เอสเอ็มอีแบงก์เปิดแผนงานปี'51 วางเป้าปล่อยสินเชื่อ2.7หมื่นลบ.


ผู้จัดการรายวัน(25 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เอสเอ็มอีแบงก์เปิดแผนงานปี 2551 วางเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 2.7 หมื่นล้านบาทเพิ่มจากปีนี้ที่คาดจะปล่อยได้ทั้งปี 2.5 หมื่นล้านบาท ยอมรับปีนี้พลาดเป้าหมื่นล้านบาทเหตุเศรษฐกิจชะลอตัวสูง ขณะที่ปีหน้าเอสเอ็มอียังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้านโดยเฉพาะน้ำมัน เล็งแผนระดมเงินจากหลายที่หวังปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย( เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 2551 ตั้งเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาทจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.5 หมื่นล้านบาท ลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL เฉลี่ย 33-35% จากเฉลี่ยขณะนี้อยู่ระดับ 50% โดย จะเน้นปล่อยสินเชื่อที่จะกระจายไปยังกลุ่มภาคการผลิต อุตสาหกรรมบริการ เทรดดิ้ง การเกษตรให้มากขึ้น

"เดิมทีปีนี้เราตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อไว้ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทก็ถือว่าไม่เป็นไปตามแผนเพราะเดิมคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวแต่ปรากฏว่าชะลอตัวลงมาก และปีหน้าเองก็มีปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจพอสมควรไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ปัญหาสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือซับไพร์ม ที่จะต้องเหนื่อยกันอีก"นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้วันที่ 26 ธันวาคมนี้คลังจะเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 1,200 ล้านบาทจากที่ขอไป 2,500 ล้านบาทดังนั้นเป้าหมายในปีหน้าได้วางยุทธศาสตร์ที่จะสรรหาเงินกู้ที่เป็นดอกเบี้ยต่ำ 6-7% ในการปล่อยกู้ซึ่งมองจาก 3 แหล่งได้แก่ 1.เงินฝากของประชาชนเช่น ธนาคารออมสิน ประกันสังคม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือธ.ก.ส. เป็นต้น 2. ของบประมาณรัฐบาลสนับสนุนเป็นพิเศษ 3. การออกพันธบัตรซึ่งวางแผนที่จะออกประมาณ 3 หมื่นล้านบาทระยะเวลา 3-5 ปี โดยคงจะต้องดูจังหวะการออกที่เหมาะสมด้วย

สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรขณะนี้ถือว่าได้มีการปรับไปพอสมควรแล้วโดยเฉพาะขนาดของพนักงานได้ลดลงจาก 1,900 คนเหลือ 1,700 คันซึ่งจะทำให้มีขนาดที่เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างรอผลสรุปจากบริษัทที่ปรึกษาในการประเมินขนาดองค์กรที่เหมาะสมในเดือนม.ค. 2551 อีกครั้งซึ่งก็จะทำให้เอสเอ็มอีแบงก์เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า แผนงานสำคัญอีกแผนหนึ่งในปี 2551 คือการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสคบ.ที่จะปล่อยสินเชื่อในการส่งเสริมฯให้ผู้ผลิตหม้อต้มก๋วยเตี๋ยว หรือหม้อซุบที่มีการใช้สารตะกั่วในการปัดกรีรอยต่อทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคระยะยาว โดยได้เตรียมวงเงินไว้ 5,000 ล้านบาทที่จะให้โรงงานเปลี่ยนเครื่องจักรผลิตที่ทำจากสแตนเลสสตีลที่ไม่มีรอยต่อ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.