|

เบื้องลึกดีลควบรวมโบรกฯไม่จบ ห่วงได้ทรัพย์สินแต่ไร้มาร์เกตติ้ง
ผู้จัดการรายวัน(17 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บิ๊กบล.เผยเหตุดีลการควบรวมกิจการโบรกเกอร์รองรับการเปิดเสรีค่าคอมมิชชันไม่จบ ระบุตกลงเรื่องราคาใบอนุญาตไม่ลงตัว ขณะที่ยังห่วงเรื่องการย้ายงานของมาร์เกตติ้งหลังสมาชิกโบรกเกอร์ลงมติการควบรวมกิจการหากเกิดขึ้นให้มาร์เกตติ้งย้ายงานได้โดยอิสระ ระบุการแข่งขันในเรื่องราคาทำได้ยาก ชูเพิ่มสินค้าเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุน
นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกระแสข่าวการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งในช่วงที่ผ่านมาว่า บริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กจำนวนที่มีการหารือกับบริษัทหลักทรัพย์ขนาดกลางรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่เกี่ยวกับโอกาสในการควบรวมกิจการเพื่อรองรับการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิสชั่น) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่แม้ว่าจะการเข้าหารือของบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการควบรวมเนื่องจากการตกลงในเรื่องราคาใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (ไล่เซนต์) ยังไม่ได้ข้อยุติเพราะหลังการควบรวมกิจการใบไล่เซนต์ที่เหลือหากต้องขายให้กับผู้ที่สนใจก็จะได้ราคาที่ไม่สูงเนื่องจากพอเปิดเสรีในเรื่องดังกล่าวค่าใบไล่เซนต์ก็จะลดลงค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ประเด็นในเรื่องการถือหุ้นว่ารูปแบบจาการถือหุ้นจะเป็นอย่างไร ฝ่ายใดจะเข้ามาถือหุ้นฝ่ายใดในสัดส่วนเท่าไหร่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ รวมถึงข้อตกลงของสมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์เกี่ยวกับการให้อิสระเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เกตติ้ง) ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ควบรวมกิจการสามารถย้ายไปทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆได้โดยไม่ต้องติดล็อคใบอนุญาต เรื่องดังกล่าวค่อนข้างสร้างความกังวลต่อบริษัทที่จะควบรวมกิจการเนื่องจากหลังการควบรวมหากตกลงกันไม่ชัดเจนอาจจะได้เพียงสินทรัพย์ต่างๆของอีกบริษัทแต่ไม่ได้ตัวมาร์เกตติ้งซึ่งถือว่าไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับบริษัทนั้นๆ
"ยังจบค่อนข้างยากเรื่องการควบรวมกิจการของโบรกฯแม้ว่าเท่าที่รู้จะมีพูดคุยกับระหว่างโบรกฯหลายแห่งมาก โดยสิ่งที่ค่อนข้างเป็นห่วงตอนนี้คือข้อตกลงของสมาชิกที่ให้อิสระแก่มาร์เกตติ้งในการย้ายงานไปทำงานที่อื่นได้โดยสมัครใจเพราะอาจจะทำให้หลังการควบรวมบริษัทได้เพียงอุปกรณ์ สินทรัพย์ แต่ไม่ได้ตัวมาร์เกตติ้งซึ่งเป็นตัวเพิ่มมาร์เกตแชร์"นายสุชายกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตบริษัทหลักทรัพย์ที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ควรจะต้องมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ในระดับที่สูงกว่า 3% เพราะแม้ว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในระดับหมื่นกว่าล้านบาทเหมือนในปัจจุบันก็น่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวมากนักแต่หากมีมาร์เกตแชร์ไม่มากจะแข่งขันกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำกว่ายาก
นายสุชาย กล่าวอีกว่า การแข่งขันในเรื่องราคาหลังการเปิดเสรีคงทำได้ยาก เพราะบริษัทก็มีต้นทุนในการบริหารงานที่ใกล้เคียงกันการหั่นราคาจะส่งผลกระทบรายได้และกำไรของบริษัท การปรับตัวในเรื่องการสร้างความชัดเจนของบริษัทให้เกิดขึ้นในสายตานักลงทุนเป็นเรื่องที่ทุกบริษัทจะต้องเร่งจัดการ บริษัทจึงเน้นการเพิ่มสินค้าที่มีไว้เสนอให้บริการกับนักลงทุนในหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของนักลงทุนแต่ละราย
"การเพิ่มสินค้าและหาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นโจทย์ใหม่ของโบรกฯ เรามีการปรับตัวในเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว เรามีสินค้าที่หลากหลายจึงไม่น่าจะมีปัญหาเมื่อมีการเปิดเสรี"นายสุชายกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|