั้งหมด การเปิดศูนย์บริการ Exclusive Banking ขึ้นมานี้ก็เพื่อให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว และความคืบหน้าของธนาคาร โดยมี อดีตผู้บริหารจีอี มันนี่ เป็นผู้ดูแล
ศูนย์บริการใหม่ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด จากเดิมเป็นศูนย์โชว์รูมของบีเอ็มดับบลิว โทนสีจะออกเป็นสีน้ำตาลตามสัญลักษณ์ ของธนาคาร ใช้พื้นที่ตกแต่ง 350 ตารางเมตร แบ่งเป็น 6 ห้อง เป็น ห้องรับรองลูกค้าเพื่อพูดคุยเรื่องการเงินโดยเฉพาะ และมีห้องพิเศษที่เรียกว่า HERITAGE ROOM อีก 1 ห้อง เพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการใช้สัมมนาขนาดเล็ก มีเก้าอี้รองรับประมาณกว่า 10 ตัว นอกจากนี้ยังมี โถงขนาดเล็ก มีกาแฟ เครื่องดื่ม มีทีวี นิตยสาร ไว้ต้อนรับลูกค้า
มีพนักงานที่เรียกว่าผู้จัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Relationship Managers : RM) ประจำ 8 คน ที่ให้คำปรึกษาทางด้านการเงินและ การลงทุน อาทิ เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ หุ้นกู้ เอกชน ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน กองทุนรวมประเภทต่างๆ ประกันภัย ประกันชีวิต เงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ เป็นต้น
พนักงานอาร์เอ็มที่ให้คำปรึกษาทางด้านการเงินเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.
ก่อนหน้านี้บริการในรูปแบบดังกล่าว ธนาคาร HSBC ได้เปิดให้บริการเมื่อเดือนพฤษภาคมในปีเดียวกัน ใช้ชื่อบริการ HSBC PREMIER ที่ให้บริการแห่งเดียว บนชั้น 2 อาคารเอชเอสบีซี ถนนสีลม ให้บริการลูกค้าที่เงินฝากตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป แต่แนวคิดของธนาคารแห่งนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ไหน รูปแบบ บริการจะเหมือนกันจากที่มีสาขาทั่วโลก 250 แห่งใน 35 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนั้นยังมีบริการของธนาคารกสิกรไทย ที่ใช้ชื่อว่า signature ที่มีลูกค้าเงินฝากตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป มีศูนย์บริการ 5 แห่ง หรือแม้แต่ซิตี้แบงก์ที่มีบริการที่เรียกว่า city gold
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|