ยกเครื่องซีแพคสู้ศึกตลาดซบ เปลี่ยนดีมานด์สู่ระบบก่อสร้างสำเร็จรูป


ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

โจทย์ใหม่ซีแพคเร่งปรับกลยุทธ์ธุรกิจลดต้นทุน ฝ่ากระแสราคาน้ำมันพุ่ง ขยับรุกตลาดต่างจังหวัดผ่านแฟรนไชส์ เดินหน้าปรับพฤติกรรมลูกค้าสู่ระบบก่อสร้างสำเร็จรูป

หลังจากราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคที่พึ่งพาน้ำมันในการขนส่งเป็นหลักต้องปรับตัว หันมาใช้ระบบ Hub and Spokes ผสมผสานกับการจัดการระบบโลจิสติกส์ใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งให้มากที่สุด

ภาพรวมของตลาดคอนกรีตอยู่ในภาวะซบเซาไปตามอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในขณะที่ต้นทุนของสินค้าก็ถูกรุมเร้าด้วยราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อรรณพ เตกะจรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ยอมรับว่า ยอดขายของซีแพคปีนี้คงไม่เติบโต แต่ด้วยการปรับกลยุทธ์หันมารุกตลาดต่างจังหวัดและงานขนาดเล็กมากขึ้น ทำให้ยอดขายซีแพคยังไปได้ แม้การเติบโตจะติดลบ แต่ก็ติดลบน้อยกว่าตลาดรวม

อรรณพ กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นกระทบต้นทุนของซีแพคถึง 40 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้ต้องปรับราคาขายขึ้นไปเป็น 30 บาทต่อลูกบาศก์เมตร โดยยังต้องแบกรับต้นทุนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งซีแพคต้องเร่งหาวิธีลดต้นทุนแทนการขึ้นราคาทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

ระบบ Hub and Spokes ด้วยการสร้าง Hub ในทำเลต่างๆ เพื่อถ่ายคอนกรีตผสมเสร็จจากรถโม่ขนาดใหญ่ไปยังรถโม่ขนาดเล็ก และให้รถโม่ขนาดเล็กวิ่งขนส่งตามตรอกซอกซอยต่างๆ ที่ซีแพคนำมาใช้ช่วยทำให้การขนส่งเกิดความคล่องตัว และที่สำคัญ คือ ประหยัดน้ำมัน สามารถขยายตลาดไปยังงานรับเหมาขนาดเล็กได้ นอกจากนี้ยังปรับระบบโลจิสติกส์ทั้งกระบวนการ ด้วยการขนส่งวัตถุดิบทางเรือ และรถไฟ การใช้พลังงานจากก๊าซเอ็นจีวี การหาแหล่งวัตถุดิบที่อยู่ใกล้ตลาด การกระจาย Plant หรือโรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จขนาดเล็กไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยปัจจุบันมีโรงงานแล้ว 350 แห่ง ตั้งเป้าว่าปีหน้าจะมีถึง 420 แห่ง

การรุกตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็นการปรับตัวอีกทางหนึ่งของซีแพค หลังจากตลาดในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่หดตัวอย่างมาก แต่สิ่งที่ซีแพคจะต้องเร่งทำ คือ การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการใช้ปูนถุงผสมเองมาสู่การใช้คอนกรีตสำเร็จรูป ในขณะที่อีกหนึ่งขาธุรกิจของซีแพค คือ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป เช่น พื้น เสาเข็ม ท่อ บล็อคผนัง ที่จะรุกเข้าสู่ตลาดต่างจังหวัด ก็ต้องเร่งสร้างความรู้เรื่องระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูปให้กับผู้บริโภคเช่นกัน

ปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซิเมนต์ เครือซิเมนต์ไทย (SCG Cement) กล่าวว่า ซีแพคได้พัฒนาระบบธุรกิจ CPAC Precast Franchise ให้เครือข่ายแฟรนไชส์ทั่วประเทศที่มีจุดแข็งในการรุกตลาดต่างจังหวัด สามารถผลิตสินค้าคอนกรีตสำเร็จรูปได้เอง โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตพื้นคอนกรีต 3 แห่ง ได้แก่ ลาดกระบัง กรุงเทพฯ, อ.หนองแค จ.สระบุรี และล่าสุดที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยจะเป็นโรงงานต้นแบบให้แฟรนไชส์ในภาคเหนือ นอกจากนี้ยังจัดตั้งศูนย์วิชาการคอนกรีตสำเร็จรูปซีแพค (CPAC Precast Concrete Technical Center) ขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าแก่ผู้ประกอบการ CPAC Precast Franchise ในเขตภูมิภาค นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานราชการ และบุคคลทั่วไป

ปัจจุบันซีแพคมีลูกค้า CPAC Precast Franchise แล้ว 14 ราย ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 40 รายในปีหน้า และจะขยายโรงงานต้นแบบ และศูนย์วิชาการคอนกรีตสำเร็จรูปไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น ศรีราชา ขอนแก่น และจังหวัดในภาคใต้ เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปไปทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งที่ซีแพคจะต้องทำควบคู่กันไป คือ การให้ความรู้ตลาดต่างจังหวัด เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าจากระบบก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูนมาสู่การใช้ระบบสำเร็จรูปที่มีความสะดวก รวดเร็ว ซึ่งจะสอดรับกับสินค้าของซีแพคที่เป็นสินค้าเพื่อรองรับการก่อสร้างในระบบสำเร็จรูปด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.