งัดเทคโนโลยีพยากรณ์อากาศ สู้ปัญหาน้ำท่วม


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ในรายงานซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม 2001 Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) สรุปปัญหาว่า นับจากทศวรรษ 1950 ถึงทศวรรษ 1990 ทั่วโลกต้องได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากหายนภัยเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว ซึ่งนับรวมถึงภัยธรรมชาติทุกประเภท โดยมีอุทกภัยหรือน้ำท่วมสร้างความเสียหายมากที่สุดในบรรดาภัยที่เกิดจากน้ำด้วยกัน

นิตยสาร Wallpaper ฉบับเดือนธันวาคมยังตีพิมพ์รายงานของ IPCC ต่อไปว่า ทศวรรษ 1990 ถือเป็นทศวรรษที่โลกเผชิญกับความร้อนสูงที่สุดเท่าที่บันทึกได้ โดยปี 1998 เป็นปีที่ร้อนที่สุด

"โลกยิ่งร้อนมากขึ้นเท่าไร น้ำก็ระเหยกลายเป็นไอมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดฝนตกชุกมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งนำไปสู่ภาวะน้ำท่วมรุนแรงขึ้น" Dr.Wolfgang Grabs แห่ง World Meteorological Organization (WMO) อธิบายเสริมให้เห็นภาพชัดขึ้น

นอกจากปัญหาอุทกภัยแล้ว ที่เลวร้ายไม่แพ้กันเห็นจะเป็นสภาพอากาศนั่นเอง มีการพยากรณ์ว่า เมื่อถึงช่วงปลายของศตวรรษนี้ อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นราว 5-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนำไปสู่ภาวะธารน้ำแข็งและภูเขา น้ำแข็งละลายจนก่อให้เกิดน้ำท่วมชายฝั่งทะเล และการก่อตัวของพายุมากขึ้นในประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและตามหมู่เกาะขนาดเล็ก

John Sparrow แห่ง International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies (IFRC) ซึ่งรับผิดชอบร่วมกับทีมแก้ปัญหาภัยพิบัติของแต่ละประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตกเป็น เหยื่ออุทกภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ภาพรวมเกี่ยวกับปัญหานี้ว่า "ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ แต่อยู่ที่การหาทางป้องกันมากกว่า ตอนนี้งบประมาณในส่วนของมาตรการป้องกันมีอยู่น้อยนิดมาก เราจึงต้องการสื่อกับรัฐบาลแต่ละท้องถิ่นว่า สิ่งจำเป็นเบื้องแรกที่ต้องทำคือ การจัดทำแผนงานระดับภูมิภาคเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย"

มาตรการที่เชื่อว่าน่าจะได้ผลดีที่สุดสำหรับการรับมือกับอุทกภัย ในปัจจุบันคือ เทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศ ซึ่งองค์กรต่างๆ อาทิ World Weather Watch, NOAA National Severe Storms Laboratory ในสหรัฐอเมริกา และ European Centre for Medium-Range Weather Forcasts (ECMWF) จึงใช้วิธีรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากภาพถ่ายดาวเทียม เรดาร์ หอสังเกตการณ์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ 10-12 วันล่วงหน้า โดยเน้นที่การสร้างระบบพยากรณ์สภาพอากาศเลวร้ายที่น่าเชื่อถือขึ้นมาให้ได้

"น้ำท่วมฉับพลันจะเกิดในระดับท้องถิ่นและไม่สามารถตรวจพบได้ล่วงหน้า หนทางเดียวที่จะพยากรณ์การเกิดของมันได้ก็คือ สร้างเครือข่ายเรดาร์ตรวจจับสภาพอากาศขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายหนาแน่นดังกล่าว จะมีเฉพาะในเขตชุมชนเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น" Dr.Wolfgang Grabs แห่ง WMO สะท้อนปัญหา

อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์ที่น่าเชื่อถือที่สุดก็มีสิทธิจะไร้ประโยชน์ได้ ถ้ารัฐบาลของแต่ละท้องถิ่นล้มเหลวในการเข้มงวดกับระเบียบการก่อสร้าง การอพยพโยกย้ายผู้คนออกจากเขตน้ำท่วม และการพัฒนาแผนอพยพโยกย้ายที่มีประสิทธิภาพ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.