|

แม็กซิสทุ่มลงทุนในไทย 9พันล. ผลิตยางรถยนต์7.8ล้านเส้น/ปี
ผู้จัดการรายวัน(20 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บีโอไออนุมัติส่งเสริมฯผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่จากไต้หวันหรือแม็กซิส( MAXXIS ) เตรียมลงทุนในไทยกว่า 9 พันล้านบาท ขยายผลิตยางรถยนต์ 7.8 ล้านเส้นต่อปี ตามด้วยชิ้นส่วนยานยนต์อีก 4 รายลงทุนมูลค่า 879 ล้านบาท ด้านกนอ.เตรียมประกาศพ.ร.บ.การนิคมฯใหม่รับลงทุนเพิ่ม
นางหิรัญญา สุจินัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัดซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่สุดของไต้หวันและจีน และติดอันดับ 12 ของโลก เพื่อขยายผลิตยางรถยนต์สำหรับรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกขนาดเล็ก ยี่ห้อ MAXXIS มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 9,367.5 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง โดยมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 7,800,000 เส้น จะจำหน่ายในประเทศ 20% และส่งออก 80% คาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศ คือ ยางธรรมชาติ ปีละประมาณ 2,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมยังเห็นชอบให้การส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อีก 4 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 879 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท จีเคเอ็น ไดรฟไลน์ โตโยดะ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ขยายกิจการผลิตเพลาขับสำหรับ และชิ้นส่วนของเพลาขับ เงินลงทุนทั้งสิ้น 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง ,บริษัท ทีเอช เค ริทึม (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ได้แก่ Ball Joint ปีละประมาณ 2,000,000 ชิ้น และ Tie Rod (Inner & Outer) ปีละประมาณ 2,800,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 319 ล้าน
บ. โกลบอล-ไทยซอน พรีซิชั่น อินดัสทรี จำกัด ขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ งานสื่อสารและอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ชิ้นส่วนระบบเบรค พวงมาลัย คอมเพรสเซอร์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 262 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และบ.ออโตลิฟ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้กับเข็มขัดนิรภัย ปีละประมาณ 13,687,200 ชิ้น ลงทุน 198 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี
นายอุทัย จันทิมา ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าว่า ขณะนี้กนอ.ได้จัดการสัมมนา”การแก้ไขพระราชบัญญัติการนิคมแห่งประเทศไทย”ขึ้นเพื่อชี้แจงการแก้ไขรายละเอียดพรบ.ฉบับใหม่แก่ผู้พัฒนานิคมฯ ให้รับทราบซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ม.ค. 2551 ซึ่งเนื้อหาจะมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของเขตประกอบการเสรีให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อที่จะเอื้อการเข้ามาลงทุนของทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|