โบรกฯมอง PTTAR แข็งแกร่ง ครบวงจรโรงกลั่นอะโรเมติกส์หลังคลอด


ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากพูดถึงเรื่องควบรวมกันมานาน ปัจจุบันหุ้นของ บมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย)(ATC) และ บมจ. โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) ได้หยุดทำการซื้อขายแล้วเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของการควบรวมกิจการ ซึ่งหลักทรัพย์ใหม่จะจดทะเบียนภายใต้ชื่อ บมจ. ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) โดยจะดำเนินธุรกิจกลั่นน้ำมันและจัดหาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป ซึ่งประกอบด้วย น้ำมันสำเร็จรูปชนิดเบา น้ำมันสำเร็จรูปกึ่งหนักกึ่งเบา และน้ำมันสำเร็จรูปชนิดหนัก และกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ และจะกลับมาซื้อขายอีกครั้งในวันที่ 2 ม.ค. 2551

บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เกียรตินาคิน ประเมินว่า หลังควบรวมกิจการแล้วบริษัทจะมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตให้สอดคล้องกับแนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์บางส่วนสามารถนำกลับมาใช้ในการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก

สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีจะมีการผลิตสารอะโรเมติกส์ในรูปของ สารเบนซีน โทลูอีน และสารไซลีน ซึ่งประกอบไปด้วยสารพาราไซลีน สารออร์โทไซลีน และสารมิกซ์ไซลีน โดยกำลังการผลิตหลังควบรวมกิจการ และโครงการอะโรเมติกส์แห่งที่ 2 จะทำให้ PTTAR มีกำลังการผลิตสารอะโรเมติกส์รวม 2.23 ล้านตันต่อปี และโครงการ Phenol และโครงการ Cyclohexane ซึ่งการนำเอาสาร Benzene ที่ได้จากกระบวนการผลิตใน ATC 1 และ 2 มาเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ยังมีธุรกิตผลิตไฟฟ้า และไอน้ำ รวมถึงธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของบริษัทในกลุ่ม PTT โดยเป็นการลงทุนใน PTTUT และ PTTICT ตามลำดับ

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ทั้งปิโตรเลียม และอะโรเมติกส์ จะมีสัญญาขายกับทาง PTT ขณะที่ผลิตภัณฑ์บางส่วนสามารถนำกลับมาใช้ในการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก เช่น Reformate ที่ได้จากกระบวนการกลั่นของ RRC สามารถไปผลิตเป็นสารอะโรเมติกส์ได้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการลดความผันผวนของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ ทำให้บริษัทสามารถมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตให้สอดคล้องกับแนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้น ถือเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการควบรวมกิจการ

ด้านแผนงานในอนาคตหลังควบรวมกิจการจะเป็นการลงทุนขยายกำลังการผลิตของ ATC 2 ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังผลิตของโรงงาน ATC อีก 1.04 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการผลิตอะโรเมติกส์จาก Reformate ที่จากกระบวนการกลั่นน้ำมันจากโรงกลั่น RRC มูลค่าโครงการประมาณ 551 ล้านเหรียญ ด้าน RRC จะลงทุนในส่วนของ Reformer Unit ช่วยในการแยก Condensate กับ Reformate และโครงการ Upgrading Unit ซึ่งผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจาก Condensate Residue ด้วยมูลค่าโครงการกว่า 522 ล้านเหรียญ โดยปัจจุบันทั้ง 3 โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ประมาณไตรมาส 3 ของปี 2551

สำหรับโครงการ ATC Revamp 1 เป็นการเพิ่มกำลังการผลิตสารพาราไซลีนของ ATC 1 จาก 5.4 แสนตันต่อปี เป็น 5.7 แสนตันต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 27 ล้านเหรียญ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ประมาณไตรมาส 3 ของปี 2551 ส่วนโครงการ Condensate Tank สำหรับโครงการ Reformer Unit เป็นการก่อสร้างถังบรรจุ Condensate ประมาณ 3 ถัง ขนาดบรรจุรวม 240,000 ตัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในโครงการ Reformer Unit ซึ่งปัจจุบันต้องเช่าจากผู้ประกอบการรายอื่นอยู่ คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 30 ล้านเหรียญ และคาดว่าจะสร้างเสร็จประมาณ Q3/51 และจะพร้อมกับโครงการ Reformer Unit

ดังนั้นจึงให้น้ำหนักการลงทุน รวมทั้งมองว่า PTTAR จะมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นหลังการควบรวมกิจการในปี 2551 โดยความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจที่ดีขึ้น จากความยืดหยุ่นของบริษัทในการผลิตที่ดีขึ้น ลดความผันผวนของประกอบการลง ประเมินราคาที่เหมาะสมปี 2551 ของ PTTAR ไว้ที่ 62 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.