|
“วิทยพัฒน์”ปรับใหญ่รอบ12ปีรับตลาดอุดมศึกษาบูมหวังโต20%
ผู้จัดการรายวัน(17 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สำนักพิมพ์วิทยพัฒน์ เดินหน้าปรับกลยุทธ์ธุรกิจครั้งใหญ่รอบ 12 ปี ทั้งการตลาด การผลิต ภาพลักษณ์ รองรับการเติบโตของตลาดการเรียนระดับอุดมศึกษา คาดเป้าเติบโตปีหน้า 20%
นายสาธิต อุรุวงศ์วณิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิทยพัฒน์ จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานว่า เพื่อรองรับการขยายตัวของการศึกษาระดับ อุดมศึกษาซึ่งเกิดขึ้นจำนวนมากอย่างรวดเร็วทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จึงได้เริ่มวางแผนการปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว มีการสำรวจตลาด เก็บข้อมูล ติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา ถือเป็นการปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจครั้งใหญ่นับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักพิมพ์มา 12 ปี
ทั้งนี้แม้ภาวะเศรษฐกิจจะเติบโตมากน้อยเพียงใด ตลาดตำราเรียนจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยตลาดระดับปริญญาโทถือเป็นตลาดที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดคือ 9 – 13%
โดยจากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาระบุว่า จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ระหว่างปี 2546-2549 มีปริมาณเพิ่มขึ้นกล่าวคือ ปี 2546 มีจำนวน 478,414 คน , ปี 2547 มีจำนวน 500,915 คน , ปี 2548 มีจำนวน 527,759 คน และปี 2549 มีจำนวน 551,953 คน
ขณะที่มูลค่าตลาดตำราในระดับปริญญาตรีและโทต่อปีนั้น มีเพิ่มสูงขึ้นตลอดเช่นนับตั้งแต่ปี 2546 มีมูลค่า 1,304,925,000 บาท เพิ่มขึ้นมาเป็นมูลค่า 1,371,425,000 บาทในปี 2547 และในปี 2548 ก็มีมูลค่าเป็น 1,449,572,500 บาท และล่าสุดเมื่อปี 2549 มีมูลค่ามากถึง 1,527,967,500 บาท
ในส่วนเป้าหมายของการปรับกลยุทธ์ธุรกิจครั้งใหญ่นี้ บริษัทฯคาดว่าจะสามารถผลิตตำราใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดได้ประมาณปีละ 30 ชื่อเรื่อง และออกตำราฉบับพิมพ์ซ้ำ (reprint) ประมาณ 100-150 ชื่อเรื่อง โดยเป็นตำราในระดับมหาวิทยาลัยประมาณ 80% ส่วนอีก 20% เป็นหนังสือทางวิชาการทั่วไป โดยบริษัทฯคาดว่าจะมียอดขายเพิ่ม 15-20% ภายในสิ้นปี 2551
สำหรับแนวทางการปรับตัวนั้นปรับใหม่หมดตั้งแต่การผลิต การตลาด การประชาสัมพันธ์ รวมทั้งมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่มาใช้ เช่น เราพัฒนาระบบป้องกันการถ่ายเอกสาร (Copy Protect) ขึ้นมา ซึ่งระบบป้องกันนี้เป็นนวัตกรรมที่สำนักพิมพ์พัฒนาขึ้นมาเอง ตำราที่ผลิตด้วยระบบป้องกันการถ่ายเอกสารนี้ช่วยป้องกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เขียน อีกทั้งวิทยพัฒน์เป็นสำนักพิมพ์เอกชนรายแรกที่นำระบบค่าลิขสิทธิ์แบบก้าวหน้ามาใช้ กล่าวคือ ตำราเล่มใดที่ได้รับความนิยมมาก ผู้เขียนก็จะได้รับค่าลิขสิทธิ์ในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งเราใช้ระบบนี้มาตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักพิมพ์มา
นอกจากนี้ยังได้ปรับกลยุทธ์การผลิต โดยการปรับโฉมรูปเล่มของตำราวิทยพัฒน์ใหม่ทั้งหมด โดยค่อย ๆ ทยอยปรับเปลี่ยน และยังได้เปลี่ยนระบบการพิมพ์จากเดิมที่ใช้หมึกพิมพ์จากปิโตรเลียมที่ใช้กันทั่วไป มาใช้หมึกพิมพ์ที่ทำจากน้ำมันถั่วเหลือง
นายสาธิตกล่าวต่อว่า วิทยพัฒน์ได้ปรับกลยุทธ์การตลาด โดยเน้นสัดส่วนการขายไปสู่ตลาดต่างจังหวัด และการขายตรงสู่สถาบันการศึกษาทั้งใน กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นเราเน้นที่ตลาดร้านหนังสือเป็นหลัก ทั้งนี้ เพราะจากการสำรวจตลาดของเรา พบว่าตำราที่ผลิตโดยบริษัทฯได้มีการนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ และยังสามารถนำไปศึกษาในลักษณะของการเรียนด้วยตัวเอง จึงเป็นส่วนกระตุ้นให้บริษัทฯได้ทำการขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้น
“วิทยพัฒน์ยังได้รุกจำหน่ายตรงไปที่มหาวิทยาลัยในลักษณะคู่ขนานไปกับการขยายเครือข่าย ทั้งนี้เพราะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเป็นผู้กำหนดตำราประกอบการเรียนการสอนเอง จึงทำให้เราต้องรุกด้วยการแนะนำตำราของเราให้แก่อาจารย์โดยตรงด้วย
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับบริษัท บัตรเครดิต เคทีซี จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการเงินผ่อน โดยไม่เสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ซึ่งจะทำให้อาจารย์มีความคล่องตัวในการสั่งซื้อตำราเรียน
“ในการปรับกลยุทธ์เหล่านี้ เราได้ปรับภาพลักษณ์ของเราไปด้วยพร้อมกัน โดยการเปลี่ยนโลโก้ของบริษัทใหม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเข้าสู่ยุคใหม่ของวิทยพัฒน์ โดยตำราทุกเล่มในปัจจุบันจะตีพิมพ์โลโก้ใหม่ควบคู่ไปกับโลโก้เก่า ทั้งนี้ เพื่อสร้างความคุ้นเคยแก่ตราสัญลักษณ์ใหม่ระยะหนึ่งก่อน และหลังจากนั้น จะใช้โลโก้ใหม่เพียงอย่างเดียว เรากำหนดที่จะใช้โลโก้ใหม่อย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2551
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|