|
“ปตท-โบรกฯ”ชี้คืนท่อก๊าซไม่กระทบหวั่นสหพันธ์ฯจิกไม่เลิก-ต่างชาติกระเจิง!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ปตท.รับสภาพเดินหน้าตามคำสั่งศาลฯ พร้อมคืนสิทธิ-อำนาจของรัฐ-ท่อก๊าซ 3 เส้นทางให้คลัง พ้อหนี้สินที่เกิดขึ้นต้องแบกรับฝ่ายเดียว จวก “องค์กรผู้บริโภค” ได้คืบจะเอาศอกเดินหน้าเล่นฟ้องดะไม่กลัวประเทศชาติเสียหายทำนักลงทุนทั้งไทย-นอกผวา.! ขณะที่โบรกเกอร์เชื่อโอนคืนท่อกาซ 3 เส้นทาง ปตท.กระทบเพียงเล็กน้อย ด้านองค์กรผู้บริโภคยังเดินหน้าเช็คบิล ปตท.ถึงที่สุด ฟันธง“ปตท.-รัฐบาล.” ฮั้วกันเองเรื่องค่าเช่า
เป็นข่าวทอล์กออฟเดอะทาวน์ในช่วงนี้สำหรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีแปรรูปปตท.เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมาโดยคำพิพากษาดังกล่าวแม้ไม่ให้ยกเลิกแปรรูปปตท. แต่ก็ให้ปตท.คืนท่อก๊าซ 3 เส้นทาง (บางปะกง-วังน้อย ,ชายแดนพม่า-บางปะกง,ราชบุรี-วังน้อย) แก่กระทรวงการคลัง ซึ่งทำให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงานและผู้บริหารปตท. เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้และนำเสนอคณะรัฐมนตรีชี้ขาดเมื่ออังคารที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สิน การโอน ค่าเช่า เบื้องต้นและทำให้สามารถเปิดขายหุ้นปตท.ได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด
ขณะที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคยังเดินหน้าจะฟ้องเรียกค่าเสียหายแพ่งและทางอาญาต่อไป ขณะเดียวกันมีแนวโน้มว่าองค์กรรัฐวิสาหกิจอื่นๆอาทิ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ MCOT, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) หรือ กสท. และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOTเป็นต้น จะถูกฟ้องในเรื่องการแปรรูปที่มิชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ปตท.เดินหน้าโอนคืนท่อก๊าซ
รายงานข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบุถึงความคืบหน้าโอนท่อก๊าซคืนแก่รัฐว่า ปตท.จะยึดตามหลักของคำพิพากษาอย่างเคร่งครัดโดยปตท.ต้องโอนทรัพย์สินคืนได้แก่ 1.)ที่ดินเวนคืน 32 ไร่ที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้โอนให้แก่ บมจ.ปตท. 2.)สิทธิการใช้ที่ดินของเอกชนเพื่อการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อที่โอนให้แก่ บมจ.ปตท. 3.ทรัพย์สินระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติประกอบด้วยท่อก๊าซ (3 เส้นทาง บางปะกง-วังน้อย ,ชายแดนพม่า-บางปะกง,ราชบุรี -วังน้อย) รวมทั้งวัสดุและอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติอันเกิดจากการใช้อำนาจมหาชนเหนือที่ดินของภาคเอกชน
ส่วนทรัพย์สินที่ปตท.ได้มาโดยมิได้ใช้อำนาจมหาชนแต่ได้มาโดยวิธีการอื่นเช่น การซื้อ จัดหา หรือแลกเปลี่ยนตามมาตรา 7 (1)แห่งพ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511นั้นไม่ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ โดยปตท.มีการบันทึกบัญชีทรัพย์สินอย่างถูกต้องครบถ้วนโดยมีสำนักงานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เป็นผู้ตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันการแบ่งแยกทรัพย์สินตามที่ศาลสั่งจึงสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ได้
ชี้องค์กรผู้บริโภคป่วนชาติพัง.!
“ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่มูลค่าในการโอนทรัพย์สินหรือ มูลค่าในตลาดหุ้นที่ลดลง คือหากมีตัวเลขออกมาตรงๆว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ปตท.ก็พร้อมจ่ายอยู่แล้ว เพื่อให้ทุกอย่างจบและเดินไปข้างหน้าได้ แต่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกลับไม่อยากหยุดยังจะเดินหน้าตอแยปตท.ไปเรื่อยๆโดยไม่คำนึงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศตอนนี้นักลงทุนต่างประเทศเริ่มกังวลมากขึ้นต่อกรณีดังกล่าวเพราะตอนนี้องค์กรดังกล่าวยังจะทำทุกทางเพื่อหยุดปตท.ให้ได้นี่คือสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด”แหล่งข่าวระดับสูง ระบุ
อย่างไรก็ดีคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนจึงจะโอนเสร็จสิ้นซึ่งในรายละเอียดการโอนจะต้องมีฝ่ายกฎหมายของรัฐ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาดูรายละเอียดในเรื่องหลักเกณฑ์การโอนท่อก๊าซ ทั้งการประเมินราคาสินทรัพย์ ค่าเช่าท่อ และอื่นๆ
กรมธนารักษ์คิดค่าเช่าเท่ากฟผ.
ส่วนเรื่องค่าเช่าท่อก๊าซนั้น ทางกรมธนารักษ์จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เหมือนกับการคิดค่าเช่าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และท่าอากาศยานไทยที่คิดประมาณร้อยละ 2- 5 มูลค่ารายได้ต่อปี
“ภาระหนี้ที่เกิดจากการสร้างท่อก๊าซไม่มีผู้ใดที่จะช่วยรับผิดชอบกับปตท.มีแต่บอกให้โอนท่อก๊าซคืนแต่ภาระหนี้สินยังอยู่กับปตท. ซึ่งเจ้าหนี้ต้องเรียกคืนหนี้อยู่ดีไม่มีใครรับโอนหนี้จากปตท.ภาระตรงนี้ยังคงเป็นของปตท.”แหล่งข่าวยืนยัน
ค่าโอนท่อเส้น1-2 แค่ 2.8 พันล้าน
ด้านบมจ. หลักทรัพย์ทรีนีตี้ วิเคราะห์ว่าความน่าจะเป็นสูงสุดของกรณีแยกท่อก๊าซครั้งนี้โดยท่อก๊าซทั้ง 3 เส้นมูลค่ารวมกัน 101,000 ล้านบาทคือท่อเส้นที่ 1 (บางปะกง-วังน้อย) ท่อเส้นที่2 (ชายแดนพม่า-บางปะกง) จะใช้วิธีการโอนทรัพย์สินกลับไปแล้วเช่ากลับคืน(Transfer and Lease Back)โดยโอนสินทรัพย์ท่อก๊าซเส้นที่ 1 และ 2 คืนให้กระทรวงการคลัง และหลังจากนั้นเช่าคืนกลับมาใหม่เพราะมีความเหมาะสมและยุติธรรมกับภาครัฐและเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น ปตท.มูลค่าของท่อก๊าซเส้นที่ 1 เท่ากับ 9,000 ล้านบาทและท่อก๊าซเส้นที่ 2 เท่ากับ 19,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 28,000 ล้านบาทหากมีการโอนกลับไปคาดว่าอาจต้องเสียภาษีการโอนประมาณ 10% คิดเป็น 2,800 ล้านบาท
ขณะที่ท่อก๊าซเส้นที่3 (ราชบุรี-วังน้อย) จะใช้วิธีทางบัญชีว่าการขายคืนให้กระทรวงการคลังและเช่ากลับคืนมา (Sell and Lease Back) เพราะเงินที่ใช้สร้างท่อก๊าซเส้นที่ 3 เป็นเงินระดมทุนจากเจ้าหนี้และส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่บมจ.ปตท.ได้มาหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วโดยท่อเส้นที่ 3 มูลค่า73,000 ล้านบาทเป็นสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นหลัง ปตท. เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เงินสร้างท่อมาจากเจ้าหนี้และส่วนของผู้ถือหุ้น
คืนท่อเส้น 3 แต่ขอเช่าสัมปทานต่อ
ดังนั้นการคืนกลับไปต้องได้รับการชดเชย คาดว่าจะทำได้โดยวิธี Sell and Lease Back เพื่อโอนความเป็นเจ้าของจากปตท.ให้รัฐบาลเป็นเจ้าของท่อแทนและ ปตท.ขอเช่ากลับมาใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจเดินก๊าซผ่านท่อต่อไปเชื่อว่าท่อส่วนนี้จะไม่มีการโอนกลับไปเฉย ๆ เพราะมิฉะนั้นจะถูกเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นฟ้องกลับฐานก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่ได้รับการชดเชยได้ส่วนนี้เราเชื่อว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นบ้างแต่ไม่น่าจะสูงนัก
หวั่น‘รบ.-ปตท.’ฮั้วค่าเช่าผ่านท่อ
ด้านสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวถึงการเดินหน้าฟ้องร้องในคดีปตท.ว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 ธ.ค.) ทางองค์กรผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองในกรณีที่ศาลฯได้พิพากษาให้ปตท.โอนคืนท่อก๊าซทั้ง 3 เส้นและคืนอำนาจ สิทธิเวนคืนของภาครัฐกลับไปยังรัฐบาลเพราะกลัวว่าการประชุมครม.วันอังคาร (18ธ.ค.)จะเกิดการฮั้วกันเองระหว่างรัฐบาลและปตท.ทำให้ผลประโยชน์ไม่ตกแก่ประชาชนที่แท้จริง ซึ่งทางศาลฯก็ให้เหตุผลว่าต้องให้เวลาปตท.และรัฐบาลจัดการเรื่องดังกล่าวก่อนโดยยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราวไป
ส่วนการประเมินทรัพย์องค์กรผู้บริโภคมองว่ารัฐบาลและปตท.มีข้อพิรุธคือเร่งรีบสรุปเรื่องต่างๆภายใน 2 วันเพื่อนำเข้าครม.เมื่อวันอังการที่ผ่านมา ทั้งที่ความชัดเจนในเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินควรจะมีคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สภาทนายซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะเกิดการฮั้วกันเองระหว่างปตท.และรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังดูแลกรม ธนารักษ์อาจจะมีการคิดค่าเช่าที่ถูกกว่าความเป็นจริงก็ได้
ขณะที่การเปิดการซื้อขายหุ้นปตท.ในตลาดหุ้นตามปกตินั้นยังไม่สมควรจนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องการโอนทรัพย์สิน
ส่วนการเดินหน้าฟ้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆไม่ว่าจะเป็น AOT, MCOT, กสท. นั้นคงต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนและดูรายละเอียดข้อกฎหมายต่างๆก่อน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|