ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่วิศวกรไทยคนหนึ่งกาวขึ้นมาระดับสูง
ในสายงานอาชีพที่ตั้งใจมาตั้งแต่เด็กด้วยความสามารถของตนเอง
"วิศวกรรมศาสตร์" เป็นความใฝ่ฝันของอรพงศ์ เทียนเงิน ว่าจะต้องสอบเอ็นทรานซ์เพื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยให้ได้
เพราะเขามองว่ามีประโยชน์และสามารถทำงานได้หลากหลายธุรกิจ
"ผมชอบวิศวกรมาตั้งแต่เด็กและคิดมาแล้วว่าต้องเรียนด้านนี้อย่างเดียว เมื่อจบไปแล้วจะได้ใช้ความรู้หรือไม่ก็ตาม"
เขาเล่า
ความใฝ่ฝันของเขาเป็นจริงเมื่อสอบ เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสานฝันตัวเองอย่างแท้จริง "วิศวกรรมเป็นวิชาฝึกฝนที่ดี
สอนให้คนมีความคิดเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมี Logic ในการสร้างเหตุผล"
ปี 2527 อรพงศ์ตัดสินใจเดินทางไปรัฐเพนซิลวาเนีย เพื่อศึกษาระดับปริญญาโทด้าน
Manufacturing Systems Engineering and Business Adminis-tration ที่ Lehigh
University ด้วยทุนส่วนตัวจนสำเร็จการศึกษา จากนั้นเข้าทำงาน ที่ Caterpillar
ในฐานะ Manufacturing Engineer ซึ่งเป็นบริษัทแรกในชีวิตการทำงาน แต่เขาใช้เวลาเพียงปีเดียวก็ลาออก
เพื่อไปทำงานกับ Boeing ผู้ผลิตเครื่องบิน ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
อรพงศ์ทำงานที่โบอิ้ง 3 ปี ก็ตัดสิน ใจลาออกมาร่วมงานกับ The Iacocca Institute
ตำแหน่ง Technical Program Manager โดยสถาบันแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นช่วงปลายทศวรรษ
ที่ 1980 เพื่อสนับสนุนบรรดาบริษัทสัญชาติอเมริกันให้มีศักยภาพเชิงการแข่งขันในตลาดโลก
เนื่องจากญี่ปุ่นสามารถผลิตสินค้ามีคุณภาพ จนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
"เหตุการณ์นี้ทำให้อเมริกาย่ำแย่ ทำให้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งรวมตัวกันตั้ง
Think Tank ขึ้นมา โดยบริษัทแต่ละแห่งส่ง ผู้บริหารระดับสูงมาช่วยกันคิดว่าอุตสาหกรรมในอเมริกา
ควรจะต้องทำอะไรเพื่อรักษาความได้เปรียบเอาไว้" อรพงศ์อธิบาย
จากการมีโอกาสเข้าร่วมทำงานในสถาบันที่ถูกจัดตั้งเป็นพิเศษดังกล่าว ทำให้เขาได้ประสบการณ์อย่างมาก
ยิ่งไปกว่านั้นได้รู้จักกับพาร์ตเนอร์คนหนึ่ง ของเอคเซนเชอร์ (Accenture)
บริษัทที่ปรึกษาที่เข้ามาร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ในการจัดการกับปัญหา
"ผมเลยถูกทาบทามให้มาทำงานที่เอคเซนเชอร์ และไม่ปฏิเสธ"
ปี 2538 อรพงศ์กลายเป็นพนักงาน ของเอคเซนเชอร์ ในฐานะ Knowledge Manager
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอ นิกส์และไฮเทค โดยประจำที่สำนักงาน Palo Alto
แคลิฟอร์เนีย ศูนย์กลางด้านกลยุทธ์ทางเทคโนโลยีของบริษัท
ด้วยภารกิจที่ต้องรับผิดชอบบริการ ลูกค้าทั่วโลกทำให้เขามีโอกาสเห็นการทำงานในประเทศต่างๆ
ค่อนข้างมาก โดย เฉพาะอย่างยิ่งลักษณะวัฒนธรรมขององค์กร "ประสบการณ์แตกต่างกันมาก
เช่น ในอเมริกาไม่ต้องระวังอะไรมาก เพราะเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ทุกคนพร้อมที่จะรับฟังไม่ว่าระดับไหน
ขณะที่ยุโรปค่อนข้างจำกัดเรื่องนี้ ส่วนแถบเอเชียต้องระมัดระวังอย่างมาก"
หลังจากทำงานที่แคลิฟอร์เนียระยะหนึ่ง อรพงศ์ต้องเดินทางไปให้บริการ ลูกค้าธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในเกาหลีใต้
ด้าน Supply Chain Management จากนั้นกลับไปประจำที่เดิม และถูกดึงตัวไปให้บริการลูกค้าทั่วโลก
"ทำงานมาแล้ว 10 ประเทศ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาชนชาติที่ทำงานด้วยยากที่สุด
คือ เกาหลีใต้ เพราะคนเกาหลีมีการแข่งขันและตั้งใจอย่างมาก"
หากพิจารณาประสบการณ์การทำงานของอรพงศ์นับว่ารวดเร็วมากสำหรับการเป็นมืออาชีพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับความไว้วางใจในองค์กรที่มีบทบาทระดับโลกอย่างเอคเซนเชอร์
สังเกตได้จากการที่เขาถูกส่งตัวมาประจำที่สำนักงานประเทศไทยในปี 2540
การกลับมารับผิดชอบตลาดในประเทศไทยของอรพงศ์ครั้งนี้เป็นความสำเร็จในชีวิตการทำงานของเขา
เพราะได้รับการโปรโมตให้เป็นกรรมการกลุ่มธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมและไฮเทค
ถือได้ว่าเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ได้รับตำแหน่งนี้ค่อนข้างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ช่วงสามปีแรก เขานั่งทำงานที่สิงคโปร์ตลอด เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจส่งผลให้โครงการขนาดใหญ่
ที่เอคเซนเชอร์เข้าไปให้บริการจึงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย
ออสเตรเลีย ไต้หวัน ฮ่องกง รวมถึงปากีสถาน
จนกระทั่งปี 2543 อรพงศ์จึงได้เข้ามารับผิดชอบตลาดเมืองไทยอย่างเต็มตัว
และกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผลักดัน ให้ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
"ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้ขยายตัวอย่างมาก หากพิจารณาตลาดโทรศัพท์มือถือที่พวกเราเข้าไปทำงาน
ให้ประมาณ 2 ปีที่แล้วมีลูกค้า 1-1.5 ล้านราย แต่ทุกวันนี้เพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ
11 ล้านราย"
หากพิจารณาช่วงระยะเวลาดังกล่าว ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของไทยเติบโตขึ้น
ถึง 50 เท่า ด้วยปัจจัยประกอบหลายอย่าง อาทิ ด้านซัปพลาย เทคโนโลยีก้าวหน้ามาก
ขึ้น ขณะที่ราคาของอุปกรณ์ถูกลง ทำให้ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อและง่ายต่อการใช้เพิ่มขึ้น
"ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและไฮเทคเลยเติบโตอย่างชัดเจน" อรพงศ์บอก
กระนั้นก็ดี ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและไฮเทคมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ส่งผลให้ผู้เชี่ยว ชาญคาดเดาลำบากถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจ แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนในปัจจุบัน
คือ ตลาดเริ่มเติบโตช้าลง จากตัวเลขจดทะเบียนใหม่ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือลดลง
อีกทั้งกฎระเบียบใหม่ๆ หลังจากรัฐบาลแปรรูปธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งต้องรอว่าจะออกมาลักษณะอย่างไร
หรือรูปแบบ ของการดำเนินธุรกิจของโอเปอเรเตอร์ว่าจะแข่งขันหรือร่วมมือกันอย่างไร
แต่ด้วยเทคโนโลยี รวมถึง Application ใหม่ๆ ที่ออกมาจึงเป็นส่วนผลักดันให้ตลาดคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง
เมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลเสียหายต่อผู้ประกอบการ ประกอบกับการเข้ามาของคู่แข่งขันรายใหม่
ดังนั้นผู้เล่นเดิมต้องการความเปลี่ยนแปลงและพยายาม หาความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
จึงเป็นโอกาส ของเอคเซนเชอร์ที่เข้าไปให้บริการ
"พวกเราเข้าไปช่วยด้านกลยุทธ์ทิศทางว่าบริษัทลูกค้าควรจะทำอย่างไร จะนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้
วางเป้าหมายส่วนไหนของตลาด ช่วยวิเคราะห์ว่าองค์ประกอบของผู้บริโภคเป็นอย่างไร
รวมถึงช่วยเปลี่ยนระบบการทำงาน ไม่ใช่ให้เฉพาะ ซอฟต์แวร์ฮาร์ดแวร์ ยังเข้าไปดูโครงสร้างการทำงานแล้วเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิ
ภาพมากขึ้นเพื่อให้ตรงความต้องการของตลาด และเข้าไปจัดการเปลี่ยนแปลงจัดระบบองค์กร
พัฒนาบุคลากร เนื่องจากตลาดและการแข่งขันเคลื่อนไหวตลอดเวลา" อรพงศ์อธิบาย
ถึงแม้ว่าตลาดสื่อสารโทรคมนาคมและไฮเทคอยู่ในช่วงหดตัว แต่เนื่องจากเอคเซนเชอร์เป็นผู้บริการที่มีบทบาทต่อตลาดมากที่สุด
สังเกตได้จากบริษัทขนาดใหญ่เป็นลูกค้าทั้งหมด ดังนั้นความท้าทาย จึงอยู่ที่การแสวงหาประสบการณ์และวิ่งตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
"พวกเราอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งอย่างมาก ยอมรับว่ามีคู่แข่งแต่ใครจะชนะค่อนข้างลำบาก
และทุกวันนี้ยังไม่เห็น คู่แข่งที่ชัดเจน" อรพงศ์กล่าว
ด้วยบุคลิกที่เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นถือเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อความสำเร็จอย่างรวดเร็วของอรพงศ์
อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงจุดนี้เขาต้องทำงานหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเริ่มต้นที่ต้องเดินทางทุกสัปดาห์
เป็นแสนไมล์ต่อปีเพื่อไปให้บริการลูกค้า
"ผมทำงาน 12-14 ชั่วโมงต่อวัน" เขาบอก
หลังจากที่อรพงศ์มาดูแลงานในประเทศไทย การเดินทางเริ่มลดลง แต่นั่นไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกขาดหายไปของรูปแบบการทำงาน
ในทางกลับกันเขากลับรักงานที่รับผิดชอบอยู่ในปัจจุบัน "มีความท้าทายและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ที่สำคัญเป็นอุตสาหกรรมที่สนุก"