|
Letter from Vietnam...เวียดนาม จุดหมายปลายทางใหม่ของตะวันออกไกล
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 1 ใน 3 ไปเที่ยวเวียดนามเทียบกับเลือกมาเที่ยวไทย แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวไทยแทบจะไม่ขยายตัวเลย ขณะที่เวียดนามกลับได้รับการขนานนามว่าเป็น "จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวโดดเด่นแห่งใหม่ของตะวันออกไกล" นี่คือจุดมุ่งหมายการทำเงินของเวียดนามนอกเหนือจากการการขยายตัวทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น หรือการเติบโตของจีดีพีมากกว่าเลข 8
ผู้โดยสารเกือบครึ่งลำของสายการบินนกแอร์ที่เพิ่งจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้เพียงไม่กี่วัน ร่อนลงรันเวย์ที่สนามบินนอยไบ เมืองฮานอย สนามบินแห่งชาติของเวียดนาม แทบจะนับคนไทยเป็นรายหัวได้ไม่ถึงสิบราย
ขณะที่เกินกว่าครึ่งของที่นั่งโดยสารถูกจับจองโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ทั้งมุ่งหน้ามาต่อเครื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังเวียดนาม หลังจากขึ้นเครื่องมาจากประเทศของตน หรือแม้แต่ตั้งใจไปเที่ยวเวียดนามต่อจากเมืองไทยก็ตามที
ว่ากันว่าการท่องเที่ยวของเวียดนามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก จากเอกสารของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปเวียดนามยังไม่สูงนัก หรือมีจำนวนประมาณ 3.47 ล้านคน ในปี 2548 เพิ่มขึ้น 18.4% เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย ซึ่งประมาณว่าจะมีจำนวนราว 11 ล้านคนในปี 2548 หรือนักท่องเที่ยวที่ไปเวียดนาม คิดเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย
แต่เมื่อย้อนกลับมามองในแง่ของอัตราการเติบโตแล้ว การท่องเที่ยวของไทยแทบจะขยายตัวน้อยมาก ขณะที่ผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้กลับพบว่า นักท่องเที่ยวหลายคนเปลี่ยนเป้าหมายจากการมาเที่ยวไทยไปเที่ยวเวียดนาม อีกทั้งการท่องเที่ยวของเวียดนามกลับมีศักยภาพถึงขนาดได้รับการขนามนามว่าเป็น "จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวโดดเด่นแห่งใหม่ของตะวันออกไกล"
แม้เวียดนามจะเปิดประเทศได้เพียง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ศักยภาพของการท่องเที่ยว ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมแหล่งโบราณสถานเก่าแก่ การท่องเที่ยวเพื่อชมความงดงามทางธรรมชาติและการท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนานยามราตรีในเมืองธุรกิจทั้งในเมืองฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้ เว้ฮอยอัน ดาลัด อ่าวฮาลอง ดานัง หรือเดียนเบียนฟู กำลังเป็นที่จับตามองของประเทศเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันอย่างใจจดใจจ่อ
การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ระบุเอาไว้ในแผนของการเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรที่รัฐบาลเวียดนามพยายามผลักดันมาตลอด โดยเฉพาะกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งระยะยาวและสั้น ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 10 ปี ในช่วงระหว่างปี 2544-2553 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี โดยกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม มุ่งขจัดความยากจน และยกระดับความเจริญให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ซึ่งระบุการพัฒนาโครงสร้างด้านต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมหรือแม้แต่โครงสร้างพื้นฐานการ บริการและการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาคแบบไหนบ้าง เพื่อนำมาซึ่งสิ่งที่ต้องการคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น
ทางการเวียดนามถึงขนาดจัดทำ"แผนแม่บทการท่องเที่ยวเวียดนาม ปี ค.ศ. 2006-2010" เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวนั้นเกิดผลอย่างจริงจัง โดยวางแผนที่จะใช้จ่ายเงินงบประมาณกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวนับตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2553 เทียบกับงบประมาณที่ใช้ไปกับงานเดียวกันในปี 2544-2548 ที่ใช้ไปเพียง 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
"ซาปา" (Sapa) เมืองทางเหนือของประเทศที่มีภูมิประเทศติดกับจีน เป็นตัวอย่างหนึ่งของการบริหารจัดการทางด้านการท่องเที่ยวแบบครบวงจร และมีประสิทธิภาพในแง่ของการทำเงินเข้าประเทศได้ดี นอกเหนือจากนี้ยังเป็นเมืองที่ทำให้เห็นได้ว่าเวียดนามให้ความสำคัญกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการท่องเที่ยวมากมายเพียงใด
แต่เดิมซาปาเป็นเมืองตากอากาศของเจ้านายชั้นสูงชาวฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามายังเวียดนามในยุคก่อนหน้า สถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนและการวางผังเมืองของที่นี่จึงยังคงหลงเหลือให้เห็นว่าเป็นแบบเฟรนช์โคโลเนียล และรัฐบาลก็ยังคงเอกลักษณ์ของสภาพพื้นที่แห่งนี้เอาไว้ได้อย่างครบถ้วน เห็นได้จากการปรับปรุงโบสถ์เก่ากลางเมืองให้มีลักษณะใกล้เคียงกับของเดิม แม้ตึกใหม่จะมีเพิ่มเติมแต่ก็ไม่ได้สูงเสียดฟ้าถึงขนาดบดบังภาพลักษณ์ของเมืองเก่าไปแต่อย่างใด เมืองชายแดนที่อยู่ทางเหนือของจังหวัดลาวก่าย (Lao Cai) ประเทศเวียดนามอย่างซาปา ไม่เพียงแต่มีภูมิอากาศที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากแดนไกลมาได้ตลอดทุกช่วงของปี แต่การจัดการโครงสร้างพื้นฐานดึงสิ่งธรรมดาออกมาเป็นจุดเด่นของตัวเมืองออกมาใช้
ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องระบบการเดินทางที่สะดวกสบายจากฮานอย 8 ชั่วโมงครึ่ง ด้วยระบบรางหรือรถไฟตู้นอน การจัดทำแพ็กเกจสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสบรรยากาศในซาปา ทั้งแบบนอนที่โรงแรม แบบนอนกับชาวบ้านหรือที่เรียกว่าโฮมสเตย์ และผูกเอาการเดินเท้าลงเขาขึ้นเขา ตามสภาพภูมิประเทศ บวกกับจุดเด่นของการทำนาขั้นบันไดในซาปา ทำให้ซาปาไม่เคยร้างราจากนักท่องเที่ยว
เมื่อถึงฤดูกาลของการเพาะปลูก ผู้คนมักหลั่งไหลไปยังซาปา เพราะหวังเพื่อแค่จะเห็นสีเขียวของนาขั้นบันไดที่มากมายละลานตา เก็บภาพแล้วเอากลับมานั่งดูในภายหลัง เป็นจุดขายที่ผู้คนในเมืองนี้เอามาใช้ได้ตลอดทุกปี ขณะที่หน้าเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าม้ง เย้า และอื่นๆ บนพื้นที่ซาปา ก็ทำให้ผู้คนอยากจะไปเก็บภาพเอามานั่งดูได้ไม่แพ้กับช่วงเพาะปลูก
นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อแพ็กเกจทัวร์ที่คิดราคาต่อหัวไม่ถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐ จากทุกๆ โรงแรมหรือที่พักในฮานอย หรือจากเมืองอื่นๆ ซึ่งเป็นต้นทางก่อนมายังซาปา แพ็กเกจที่ว่าบวกทั้งค่าเดินทางไป-กลับ ค่าที่พัก ค่าอาหารและไกด์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาบนพื้นที่ที่มีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษในระดับการสื่อสารเป็นเลิศ
แพ็กเกจท่องเที่ยวหลายวันหลายคืน ช่วยดึงเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ไกด์ซึ่งเป็นชาวเขาอายุไม่ถึง 30 ปี ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ สามารถพูดภาษาอังกฤษได้แตกฉานพอๆ กับภาษาเวียดนาม จะได้รับค่าแรงจากทัวร์ เช่นเดียวกับโรงแรมที่จะได้ค่าห้องจากบริษัททัวร์ ขณะที่ทัวร์จะเป็นผู้ได้รับค่าใช้จ่ายจากการเป็นนายหน้าในการขายแพ็กเกจให้กับลูกค้า ชาวบ้านและคนในท้องถิ่นมีโอกาสได้เงินค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากการสมัครเป็นไกด์ ขายสินค้าพื้นเมืองตามจุดต่างๆ ของเมือง รวมไปถึงเป็นเจ้าของบ้านที่ให้ที่พำนักแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตลอดทั้งปี
ตลอดระยะเวลาของการเดินเขา นักท่องเที่ยวจะเห็นความพยายามของการจัดสภาพของสถานที่ท่องเที่ยวแบบที่ตั้งใจให้เป็นธรรมชาติ คันนาที่วางหินก้อนยักษ์เป็นทางยาวให้นักท่องเที่ยวได้เดินผ่านไปเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตรสุดสายตา
ทางลาดชันของภูเขาที่เป็นทางเดินของชาวบ้านเข้ามาในตัวเมืองซาปา กลายเป็นสินค้าแห่งความท้าทายที่ขายได้ตลอดทั้งปี
ราคาของรถจักรยานยนต์รับจ้างที่มารอรับปลายทางของการเดินเขาระยะสั้นที่คิดราคาสมเหตุสมผล 4 กิโลเมตรของทางขึ้นเขา ขากลับแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ชาวต่างชาติไม่รู้สึกว่าโดนเอารัดเอาเปรียบจากการท่องเที่ยว ทำให้เกิดความประทับใจได้ไม่น้อย แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะพบว่าเวียดนามเป็นเมืองที่ต้องระแวดระวังเรื่องราคาซื้อขายทัวร์อยู่บ้างก็ตามที
แม้จะมีคนบอกว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติได้ แต่สุดท้ายมักมองไม่เห็นระบบการจัดการที่ครบครันเป็นวงจรหมุนกลับรวมมาเป็นเม็ดเงินที่ตกมาอยู่ในมือได้แบบที่ซาปาทำได้
ซาปาเป็นเพียงน้ำจิ้ม ไม่นับอีกหลายสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้ที่เคยไปเยือนเวียดนามจะพบเห็นได้ว่า ระบบการจัดการการท่องเที่ยวนั้นดีสะดวกสบายมากมายเพียงใด
ไปเที่ยวได้ง่าย และสะดวกใจที่จะไป เป็นหัวใจสำคัญที่เวียดนามทำได้ดีทีเดียว
เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สูงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศในเอเชีย รองจากจีน มีอินเดียรั้งท้ายอันดับ 3 เศรษฐกิจเวียดนามยังคงมีแนวโน้มที่จะรักษาระดับการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราราว 8% ต่อไป
ขณะที่เวียดนามเพิ่งจะผ่านการรับรองการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของที่ประชุม WTO เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา ทำให้เวียดนามกลายเป็นสมาชิกใหม่ของ WTO ลำดับที่ 150 หลังจากใช้เวลายื่นเรื่องนานถึง 12 ปีตามพี่จีนที่ใช้เวลานานถึง 14 ปีเต็ม
เอกสารรายงานการวิจัยทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจของเวียดนามระบุถึงความน่ากลัวของแผ่นดินมังกรน้อยอย่างเวียดนามเอาไว้อย่างน่าทึ่ง ยิ่งหลังยุคของการเข้าไปเป็นสมาชิก WTO ทำให้เป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามไม่หลุดไปจากที่วางเอาไว้
การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งสัญลักษณ์เล็กๆ ที่ทำให้เห็นได้ว่า เวียดนามกำลังจะเติบโตได้อีกมากมายเพียงใด และเมื่อเอาทุกอย่างมารวมกันไว้ ทำให้เห็นได้อีกว่า ทำไมใครๆ ถึงเปลี่ยนเป้าหมายการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของตัวเองให้เป็นประเทศเวียดนาม แทนที่จะมาประเทศไทย...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|