|

เศรษฐกิจปีชวดฟื้นตัวช้า-"โฆสิต"ยันพ้นวิกฤต
ผู้จัดการรายวัน(20 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
"โฆสิต" ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยดีต่อเนื่อง ปีหน้ามีโอกาสขยายตัว 5-6% ปัจจัยท้าทายพ้นช่วงวิกฤตไปแล้วทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงิน เศรษฐกิจสหรัฐและซับไพรม์ ม.หอการค้าไทยฟันธงปัจจัยการเมืองตัวแปร "ศุภวุฒิ สายเชื้อ" ระบุหลังเลือกตั้งเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าๆ รัฐบาลชุดใหม่จะทำงานยากขึ้นภายใต้กรอบใหม่ เผยนักลงทุนอยากเห็นความน่าเชื่อถือ-เสถียรภาพ แนะทุกฝ่ายให้ยอมรับไม่ว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล
วานนี้ (19 ธ.ค.) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ร่วมกับชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี จัดสัมมนา SMEs ประจำปี 2550 ในหัวข้อ "ธุรกิจกับโลกาภิวัตน์" ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกาถาพิเศษว่า เศรษฐกิจในภาครวมกำลังมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้เห็นว่าในปีที่รัฐบาลรักษาการเข้ามาดูแลก่อนที่จะทำการส่งมอบให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ต่อไปนั้นเศรษฐกิจไม่ได้มีการตกต่ำลงในภาพรวม โดยจะเห็นได้จากในไตรมาสแรกของปีการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ระดับ 4.2% ไตรมาสที่สองอยู่ที่ 4.3% ไตรมาสที่สามนั้นตัวเลขล่าสุดรายงานว่าอยู่ที่ 4.9% และในไตรมาสสุดท้ายมองว่าน่าจะมีการขยายตัวอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 5% ซึ่งดีขึ้นตามลำดับ ทำให้เชื่อว่าการขยายตัวทั้งปีที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4.5% นั้นอยู่ในวิสัยทัศน์ที่สามารถทำได้
ส่วนปีหน้านั้นจะมีความท้าทายอีกมากมาย ทั้งจากด้านของราคาน้ำมัน ค่าเงิน เศรษฐกิจของสหรัฐ รวมถึงปัญหาซับไพรม์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในปี 2550 แล้ว ไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงการปรับตัว แม้ว่าจะมีการปรับตัวมาแล้วก็ตาม โดยการขยายตัวของจีดีพีในปีหน้านั้นน่าจะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 5% แต่หากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกอย่างปรับตัวดีขึ้นหมด รวมถึงมีการดูแลการส่งออกให้ดี จีดีพีก็อาจจะขยายตัวได้ถึง 6%
"ปีหน้าคงไม่มีอะไรที่ช็อคอีก เพราะทุกอย่างที่เป็นสิ่งท้าทายก็เกิดขึ้นในปีนี้แล้วทั้งหมด แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการลงทุนทั้งในส่วนรัฐและเอกชนซึ่งปลายปีนี้การลงทุนน่าจะดีขึ้น และเป็นปัจจัยหลักที่จะสร้างความเข้มแข็งและความมั่นใจให้กับประเทศ ในส่วนของปัญหาซับไพรม์นั้นสิ้นปีนี้บริษัทที่รับผลกระทบโดยตรงก็จะมีการประกาศผลประกอบการออกมาให้รับรู้แล้วว่าเป็นอย่างไร ซึ่งปัญหานี้ก็จะยังมีให้เห็นอีกแต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เชื่อว่าทางการสหรัฐฯดูแลได้เพื่อดำรงรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจของเขาไว้ และนโยบายที่ใช้นั้นไม่ใช่แบบบังคับเหมือนไทยแต่จะต้องใช้เวลาในการแก้ไข"นายโฆสิต กล่าว
ฟันธงปัจจัยการเมืองตัวแปร
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมือง หากการเมืองนิ่งเศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 4.5-5 ปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ และเชื่อว่าคงไม่มีใครผลักดันให้เกิดการปฏิวัติ โดยในช่วงไตรมาส 1 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนยังเปราะบางและยังนิ่ง เพราะรอสถานการณ์ที่พร้อมขับเคลื่อน ส่วนไตรมาสที่สองจะเริ่มเดินหน้าได้บ้าง และไตรมาสที่สามนั้นจะมีความชัดเจนในการเริ่มเดินตามนโยบายมากขึ้น
ทั้งนี้คาดการณ์ในปีหน้าราคาน้ำมันในประเทศไทยจะมีการขึ้นราคาประมาณ 2-3 บาท และช่วงต้นปีอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นและเริ่มนิ่งก่อนจะปรับลดลงในช่วงปลายปี รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะมีการเพิ่มขึ้นประมาณ 0.25-.050% โดยจะเริ่มเห็นไนไตรมาสที่ 3
ศก.หลังเลือกตั้งค่อยๆ ฟื้น
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าฝ่ายวิจัย) บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ "แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง" ว่า เศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวช้า ๆ แต่เป็นการฟื้นตัวแบบสมดุลหรือเป็นการฟื้นตัวที่มาจากภาคการบริโภคและการลงทุน โดยการลงทุนที่จะเห็นนั้นประกอบด้วยปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน ท่องเที่ยว โรงแรม และอิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น แต่การส่งออกจะมีการชะลอตัวลง
สิ่งที่ท้าทายในปีหน้า ประกอบไปด้วยเรื่องของการเมือง ภายหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลที่ได้จะเป็นรัฐบาลผสมมาจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งทำให้การอนุมัติโครงการต่างๆ ทำได้ช้าลง เมื่อเทียบกับรัฐบาลพรรคเดียว รวมถึงจะต้องทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งจะทำให้การทำงานยากขึ้น รวมถึงเรื่องของนโยบายของพรรคการเมืองที่หาเสียง เน้นช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นมากกว่าการส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว และนโยบายประชานิยมไม่มีประโยชน์ ไม่ควรเน้นแจกเงินหรืออุดหนุนราคาสินค้า เพราะไม่ใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนระยะยาว ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องกระตุ้นการลงทุนสร้างศักยภาพการแข่งขันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระยะยาว และปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จะส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกของไทย
ทั้งนี้ รัฐบาลที่นักลงทุนต้องการจะเห็นจะต้องไว้วางใจได้และมีความมั่นคง เพื่อลดความกังวลในการลงทุน และถึงแม้พรรคใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือมีเสียงเกิน 240 เสียง นั้นทุกฝ่ายจะต้องยอมรับในกฎเกณฑ์เพราะถ้าไม่พอใจมีการปฎิวัติ นโยบายเดินไม่ได้นักลงทุนคงไม่มาลงทุนอีก แต่หากทุกคนจะเคารพกติกาการเลือกตั้งที่มาจากรัฐธรรมนูญใหม่ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแรงส่งและฟื้นตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2552 โดยปี 2551 จะขยายตัว 4.6-4.7% ส่วนปี 2552 ขยายตัวกว่า 5% และจะช่วยให้มีความมั่นใจกลับมาอีกระลอก
"ในปีหน้าเรามองว่าควรจะมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและควรพึ่งการลงทุนในประเทศเป็นหลัก โดยให้สัดส่วนไว้ที่ 60-70% ที่เหลือ 30-40% นั้นมาจากปัจจัยภายนอก เพราะการที่เราเข้มแข็งด้วยปัจจัยภายในประเทศ หรือปีนี้ที่อาจจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 5.2% ของจีดีพีนั้น ทำให้แม้เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาเราก็จะยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้"นายศุภวุฒิ กล่าว
ส่วนปัญหาซับไพรม์นั้นแม้จะมีการอัดเม็ดเงินเข้าระบบก็สามารถช่วยได้เพียงระดับหนึ่ง แต่หากมีการเพิ่มสภาพคล่องก็จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงกับภูมิภาคเอเชียว่ามีการควบคุมเงินเฟ้อได้ดีหรือไม่ ซึ่งความเสี่ยงของไทยในปัญหาซับไพรม์ก็คือเงินเฟ้อ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|