|
เอกชนหวั่นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ร้อง‘ยี้’! จี้กู้ซากใน6เดือนก่อนเศรษฐกิจดิ่งเหว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาคเอกชนหวั่นพรรคการเมืองแข่ง “ประชานิยม” ทำชาติพัง พร้อมเคาะโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ต้องไม่ผสม “มั่วซั่ว” ประกาศชื่อออกมาต้องไม่ “ยี้”ทั้งนายกฯ-รมต.ไม่งั้นศก.ดิ่งเหวแน่ ขู่ต้องสร้างผลงานภายใน 6 เดือน ทั้งเร่งฟื้น “เชื่อมั่น-ลงทุน”ด่วนที่สุด จี้เดินหน้า “เมกกะโปรเจกต์-เบิกจ่ายงบฯ”ขับเคลื่อนศก.ภายในประเทศก่อน ขณะที่ “ภาคส่งออก” ตั้งการ์ดสูงระวังค่าเงินบาท-น้ำมัน-ซับไพร์มกดส่งออกต่อเนื่อง
สถานการณ์การเมืองเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่สนามเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.กันแล้ว ทุกพรรคต่างโหมโรงงัดไพ่เด็ดทางการเมืองเพื่อฉีกคะแนนหนีคู่แข่ง ขณะที่นโยบายการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจแทบทุกพรรคต่างขายฝันบอกว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงโดยยึด “ประชานิยม”มัดใจชาวรากหญ้าทั้งหลาย แต่หากมองถึงปัญหาของประเทศที่ประสบอยู่นั้น โพลทุกสำนักให้ความเห็นตรงกันว่า ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความไม่สงบภาคใต้ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน (ถึงด่วนที่สุด)
ขณะที่ภาคเอกชนซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเขาต้องการรัฐบาลใหม่แบบไหน และต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องใดเป็นประเด็นเร่งด่วน เพราะหากโฉมหน้านายกฯ-รมต.ที่ประกาศออกมาแล้วร้อง “ยี้” นักธุรกิจทั้งหลายส่ายหน้าเซย์โนทั้งแถวเพราะเศรษฐกิจปีหน้าคงไม่พ้นกับคำว่า “เผาจริง”อย่างมิต้องสงสัย
ขู่ 6 เดือนต้องเห็นผลงาน
ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าไทยกล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ถึงแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการจะเห็นคือรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดที่เข้ามาบริหารประเทศจะต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ เร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและการลงทุนเพราะ 2ประเด็นดังกล่าวคือปัญหาเร่งด่วนที่ต้องทำให้ได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนเพราะหากไม่เร่งดำเนินการโอกาสจะเห็นประเทศไทยพ้นภาวะเศรษฐกิจคงจะยากเต็มที
โดยภาคเอกชนหวังว่ารัฐบาลใหม่เมื่อเข้ามาแล้วต้องดำเนินแผนงานทันทีตามนโยบายที่หาเสียงไว้บอกชัดเจนไปเลยว่า นโยบายแรกจะทำอะไร นโยบายต่อไปจะทำอะไร เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและฟื้นความเชื่อมั่นของเอกชนกลับมาใน 6 เดือนแรกของปีหน้าไม่เช่นแล้วภาวะเศรษฐกิจปีหน้าอาจจะซึมยาวทั้งปี
อย่างไรก็ดีมีแนวโน้มว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมแน่นอนแต่อยู่ที่ว่าจะผสมมากน้อยกี่พรรคซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะหากเป็นรัฐบาลที่ผสมหลายพรรคมากเกินไปจะทำให้เสถียรภาพ เอกภาพของรัฐบาลสั่นคลอนได้ อีกทั้งนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคก็ต้องมาตกลงกันว่าจะเอาของพรรคไหนผลสุดท้ายจะทำให้นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ออกมากแก้ปัญหาไม่ตรงจุดก็ได้
“เศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 จะเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลใหม่สามารถแก้ไขปัญหาของชาติได้ตรงจุดหรือไม่” ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวยืนยัน
เร่งฟื้น “เชื่อมั่น-ลงทุน”ด่วน.!
แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกลับมุมมอง “สันติ วิลาสศักดานนท์”ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ชี้ทางออกแก่รัฐบาลชุดใหม่ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและการลงทุนสำคัญที่สุดเพราะหากทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยได้อย่างรวดเร็วก็เท่ากับว่าสัญญาณเศรษฐกิจภายในประเทศน่าจะดีขึ้นได้เพราะเมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวดัชนีชี้วัดทุกตัวจะเพิ่มขึ้นทั้งการจ้างงาน การผลิต การลงทุน เป็นต้นมันจะเพิ่มขึ้นเป็นระบบซึ่งจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากปัญหาได้
ขณะที่ปัญหาที่น่าห่วงอีกอย่างคือรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาต้องมีประสบการณ์พอสมควรทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจเพราะปีหน้า (2551) ถือว่าเป็นโอกาสทองที่จะได้พิสูจน์ฝีมือ อีกทั้งนักธุรกิจในต่างประเทศพร้อมจะลงทุนในไทยมากขึ้นเมื่อผ่านการเลือกตั้งมาซึ่งหากบริหารงานได้ดีเชื่อว่าอาจจะอยู่ครบวาระ 4 ปีหรืออย่างน้อยต้อง 2 ปี
นายกฯ-รมต.ต้องไม่ “ยี้”.!
ทว่าแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่น่าจะมีพรรคร่วมรัฐบาลเกิน 4 พรรคเพราะเป็นห่วงถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาลและการจัดสรรโควตาภายในแต่ละพรรคอาจจะทำให้สถานการณ์การเมืองสั่นคลอนได้ ขณะที่อีกปัญหาที่น่าห่วงคือหลังเลือกตั้งอาจจะมีปัญหาบานปลายคือยังมีกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวไม่ยอมรับเลือกตั้งสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อกระทบเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งนั้น
“โฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่แม้จะเป็นรัฐบาลผสมแต่ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นเมื่อเอ่ยชื่อออกมาแล้วคงไม่ต้องร้อง “ยี้” ต้องให้คนในประเทศและต่างประเทศยอมรับ” ประธานส.อ.ท.ระบุและว่ารัฐบาลใหม่ต้องเร่งสร้างผลงานภายใน 6 เดือนเพราะไม่เช่นแล้วคงเป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้
แข่ง‘ประชานิยม’ทำชาติพัง.!
ขณะที่ในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมนั้นยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการมองว่า พรรคการเมืองต่างๆที่กำลังจะกลายเป็นรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาถึงนั้น ล้วนตั้งเป้าไปที่โครงการ “ประชานิยม” ซึ่งแม้ว่าการกระตุ้นการใช้-จ่ายในภาคสังคมผ่านโครงการประชานิยมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการวางรากฐานทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมซึ่งในส่วนนี้นี่เองที่จะเป็นกระเป๋าเงินในการหมุนเงินไปใช้โครงการประชานิยมที่มีการตั้งเป้าไว้
“การเลือกตั้งครั้งนี้นโยบายแต่ละพรรคที่เน้นประชานิยมก็เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะพรรคใดจะจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ต่างกัน ไม่ผิดกับการข่มขื่นทางการเมือง” เจน นำชัยศิริ ประธานสภากลุ่มอุตฯสิ่งทอ กล่าว
เร่งเบิก-จ่ายงบประมาณทั่วทุกภาค
ด้าน “ธนภณ ตังคณานันท์” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกมองว่า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามามีปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประการแรกคือ ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมาประชาชนยังไม่กล้าจับจ่ายเพราะเกิดความวิตกกังวลกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศจึงทำให้กระทบต่อการค้าขายภายในประเทศซบเซาในช่วงปีที่ผ่านมา แต่หากรัฐบาลใหม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาได้ในระยะเวลาอันสั้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีโอกาสฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันเรื่องการเบิก-จ่ายงบประมาณแผ่นดินก็สำคัญเพราะจะทำให้เกิดการกระจายของเม็ดเงินไปสู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งหากทำได้ตั้งแต่ต้นปี2551 ทันทีจะทำให้เกิดสภาพคล่องภายในประเทศขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง
ขับเคลื่อน‘เมกกะโปรเจกต์’กระตุ้นศก.
นอกจากนี้โครงการเมกกะโปรเจกต์ต่างๆที่รัฐบาลวางไว้ต้องสานต่อเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ผู้รับเหมา แรงงาน อุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหรือมีเงินสะพัดในระบบมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้
อีกทั้งต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในภาคอุตสาหกรรมการส่งออก ภายใต้ปัญหาในเรื่องของราคาน้ำมัน ค่าเงิน ที่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งออก ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นจะต้องมองไปที่การพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นด้วยการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างจริงจังและเร่งด่วน อาทิ โครงการเซาท์เทิรนส์ ซีบอร์ด รถไฟรางคู่ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้ รวมถึงเป็นการลดต้นทุนในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยได้ผู้ประกอบการการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้เป็นอย่างมาก
น้ำมัน-ซับไพร์มยังกดศก.ไทย
ประการสุดท้ายคือต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินความจำเป็นจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาสินค้าอุปโภค-บริโภคแทบทุกตัวขอขึ้นราคาสินค้าทั้งนั้นแต่มีสินค้าบางประเภทที่ยังฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าไปด้วยซึ่งตรงนี้ภาครัฐต้องเข้ามาควบคุมดูแล อย่างเร่งด่วน เพราะเมื่อสินค้าขึ้นราคาประชาชนจะไม่กล้าจับจ่ายเงินในมือทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมาได้
ส่วนปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมรัฐบาลใหม่ยังต้องตั้งรับกับภาวะน้ำมันแพงที่แนวโน้มจะลดลงไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว รวมทั้งภาวะสงครามในอิหร่านที่สังคมโลกให้ความสนใจ รวมทั้งปัญหาซับไพร์มในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาเพราะตลาดสหรัฐฯเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยจึงควรหาตลาดรองไว้รองรับด้วย
“รัฐบาลใหม่ต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าระยะสั้นจะทำอะไร ระยะยาวจะทำให้อะไรไม่ว่าจะเป็นเรื่องพ.ร.บ.ค้าปลีก, มาตรการกันสำรอง 30% , พ.ร.บ.คนต่างด้าว เป็นต้นเพื่อให้นักลงทุนทั้งภายใน-ภายนอกสามารถวางแผนการดำเนินการของบริษัทได้ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีก กล่าวยืนยัน
หวั่นค่าเงินผันผวนกดส่งออก
ภายใต้ความชะงักงันทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลชุดต่อไปที่เข้ามารับไม้ต่อจากรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยเหลือการส่งออกของภาคเอกชน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นการส่งออกก็คือมาตรการควบคุมค่าเงินบาทที่รัดกุมและเอื้อต่อการส่งออกให้มากที่สุดรวมถึงการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องหันกลับมามองในเรื่องนี้
“น่ากลัวว่าหากรัฐบาลชุดต่อไป ยังไม่สามารถควบคุมมาตรการค่าเงิน ก็จะมีผลต่อการส่งออกทั่วโลกซึ่งจะทำให้การขยายตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น” ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์” ประธานสภาอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ ย้ำ
นอกจากนี้การกระตุ้นการลงทุนทั้งในภาครัฐ-และเอกชน เป็นสิ่งหลายฝ่ายให้ความเห็นตรงกัน ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจุดต่อไปจะมาจากพรรคการเมืองใด หรือขั้วก็ตามแต่ มาตรการสำคัญที่รัฐบาลชุดต่อไปจำเป็นต้อง เน้นหนักในเรื่องของการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและทำให้เกิดการจ้างงานเป็นการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจในระยะสั้น และในระยะยาวก็จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ในส่วนของการกระต้นการลงทุนนี้ “ดุสิต นนทะนาคร” เลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยหรือเป็นผู้สร้างความมั่นใจจากการผลักดันโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อภาครัฐเป็นหัวหอกในเรื่องดังกล่าวแน่นอนว่าท่ามกลางความลังเลและไม่แน่ใจของภาคเอกชนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็จะฟื้นคืน และกล้าที่จะลงทุนมากขึ้นโดยพื้นฐานภาคอุตสาหกรรมของไทยนั้น มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วเพียงแค่รัฐบาลกล้าเป็นหัวหอกในการลงทุนในโครงการใหญ่ๆภาคเอกชนก็พร้อมที่จะลงทุนในเมื่อภาครัฐแสดงความมั่นใจออกมาจะเป็นผลดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาวซึ่งก็เรียกว่ายังพอมีความหวังและไม่เป็นปีเผาจริงดังที่ใครๆพูดกัน
ปี’ 51 อุตฯอาหารแข่งขันคุณภาพ
นอกจากเรื่องของ การสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนแล้ว “ไพบูลย์ พลสุวรรณา” รองประธานสภาอุตสาหกรรม และ ประธานสภากลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยังมองว่า ภายใต้การแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงและหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพสินค้านั้น เป็นเรื่องที่ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง รวมถึง การเสริมสร้างองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานของรัฐเอง โดยแต่ละกระทรวง ต้องมีการประสานงานกันอย่างสอดคล้อง และเป็นระบบ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ช่วยกระตุ้นและเปิดตลาด การทรวงการคลังจะต้องช่วยในเรื่องของแหล่งเงินกู้ ไปจนถึงกระทรวงเกษตรฯที่เพิ่มคุณภาพของระบบฟาร์ม และไปจนถึงกระทรวงศึกษาฯที่จะต้องผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งจากปัจจัยลบภายนอก จึงจะเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและอยากที่จะมาลงทุนได้ในที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|