WIN-WIN


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ความพยายามของภาครัฐ ในการจัด การกับปัญหาการเพิ่มสารปรุงแต่งลงไปในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น สารเร่งเนื้อแดง ในหมู และสารเร่งเนื้อขาวในไก่ แม้เป็นเรื่อง ที่ดีต่อผู้บริโภคโดยรวม แต่สำหรับนักธุรกิจ ผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารที่มิได้มีพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ความตื่นตัวเพื่อแสดงจุดแข็งของตนเองออกมา ถือได้ว่า มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง

บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์ เนชั่นแนล (ประเทศไทย) และบริษัทเจริญ โภคภัณฑ์อาหาร เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจ เกี่ยวกับอาหาร 2 รายใหญ่ของไทย ก็ไม่สามารถหนีความจำเป็นดังกล่าว

เมื่อปลายเดือนเมษายน ยัม เรสเทอรองตส์ ได้เป็นเจ้าภาพในการเชิญสื่อมวลชนทั้งสิ่งพิมพ์ และ โทรทัศน์ เดินทางไปดูกระบวนการผลิตวัตถุดิบ ซึ่งเป็นเนื้อไก่ที่สั่งตรงมาจากโรงงานของบริษัทกรุงเทพโปรดิวส์ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 2 จังหวัด คือลพบุรี และสระบุรี

ยัม เรสเทอรองตส์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านอาหารชื่อดังหลายแบรนด์ด้วยกัน โดยเฉพาะแบรนด์เคเอฟซี และพิซซ่า ฮัท ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เนื้อไก่ในแต่ละวันเป็นจำนวน มาก

ขณะที่เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ก็เป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทอาหารครบวงจร ทั้งอาหารสัตว์ เนื้อสัตว์ ตลอดจนอาหารแปรรูป จากเนื้อสัตว์

การเยี่ยมชมกระบวนการผลิตครั้งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการแรกคือ ฟาร์มเลี้ยงไก่จำปาหอม จังหวัดลพบุรี ของ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งภายในฟาร์มได้วางระบบป้องกันการแพร่กระจายของสารพิษอย่างรัดกุม

รถทุกคันก่อนที่จะผ่านประตูรั้วเข้าสู่บริเวณฟาร์ม จะต้องได้รับการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณล้อรถทั้ง 4 เส้น และคนที่อยู่บนรถทุกคนจะต้องลงเดินผ่านห้องที่มีการสเปรย์น้ำยาฆ่าเชื้อด้วย

เมื่อเข้าไปในบริเวณฟาร์ม จะมีกำแพงกั้นในชั้นแรก ซึ่งจะบังคับให้ทุกคนต้องกรอกรายละเอียดประวัติส่วนตัว และประเทศที่เคยเดินทางผ่าน ก่อนที่จะเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดป้องกัน โรค ซึ่งจะต้องสวมหมวก หน้ากากปิดหน้า และรองเท้าที่ได้ผ่าน การฆ่าเชื้อมาแล้วอย่างดี และก่อนที่จะเข้าไปสู่บริเวณฟาร์มชั้นใน จะต้องถูกพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณมืออีกครั้ง

สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลฟาร์มให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคทุกชนิด โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มีผลต่อไก่ เช่น เชื้อไข้หวัดนก หรือนิวคาสเซิล หลุดรอดเข้าไปในบริเวณ ฟาร์ม เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม

สำหรับกระบวนการเลี้ยงไก่ภายในฟาร์มแห่งนี้ ซึ่งมีโรงเลี้ยงถึง 35 หลัง แต่ละหลังเลี้ยงไก่ระหว่าง 17,000-20,000 ตัว ภายในโรงเรือนทุกหลัง ได้จัดตั้งระบบปรับอากาศด้วยน้ำ ทำให้แม้ว่าโรงเลี้ยงจะตั้งอยู่กลางแจ้ง ซึ่งอากาศร้อนอบอ้าว แต่ภายใน โรงเลี้ยง อุณหภูมิจะถูกปรับลงมาเหลือเพียงประมาณ 26 องศา และมีการพรางแสงไฟมืดสลัว

"ที่ต้องทำเช่นนี้ เพื่อไม่ให้ไก่เครียด"

ไก่ที่ถูกเลี้ยงในโรงเลี้ยงเหล่านี้ ตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งได้น้ำหนักตามที่ต้องการ คือตัวละ 2.8 กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยงทั้งสิ้น 48 วัน หลังจากนั้น ไก่ทุกตัวที่ได้ขนาด จะถูกลำเลียงส่งไปยังโรงเชือดและแปรรูปเนื้อไก่ของบริษัทกรุงเทพโปรดิวส์ ที่จังหวัดสระบุรี

ทั้งกระบวนการขนส่ง กระบวนการเชือด และแปรรูป ได้ วางระบบให้ถูกต้องตามหลัก Animal Welfare ซึ่งกำหนดให้สัตว์ที่จะถูกฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร ไม่ได้รับความทรมานหรือเครียดจัดก่อนตาย

ภายในโรงงานกรุงเทพโปรดิวส์ ก็ได้มีการวางระบบป้องกันเชื้อโรคที่ไม่แตกต่างจากในฟาร์มจำปาหอมเท่าใดนัก คนที่จะเข้าไปใกล้กระบวนการแปรรูปได้ จะต้องสวมชุดป้องกันเป็นอย่างดี

สำหรับการเชือด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่อ่อนไหวที่สุด ได้ถูกบัง ไว้อย่างมิดชิด ไม่ให้บุคคลภายนอกสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน นัก คนเชือดไก่ที่นี่มีอยู่ด้วยกันประมาณ 4 คน ทุกคนเป็นชาวมุสลิม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไก่ที่ออกจากโรงเชือดแห่งนี้ทุกชิ้นถูกต้อง ตามหลักฮาราล

ก่อนจะเชือดไก่ทุกตัวจะต้องถูกทำให้สลบ โดยการผ่านน้ำ ที่มีกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ หลังจากเชือดแล้ว ไก่จะถูกลำเลียงผ่านไปตามสายพาน เพื่อถอนขน ตัว หัว และขา และแยกชิ้นเนื้อตามลำดับ

ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การแยกชิ้นส่วนไปจนถึงการแปรรูป จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อไก่ส่งไปยังห้องแล็บ เพื่อ ตรวจหาเชื้อโรค ซึ่งอาจจะปนเปื้อนเข้ามาจากกระบวนการอื่น เพื่อควบคุมคุณภาพของเนื้อไก่จากโรงงาน

การเยี่ยมชมโรงงานครั้งนี้ แม้ยัม เรสเทอรองตส์ จะเป็นเจ้าภาพ แต่เครดิตที่ได้รับตกอยู่กับทุกฝ่าย ทั้งยัม เรสเทอรองตส์ กรุงเทพโปรดิวส์ และเจริญโภคภัณฑ์อาหาร

อย่างน้อยก็ทำให้เชื่อได้ว่า เนื้อไก่ทุกชิ้นที่ผลิตออกจากโรงงานปลอดจากโรค และไม่มีการผสมสารปรุงแต่งซึ่งเป็นอันตราย เพราะมีการวางระบบควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

และยัม เรสเทอรองตส์ ซึ่งถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ ก็น่าจะมี ความมั่นใจได้ว่า เมื่อได้นำไก่จาก โรงงานไปผลิตขายผ่านเครือข่าย ร้านอาหาร จะได้รับไก่คุณภาพ ที่ปลอดจากโรค และสารปรุงแต่ง เช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.