บอร์ดS2Yให้เพิ่มทุน 130 ล้านบ. ขายPPใช้เงินลุยธุรกิจอสังหาฯ


ผู้จัดการรายวัน(18 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

บอร์ด S2Y เพิ่มทุนอีก 130 ล้านบาท ขายให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง กำหนดราคาขายไม่น้อยกว่าหุ้นละ 1.85 บาท เพื่อนำเงินใช้ในการลงทุนซื้อ "อรรจนา" ลุยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และใช้เป็นทุนหมุนเวียน

นายไซม่อน มอร์ริส เกโรวิช กรรมการ บริษัท สยาม ทู ยู จำกัด (มหาชน) ( S2Y) แจ้งมติคณะกรรมการครั้งที่ 14/2550 ว่าบอร์ดให้เพิ่มทุนทะเบียนอีก 130 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 391,366,118 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 521,366,118 บาท แบ่งออกเป็นหุ้น 521,366,118 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท โดยออกหุ้นสามัญ 130,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท

โดยหุ้นเพิ่มทุนที่ออกใหม่จะจัดสรรให้กับนักลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง และ/หรือนักลงทุนประเภทสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ. 12/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ทั้งจำนวน และกำหนดราคาขายต่อหุ้นไม่น้อยกว่าหุ้นละ 1.85 บาท

กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2551 ในวันที่ 29 มกราคม 2551 ที่เซ็นทารา แกรนด์ และ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานครและกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นในวันที่ 9 มกราคม 2551 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าการประชุมจะแล้วเสร็จ

โดยวัตถุประสงค์ของการใช้เงินจากการเพิ่มทุนจำนวน 240,500,000 บาท จะใช้เพื่อซื้อหุ้น 209,944 หุ้นจากบริษัท อรรจนา จำกัด (อรรจนา) ในราคาไม่เกิน 135 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 642.86 บาท ต่อ 1 หุ้น, เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งและต่อเติม และอุปกรณ์สำนักงาน คอมพิวเตอร์รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทรัพย์สินอื่นๆ ของบริษัท ศิลาดล แลนด์ เอเชีย - แปซิฟิค จำกัด (ศิลาดล) ในราคาที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท และ (3) เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งและต่อ เติม และอุปกรณ์ สํานักงานคอมพิวเตอร์รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทรัพย์สินอื่น ๆ และสัญญาการให้คำปรึกษาของบริษัทบริษัท สฟิงซ์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด (สฟิงซ์) ในราคาที่ไม่เกิน 30 ล้านบาท

สำหรับเงินที่เหลือ 65,500,00 บาทจะใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการพัฒนากิจการของบริษัท และเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคต

การลงทุนเพิ่มครั้งนี้ เพื่อสร้างความเติบโตด้านธุรกิจออกแบบและการขยายตลาดและการควบรวมธุรกิจใหม่ บริษัทฯ รวมไปถึงการสร้างเสริมศักยภาพของธุรกิจรับออกแบบ ขณะที่การเข้าถือโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา (บลู รีสอร์ต แอนด์ เรสซิเด้นเซส) ของ อรรจนา จะทำให้ได้กระแสเงินสดจากการขายห้องชุดและบ้านพักตากอากาศ ซึ่งจะทำให้บริษัทเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ หากแผนงานเป็นไปตามเป้าหมาย จะทำให้มีกำไรและแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นสูงขึ้น และมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผล


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.