ธุรกิจหลักทรัพย์ต้องปรับตัวอีกระลอก


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

นับจากวันนี้ไปอีก 5 เดือน บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่ง ต้องเร่งปรับตัว เพื่อ เตรียมรับกับโครงสร้างค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นใหม่ ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 กันยายน ที่จะถึงนี้

ตามโครงสร้างใหม่ดัง กล่าว กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์เรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นจากลูกค้าในอัตราต่อรอง โดยมีระดับเพดานขั้นต่ำสุด 0.25% ของมูลค่าการซื้อขาย ลดลงจากเดิมถึงครึ่งหนึ่ง จาก ที่เคยเก็บในอัตราคง ที่ 0.5%

และหลังจากนั้น อีก 2 ปี ก็ต้องเตรียมพร้อมรับกับการเปิดให้เก็บค่าคอมมิชชั่นเสรี ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 กันยายน 2545

"โครงสร้างค่าคอมมิชชั่นใหม่ ที่จะเริ่มใช้นี้ ส่งผลกระเทือนต่อธุรกิจหลักทรัพย์อย่างมาก เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์เกือบทุกแห่งมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นเป็นรายได้หลักถึงกว่า 70%"

ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์หลายรายแสดงความหนักใจ เพราะในช่วง 2 ปีเศษ ที่ประเทศไทยประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นต้นมา ธุรกรรม ที่บริษัทหลักทรัพย์สามารถกระทำได้อย่างต่อเนื่อง คือ การเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น ในขณะที่ธุรกรรมด้านอื่น เช่นการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน การรับประกันการจำหน่ายหุ้น ฯ ลฯ ได้ลดจำนวนลงไปมาก

ดังนั้น การที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศใช้โครงสร้างค่าคอมมิชชั่นใหม่ออกมา จึงสร้างความเดือดร้อนให้กับแต่ละบริษัทมากพอควร

ความจริงแนวคิด ที่จะให้มีการลดค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นนั้น ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วง ที่เศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฟองสบู่ โดยวิโรจน์ นวลแข นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์คนปัจจุบัน เป็นคนเสนอ ขึ้น มาก่อนว่าน่าจะมีการลดค่าคอมมิชชั่นให้กับพวกกองทุนต่างประเทศ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในตลาดหุ้นไทย ส่วนนักลงทุนทั่วไปยังคงคิดในอัตรา 0.5% เช่นเดิม ต่อมาในปี 2539 ก.ล.ต.ได้รับลูกแนวคิดดังกล่าว และมีการตั้งทีมงาน ขึ้นมาศึกษาถึงโครงสร้างค่าคอมมิชชั่น ที่เหมาะสม

แต่ภายหลังแนวคิดนี้ ได้ถูกขยายความให้เป็นการปล่อยให้มีการเก็บค่าคอมมิชชั่นเสรี ซึ่งถูกคัดค้าน อย่างหนักจากบริษัทหลักทรัพย์ เพราะเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม

ว่ากันว่าผู้ที่ผลักดันแนวคิดเปิดเสรีในการเก็บค่าคอมมิชชั่น คือ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการก.ล.ต.คนปัจจุบัน เนื่องจากเห็นว่าการเปิดเสรี จะเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ไทยกับ ตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่น

กลางปีที่แล้ว สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 6 ชุด เพื่อศึกษาเรื่องนี้ และได้สรุปแนวทางเสนอไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า การปรับค่าคอมมิชชั่น ควรจะเริ่มต้นจากการคิดค่าคอมมิชชั่นแบบถดถอย เป็นขั้นบันได ตามมูลค่าการซื้อขาย หุ้น และให้ใช้แนวทางนี้ไปสักระยะก่อนจะเปิดเสรี เพื่อให้เวลากับบริษัทหลักทรัพย์สามารถเตรียมตัวตั้งรับได้ทัน

ปลายเดือนธันวาคมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับมีมติสวน ออกมาว่าให้ปรับค่าคอมมิชชั่นเป็นระบบต่อรอง ตั้งเพดานต่ำสุด ที่ 0.25% โดยจะใ ช้ระบบนี้ไปเป็นเวลา 2 ปี จึงเริ่มเปิดเสรี ซึ่งถูกค้านจากบริษัทหลักทรัพย์อีกว่าเพดานต่ำสุด 0.25% นั้น ต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ยของโบรกเกอร์ ที่อยู่ระหว่าง 0.1-0.5% ทำให้ธุรกิจไม่สามารถอยู่ได้ โดยระดับเพดานต่ำสุด ที่เหมาะสมควรจะอยู่ระดับ 0.3% ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงให้เวลาบริษัทหลัก ทรัพย์ไปหาข้อมูลมาชี้แจงอีกครั้งภายในเดือนมกราคม

แต่ท้ายที่สุดแล้ว คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยังยืนยันมติเดิม และได้เสนอไปยังก.ล.ต.ออกประกาศมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ให้มีผลบังคับใช้หลังจากนี้อีก 6 เดือน

"สิ่งแรก ที่จะต้องทำหลังจากประกาศนี้มีผล คือ ต้องดูว่ามีต้นทุนอะไร ที่สามารถจะลดลงได้บ้าง" ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์รายหนึ่งกล่าว

ต้นทุน ที่ว่า เริ่มตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในสำนักงานต้นทุนการทำวิจัย และ ที่สำคัญคือ ค่าตอบแทน ที่ให้กับเจ้าหน้าที่การตลาด ซึ่ง ที่ผ่านมาถือเป็นต้นทุน ที่สูงที่สุดในธุรกรรมนายหน้าซื้อขายหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์

แต่การลดผลตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่การตลาด กลับเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้รู้ดีว่าเมื่อบริษัท ที่ตนเองทำงานอยู่ให้ผลตอบแทนไม่เป็นที่พอใจ ก็ยังมีอีกหลายบริษัท ที่พร้อมจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เพียงแค่นำฐานลูกค้าติดไปให้ด้วยเท่านั้น

สิ่งที่น่าจะทำได้ง่ายกว่า คือ การปิดห้องค้าในจุดที่ทำรายได้ให้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะห้องค้าในต่างจังหวัด ที่มีมูลค่าซื้อขายต่อวันน้อยอยู่แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.