ดีบีเอสไทยทนุ การปรับเปลี่ยนที่แท้จริงเพิ่งเริ่มต้น


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรก ที่ต้องกลายเป็นธนาคารลูกครึ่ง หลังจากมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อกลางปี 2540 โดยการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 50.27% ของธนาคารดีบีเอส (Development Bank of Singapore) จากสิงคโปร์ ในเดือนธันวาคม 2540

ตลอดเวลา 2 ปีที่ดีบีเอสเข้ามาควบคุมการบริหารในธนาคารแห่งนี้ การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ ที่ปรากฏต่อสาธารณะ เป็นเรื่องนโยบาย ที่เปลี่ยนมามุ่ง เน้นการทำธุรกิจรายย่อย (Retail Banking) โดยการนำเสนอสินค้าทางการเงินใหม่ๆ ออกมามากขึ้น

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรระดับบริหาร ยังมีไม่มากนัก นอกจากการส่งตัวแทนเข้ามานั่งในบอร์ดเพิ่มขึ้ นตามสัดส่วนการถือหุ้น

แต่หลังก้าวพ้นปีใหม่เป็นต้นมา บุคลากรระดับบริหาร ซึ่งเป็นคนไทย และเป็นคนเก่าแก่ ที่ทำงานในธนาคารแห่งนี้มาเป็นเวลาช้านาน เริ่มทยอยลาออกมากขึ้น

เริ่มตั้งแต่ปกรณ์ ทวีสิน ที่ขอเกษียณตัวเองในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ตามมาด้วยนิติกร ตันติธรรม ที่ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริหารความเสี่ยง ในวันที่ 24 มกราคม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ขรรค์ ประจวบเหมาะ ซึ่งอยู่กับธนาคารแห่งนี้มาถึง 23 ปี ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และรองกรรมการผู้จัดการ

นับเป็นความเปลี่ยนแปลง ที่น่าจับตายิ่ง

ว่ากันว่า การที่ผู้บริหารชาวไทย ทั้ง 3 คน ได้ตัดสินใจถอนตัวจาก ธนาคารแห่งนี้ ทั้ง ที่อยู่ร่วมชายคามาเป็นเวลาหลายปี มีสาเหตุมาจากการที่ไม่สามารถรับนโยบาย ที่ถูกส่งมาจากดีบีเอส สำนักงานใหญ่ ที่สิงคโปร์ได้

โดยเฉพาะนโยบายปรับลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยการลดจำนวนพนักงาน และการปิดสาขาทั่วประเทศจำนวน 35 แห่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อ พนักงานเป็นจำนวนถึง 1,200 คนที่ต้องออกจากงานก่อนกำหนด

เหตุผลที่ดีบีเอส สำนักงานใหญ่ ต้องตัดสินใจออกนโยบายดังกล่าว มีการวิเคราะห์กันว่า เนื่องจากผลประกอบการของธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังไม่ดีขึ้น แม้ว่า ดีบีเอสจะเข้ามาควบคุ มการบริหารงานอย่างเต็มตัวแล้ว

ประกอบกับดีบีเอส ที่สิงคโปร์ มีแผนการที่จะเข้ามาประมูลซื้อธนาคาร นครหลวงไทยจากรัฐบาล ซึ่งหากประมูลได้ ก็จะต้องมีการจัดทัพกันใหม่ เพื่อรองรับกับการรุกเข้ามาทำธุรกิจการเงินในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องลดขนาดของดีบีเอสไทยทนุลงมา เพื่อเตรียมพร้อมรับการจัดทัพดังกล่าว

ผลของการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้พนักงานส่วนหนึ่งของธนาคาร ตัดสินใจรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ โดยหวังว่าจะใช้องค์กรสหภาพ เป็นเครื่องมือต่อรองกับผู้บริหาร โดยเฉพาะเรื่องของสภาพการจ้างงาน ที่คาดว่าจะมีนโยบายอื่ นๆ ออกมาอีกในอนาคต

จากความเคลื่อนไหวของพนักงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ ผ่านมา พรสนอง ตู้จินดา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ต้องออกมาแถลงข่าวยอมรับว่ารู้สึกเจ็บปวด ต่อนโยบายลดพนักงาน แต่ก็จำเป็น จะต้องใช้นโยบายนี้ เพราะไม่มีทางเลือก

"เราต้องหยุดการขาดทุน ที่เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมาให้ได้ และทำให้ธนาคารกลับมามีกำไรโดยเร็วที่สุด"

ตามเป้าหมายของพรสนอง ดี บี เอสไทยทนุจะมีสาขาทั่วประเทศเหลือ 50 สาขา และเหลือพนักงานทั้งหมดเพียง 1,850 คน

"ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของผม ยอมรับว่าถูกกดดัน แต่ผมก็มีความสุขกับการทำงานกับดีบีเอส" พรสนองยอมรับกับนักข่าว

ซึ่งเป็นเรื่อง ที่คงต้องติดตามต่อไปว่าทิศทางของธนาคารลูกครึ่งแห่งแรกนี้ จะเป็นอย่างไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.