Ticketless Traveling


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางกระแสความตื่นกลัวโรคซาร์ส ที่มีผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว และสายการ บินทั่วโลกต้องประสบกับวิกฤติฐานะการดำเนินงานที่ย่ำแย่ลงอย่างหนัก

เที่ยวบินต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศในเอเชียตะวันออก ไปยังภูมิภาคอื่น สนามบิน และโรงแรม แทบจะว่างเปล่า ปราศจากนักท่องเที่ยว เพราะคนต่างกลัวการแพร่ระบาดของโรค ที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว เกือบ 1,000 คน ทำให้อัตราการเดินทางของคนทั่วโลกลดลงไปกว่าครึ่ง

ขณะที่ความหวาดวิตกเกี่ยวกับโรคนี้ ยังไม่ได้ข้อยุติ เมื่อวันส่งท้ายเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทอาบาคัส ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ได้สวนกระแสวิกฤติของธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยการประกาศความร่วมมือกับสายการบินพันธมิตร 7 แห่ง ออกบริการใหม่ eTicketing ซึ่งเป็นการเดินทางโดยไม่จำเป็นต้องพกพาตั๋วเครื่องบินติดตัวไว้ตลอดเวลา

สายการบินที่ประกาศตัวร่วมในการออกบริการใหม่ครั้งนี้ ประกอบด้วยไชน่า แอร์ไลน์ คาเธ่ย์แปซิฟิค เค แอล เอ็ม ลุฟท์ ฮันซ่า นอร์ธเวสต์ สิงคโปร์แอร์ไลน์ และสายการบินยูไนเต็ด

การแถลงข่าวครั้งนี้ จึงได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวจำนวนมาก จนห้องรีเจ้นท์ 3 โรงแรมรีเจ้นท์ แน่นขนัด

"เหตุที่เราตัดสินใจเปิดตัวบริการในตอนนี้ เพราะเห็นว่าเป็นช่วงที่ธุรกิจกำลังซบเซา เราสามารถใช้ช่วงเวลานี้ในการฝึกอบรมคนของเราให้มีความคุ้นเคย และคล่องตัวกับการให้บริการ ใหม่ และเมื่อธุรกิจนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เราจะสามารถให้ บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ" วุฒิ ตรีศรีชัย กรรมการผู้จัดการ อาบาคัส ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ให้เหตุผล

บริการ E-Ticketing เป็นการนำเอาความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยี มาใช้กับการจองและซื้อตั๋วเดินทางโดยเครืองบิน โดยระบบเครือข่ายของอาบาคัส และสายการบินพันธมิตรที่เชื่อม ต่อถึงกันและกัน จะบันทึกข้อมูลของผู้เดินทางเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้น การจองตั๋ว ผู้เดินทางไม่จำเป็นต้องพกตั๋วติดตัว เพียงแต่นำ พาสปอร์ตไปแสดงที่เคาน์เตอร์ของสายการบิน ก็สามารถขึ้นเครื่องได้

"หากเปรียบไปแล้ว ระบบนี้ก็เหมือนกับเมื่อหลายปีก่อน ที่มีการนำบัตรเอทีเอ็มเข้ามาใช้เพื่อตัดขั้นตอนการพกพาเงินสด eTicketing ก็จะเป็นการตัดขั้นตอนการผลิต และความจำเป็นต้องพกพาตั๋วกระดาษ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะสูญหายได้ระหว่างเดินทาง"

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา การเดินทางโดย ปราศจากตั๋วเครื่องบินได้รับความนิยมแพร่หลายมาแล้วช่วงหนึ่ง แต่สำหรับในประเทศไทย บริการนี้อาจจะยังถือเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งคนทั่วไปต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้เกิดความเคยชิน และไว้วางใจในระบบ

แต่จะได้รับความนิยมแค่ไหน ตัวแปรสำคัญที่จะบ่งบอกได้ในช่วงนี้ ยังคงขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาโรคซาร์ส ที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถแสวงหาวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดได้ภายในเร็ววัน

 



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.