|
ปีใหม่เงินสะพัด1.8หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(28 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเทศกาลปีใหม่มีเม็ดเงินสะพัด 1.8 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 10% เหตุประชาชนยังไม่มั่นใจสภาวะเศรษฐกิจปีหน้า ทำให้มีการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของขวัญและงานสังสรรค์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมการฉลองปีใหม่ 2551 ของคนกรุงเทพฯ โดยคาดว่าในช่วงระหว่าง 29 เดือนธันวาคม 2550 - 1 มกราคม 2551 ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด 18,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากคาดว่าผู้บริโภคยังคงเน้นประหยัด โดยผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจปีหน้า และไม่แน่ใจถึงเสถียรภาพทางการเมือง แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วในช่วงปลายปี แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน่าจะยังคงมีความขัดแย้งในทางการเมือง ทั้งนี้ พบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.3 วางแผนลดค่าใช้จ่ายลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อีกร้อยละ 37.8 พยายามคุมค่าใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และมีเพียงร้อยละ 15.9 ที่วางแผนจะเพิ่มค่าใข้จ่ายในช่วงปีใหม่
ทั้งนี้ การใช้จ่ายเม็ดเงินจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นการซื้อของขวัญ งานเลี้ยงสังสรรค์ และการทำบุญของคนกรุงเทพฯจำนวน 7,500 ล้านบาท แยกเป็นการซื้อของขวัญ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 50 ระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันดับแรกที่ต้องลดลงหรือพยายามควบคุมให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่ 1,858.50 บาท ,งานเลี้ยงสังสรรค์ในครอบครัวและญาติพี่น้องใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1,611.78 บาท ,การทำบุญตักบาตรปีใหม่ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 605.61 บาท ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธุรกิจด้านอาหาร การจัดงานเลี้ยง และบริการด้านบันเทิงต่างๆ
นอกจากนี้ เป็นการใช้จ่ายกิจกรรมนอกบ้านจำนวน 2,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.1 วางแผนใช้เวลาในช่วงวันหยุดปีใหม่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งกิจกรรมนอกบ้านของคนกรุงฯที่อยู่กรุงเทพฯอนดับหนึ่งคือ การกินเลี้ยงสังสรรค์ ไปวัดทำบุญ เดินทางไปอวยพรญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1,446.53 บาท มีธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คือ ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าขนาดใหญ่
สำหรับคนกรุงฯที่มีแนวโน้มเดินทางออกจากกรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 48.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เป็นผลจากการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ขณะที่ไปเที่ยวต่างจังหวัดและการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนของคนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวมีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของการเดินทางกลับบ้านเพื่อเยี่ยมญาติทำให้มีเม็ดเงินสะพัด 1,800 ล้านบาท ประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของคนกรุงฯที่กลับบ้านต่างจังหวัดเป็นค่าใช้จ่ายในซื้อสินค้าหรือของฝากญาติพี่น้องในต่างจังหวัด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผลกระทบจากปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัญหาราคาน้ำมัน ทำให้ในปีนี้คนกรุงฯกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือของฝากญาติพี่น้องในต่างจังหวัดลดลง
ส่วนคนกรุงฯที่เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดมีการใช้จ่ายประมาณ 4,200 ล้านบาท โดยกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงปลายปีนี้มีแนวโน้มคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา จากบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศช่วงปีใหม่ที่คึกคัก นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 13.8 วางแผนที่จะเดินทางไปเที่ยวค้างคืนในต่างจังหวัด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบเท่าตัว โดยคนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวค้างคืนในต่างจังหวัดเฉลี่ยคนละ 6,245.90 บาท ประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านราคาน้ำมัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนกรุงฯนิยมท่องเที่ยวต่างจังหวัดโดยการขับรถไปเองมากกว่าการใช้บริการบริษัทท่องเที่ยว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|