ปี51การเมืองชี้ชะตาศก.สำรวจ48.3%ลงทุนเพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(19 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจการคาดการณ์ผลประกอบการปี 2551 ปัจจัยสำคัญมากสุดต่อเศรษฐกิจคือ การเมือง หากรัฐบาลหลังเลือกตั้งมีเสถียรภาพ จะทำให้ความเชื่อมั่นฟื้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศจะกลับมา หลังจากลดลงในปี 2550 แต่หากแตกแยก ไร้เสถียรภาพจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ลดต่ำได้ พร้อมเสนอแนะรัฐบาลใหม่เน้นนโยบายคลัง การดูแลค่าเงินบาท และราคาน้ำมัน ขณะที่ 18 อุตฯคาดการณ์รายได้จะเพิ่มขึ้น 3 อุตสาหกรรมรายได้ทรงตัว และ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมรายได้แย่ลง ส่วนการลงทุนในประเทศ 48.3% พร้อมลงทุนเพิ่ม ขณะที่ไปต่างประเทศเกือบครึ่งไม่ลงทุนเพิ่ม ผวาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจการคาดการณ์ผลประกอบการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยปี 2551 ว่า จากการออกแบบสำรวจระหว่างวันที่ 1-10ธ.ค. 2550 จากกลุ่มตัวอย่าง 145 ตัวอย่างจากสมาชิกส.อ.ท.ครอบคลุม 26 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยรวมพบว่า ปัจจัยหลักส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการกังวลและให้ความสำคัญมากสุดคือ ปัจจัยทางการเมือง ซึ่งมองว่าหากรัฐบาลหลังเลือกตั้งมีเสถียรภาพ จะส่งผลให้การวางกรอบนโยบายเศรษฐกิจมีความชัดเจน ทำให้เกิดการเชื่อมั่นต่อการลงทุนและผู้บริโภคกลับคืนมาหลังจากซบเซาในปี 2550 ตรงกันข้ามถ้าได้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพและเกิดแตกแยก จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมปี 2551

“ ปัจจัยที่เอกชนกังวลปี 2551 จากผลสำรวจคือ ปัญหาการเมืองไทยหลังเลือกตั้งว่า จะมีเสถียรภาพหรือไม่ รองลงมาคือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันสูง ค่าเงินบาทที่อาจมีความผันผวน การแข่งขันสูง และแรงงานขาดแคลน “นายสันติกล่าว

มองนโยบายคลัง-ค่าบาทอันดับแรก

นอกจากนี้ ผลสำรวจของผู้ประกอบการยังได้มีข้อเสนอแนะนโยบายของผู้ประกอบการต่อภาครัฐบาลในปี 2551 โดยให้ความสำคัญนโยบายด้านการคลังมากสุดถึง 17.9% รองลงมา 14.9% เป็นนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน 14% ว่า ด้วยนโยบายอุตสาหกรรม 12.8% นโยบายภาษี 11% นโยบายพลังงานและ 10.9% นโยบายเศรษฐกิจ ที่เหลือเป็นนโยบายอื่นๆ โดยนโยบายด้านการคลังมีข้อเสนอให้ภาครัฐ ได้แก่ 1. ควรกำหนดแผนการคลังในระยะยาวอย่างชัดเจน 2. ควรเร่งกระตุ้นเบิกจ่ายงบประมาณปี 2551 และ 3. รัฐควรพัฒนาระบบการเบิกจ่ายงบประมาณให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่ 1. ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรรักษาค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ มิให้แข็งค่าและมีความผันผวนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 2. รัฐควรศึกษาค่าเงินบาทและส่งสัญญาณเตือนภัยต่อผู้ส่งออกล่วงหน้า


ขณะที่นโยบายด้านพลังงาน 1. รัฐควรดูแลให้ราคาน้ำมันภายในประเทศให้มีเสถียรภาพ 2. ควรรณรงค์ให้มีการประหยัดพลังงาน 3. ควรสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ฯลฯ ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ 1. รัฐควรกำหนดนโยบายให้ชัดเจน 2. กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนระดับรากหญ้า 3. ส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น

18อุตฯปี’51แนวโน้มรายได้เพิ่ม

สำหรับผลสำรวจดัชนีการคาดการณ์ผลประกอบการปี 2551 จำนวนรายกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า มีทั้งสิ้น 18 อุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนใหญ่จากการสำรวจจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นจากปี 2550 ซึ่งได้แก่ 1. เครื่องปรับอากาศ 2. ยาง 3. ยานยนต์ 4. น้ำตาล 5. แก้วและกระจก 6. ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 7. ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ 8.หลังคาและอุปกรณ์ 9. เซรามิก 10. เฟอร์นิเจอร์ 11. รองเท้า 12. หนังและผลิตภัณฑ์หนัง 13. สิ่งทอ 14. หัตถอุตสาหกรรม 15. อาหาร 16. พลาสติก 17. เครื่องนุ่งห่ม 18. การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า 3 อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มผลประกอบการในปี 2551 ทรงตัวคือ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและโลหะ 2. อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ 3. อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส่วนอุตสาหกรรมที่จะมีผลประกอบการแย่ลงคือ 1. ปิโตรเคมี 2. ยา 3. เครื่องจักรและการเกษตร 4. ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น และ 5. เครื่องประดับ

นายสันติกล่าวว่า ผลการสำรวจพบว่า แผนการลงทุนต่างประเทศในปี 2551 ของผู้ประกอบการโดยรวมพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 48.3% ตอบว่า จะลงทุนเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าปี 2551 ตลาดในประเทศน่าจะดีขึ้นจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น โดยจะได้รับผลดีจากการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ขณะที่ รองลงมา 25.2% ตอบว่าจะลงทุนเท่าเดิม 18.9% ตอบว่าไม่ลงทุนและ 7.7% จะลดการลงทุนลงทุนไทยมุ่งไปเวียดนามมากสุด

ขณะที่แผนการลงทุนต่างประเทศปี 2551 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 45.1% ตอบว่าไม่ลงทุน เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าปี 2551 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหา ซับไพรม์ของสหรัฐอเมริกาที่อาจกระทบเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ รองลงมา 25.4%,20.5%,9% ตอบว่า ลงทุนเพิ่มขึ้น ลงทุนเท่าเดิม และลงทุนลดลงตามลำดับ ทั้งนี้ ประเทศที่ผู้ผู้ประกอบการวางแผนลงทุนในปี 2551 5 อันดับแรกได้แก่ เวียดนาม จีน , ญี่ปุ่น , กัมพูชาและสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

ดัชนีเชื่อมั่นพ.ย.ต่ำสุดรอบ20เดือน

สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมพ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 82.3 จาก 81.9 ในเดือนต.ค.2550 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือนแต่ก็ยังคงเป็นระดับที่ต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 นับตั้งแต่เม.ย. 2549 ทั้งนี้เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากความหวังในการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นจากการเลือกตั้ง ส่วนดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมใน 3 เดือนล่วงหน้า ก็มีแนวโน้มดีเช่นกันแต่ก็ยังคงต่ำกว่า 100 หรืออยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งมากนัก เพราะเอกชนยังมองว่าการเมืองยังไม่ชัดเจน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.