'สยามพิวรรธน์' หมุนตามโลก รุกปักธง CSR ปี'51


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

CSR หรือ Corporate Social Responsibility กำลังเป็นประเด็นที่องค์กรทันสมัยให้ความสำคัญชนิดเพราะเป็นกระสที่กำลังมาแรงที่สุดในยุคนี้ บริษัท สยามพิวรรธน์ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ - สยามดิสคัฟเวอรี่ ออกมาประกาศปักธงถึงแนวทางการเข้าไปมีบทบาทใน CSR หรือการทำงานเพื่อสังคมในปีพ.ศ. 2551 อย่างชัดเจน เพื่อสานต่อจากงานเดิมให้เกิดความยั่งยืน และยังเตรียมที่จะคลอดแผนการทำงานในต้นเดือนมกราคมปีหน้า

ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ กล่าวถึงแนวการทำงานเพื่อสังคมที่บริษัทจะรุกมากขึ้นในปี พ.ศ. 2551 ว่า จะเป็นการทำงานภายใต้แนวคิด "The Art Of Recycle" ซึ่งจะเป็นการทำงานภายในด้วยการปรับเปลี่ยนบรรยากาศภายในศูนย์การค้าเพื่อสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยจัดเตรียมงบประมาณสำหรับเรื่องนี้ประมาณ 20 ล้านบาท

บริษัทฯ ต้องการให้กลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการเกิดแรงบันดาลใจในการตกแต่งบ้านหรือปรับเปลี่ยนความคิดให้ใส่ใจกับเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อลูกค้ามาเห็นการจัดการสิ่งเหลือใช้ที่นำมาดัดแปลงเป็นการประดับตกแต่งในศูนย์การค้า ทำให้ลูกค้าอาจจะนำสิ่งเหลือใช้ที่มีอยู่แล้วในบ้านมาปรับใช้ใหม่เพื่อเป็นการลดขยะ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ รณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงานมากกว่า 4 ปีแล้ว ด้วยการให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ และผู้ประกอบการในอาคารสำนักงาน ตระหนักในการมีส่วนร่วมลดพลังงานและปรับปรุงมาตรฐานประสิทธิภาพเพื่อลดการสิ้นเปลืองที่เสียไปจากการใช้งาน ที่ผ่านมา การลดการใช้พลังงานภายในบริษัทมีการตั้งเป้าในการลดปีละ 7-10% ซึ่งผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ

ตัวอย่างเช่น กำหนดเวลาปิด-เปิดระบบปรับอากาศให้สั้นลง และปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 25 องศา รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์รีไซเคิลมาใช้ตกแต่งภายในศูนย์การค้า

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสร้างกระแสการรณรงค์สิ่งแวดล้อมไปยังกลุ่มลูกค้าของศูนย์การค้า ด้วยการจับมือกับดีไซเนอร์ชั้นนำ 5 แบรนด์ดังในสยามเซ็นเตอร์ ได้แก่ 27 Friday , Greyhound Original , Good Mixer , Senada และ Theatre ร่วมโครงการ Green Is Hip โดยร่วมใจกันสร้างสรรค์คอลเลคชั่นพิเศษ ดีไซน์เสื้อ T-Shirt

ในปีพ.ศ. 2551 บริษัทฯ เตรียมที่จะแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นที่ปรึกษาในการสร้างสรรค์ส่งเสริมการใช้วัสดุรีไซเคิล และการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การประกวดออกแบบและประดิษฐ์ผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ อาทิ กระดาษ ขวด และพลาสติก เป็นต้น เพื่อปลุกจิตสำนึกในการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง การสร้างจินตนาการให้กับเยาวชน

"การทำ CSR เราพยายามทำงานภายใต้คอนเซ็ปต์ที่มีคุณค่าต่อสังคม เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ไม่ๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่เหมาะสมสอดรับกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ให้ความสนใจในเรื่องความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว"

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับชุมชนโดยรอบมาตลอด 48 ปี ที่ก่อตั้งศูนย์การค้าขึ้นมา เนื่องจากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์มาโดยตลอดในการสร้างชุมชนในเขตปทุมวันให้มีความสุข ทั้งในการสนับสนุนด้านงบประมาณในการทำกิจกรรมร่วมกับภาครัฐและเข้าไปช่วยเหลือบูรณะ วัดปทุมวนาราม ตลอดจนสร้างห้องสมุดให้กับโรงเรียนเพื่อสร้างแหล่งความรู้ให้ชุมชน

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าจะเป็นการดำเนินการเชิงรุก ซึ่งเตรียมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้กระบวนการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยมอย่างมากต่างจากเดิมที่ต้องทำงานเพื่อสังคมเพียงลำพัง ซึ่งขณะนี้ ได้จัดเตรียมแผนการทำงานในปีหน้าเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว และพร้อมที่จะบอกให้สาธารณชนรับรู้ในเดือนมกราคม 2551

"จากประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคมที่ผ่านมา เราพบว่ากิจกรรมเดิมที่ทำร่วมกับพันธมิตร เช่น มูลนิธิเพื่อการกุศลต่างๆ ย่อมจะได้รับผลสำเร็จที่ยั่งยืนมากกว่าการทำคนเดียว"

ชฎาทิพ กล่าวถึงความท้าทายต่อไปว่า CSR ซึ่งเป็นในส่วนของระบบการจัดการภายในองค์กร คงจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้ประสบความสำเร็จเพราะทุกคนถูกหล่อมหลอมทางความคิดในการดูแลสิ่งแวดล้อมอยู่ทุกวัน ดังนั้น เมื่อสิ่งแวดล้อมภายในการทำงานเป็นตัวกระตุ้น พฤติกรรมของคนภายในย่อมเปลี่ยนได้ง่าย แต่สิ่งที่ยากคือ การทำกิจกรรมร่วมกับสังคมภายนอกเพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการทำงานที่เปลี่ยนพฤติกรรมคนในวงกว้าง ซึ่งเป็นความท้าทายที่มุ่งหวังจะให้เกิดผลสำเร็จ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.