|
คลังอุ้มการบินไทย8พันล.รีไฟแนนซ์หนี้-ซื้อเครื่องบิน
ผู้จัดการรายวัน(12 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
กระทรวงการคลังรายงาน ครม.กู้เงิน ECP ประจำปี 50 เพื่อชำระหนี้เงินกู้รัฐวิสาหกิจตามกรอบที่ได้รับอนุมัติ 2 พันล้านดอลลาร์ เผยรีไฟแนนซ์หนี้และจ่ายค่าเครื่องบินโบอิ้งของการบินไทย 4 ลำ เป็นเงิน 484 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 9,000 ล้านเยน และ 100 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 8,365 ล้านบาท
นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบรายงานสรุปผลการกู้เงิน ในรูป Euro Commercial Paper (ECP) ประจำปีงบประมาณ 2550 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่ครม.เห็นชอบให้จัดตั้ง Euro Commercial Paper หรือ ECP Programme วงเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้มีการลงนามในความตกลงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง ECP Programme เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2542 โดยมีระยะเวลาสิ้นสุดการกู้เงินภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2552 และกำหนดให้นำเงินกู้มาใช้เป็น Bridge Financing สำหรับการทำ Refinance เงินกู้ต่างประเทศของภาครัฐบาล และ/ หรือ สำหรับการลงทุนในโครงการลงทุนเพื่อการพัฒนาของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ทั้งนี้ ให้รายงานผลการกู้เงินภายใต้ ECP Programme ในปีงบประมาณหนึ่งๆ ให้คณะรัฐมนตรีทราบภายในเดือนธันวาคม 2550
กระทรวงการคลังขอรายงานสรุปผลการกู้เงินภายใต้ ECP Programme ประจำปีงบประมาณ 2550 ดั้งนี้ 1.กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ดำเนินการกู้เงินภายใต้ ECP Programme รวม 8 ครั้ง จำนวนรวม 484.2 ล้านเหรียญสหรัฐ 9,000 ล้านเยน และ 100 ล้านยูโร (นับรวมวงเงินที่ใช้สำหรับการ Rollover เงินกู้เดิม)
โดยกู้สำหรับสมทบในการชำระค่าจัดซื้อเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)THAI จำนวน 4 ลำ วงเงินรวม 235.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบไปด้วยเครื่องบินโบอิ้ง B777 – 200 ER ลำที่ 1 จำนวน 58.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้ทำการ Rollover ไปแล้ว 1 ครั้ง จำนวน 58.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องบินโบอิ้ง B777 – 200 ER ลำที่ 2 จำนวน 58.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้ทำการ Rollover ไปแล้ว 1 ครั้ง จำนวน 58.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เครื่องบินโบอิ้ง B777 – 200 ER ลำที่ 3 จำนวน 58.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และเครื่องบินโบอิ้ง B777 – 200 ER ลำที่ 4 จำนวน 59.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ยังมีการกู้เพื่อ Refinance เงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2550 ได้แก่ เงินกู้ Samurai Bond รุ่นที่ 17 และ19 ของบริษัท การบินไทยจำนวน 132 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 9,000 ล้านเยน ตามลำดับ และได้กู้เงินเพื่อ Rollover เงินกู้เดิมที่ใช้เป็น Bridge Financing สำหรับการทำ Refinance เงินกู้ Samurai Bond รุ่นที่ 15 ของบริษัท การบินไทยฯ ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2549 ปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยในปีงบประมาณ 2550 ได้ทำการ Rollover 1 ครั้ง จำนวน 100 ล้านยูโร
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ทำแผนการก่อหนี้ให้รัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว เป็นการก่อหนี้ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง คือไม่ควรเกิน 45% ของอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จากปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะล่าสุดอยู่ที่ 38% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ที่ 8.3 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ารัฐบาลใหม่สามารถกู้เงินเพื่อดำเนินการต่างๆได้อีก 7% ของจีดีพี หรือประมาณ 580,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังสามารถก่อหนี้สาธารณะได้ถึง 50% ของจีดีพี แต่ สบน. เห็นว่าการให้ก่อหนี้เต็มเพดานเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไปถึง 12% ของจีดีพี หรือ 1 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการคลัง และทำให้ตลาดเงินมีปัญหา ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ และทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูง ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน ขณะที่การกู้เงินต่างประเทศในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งก็ไม่ควรกู้จำนวนมาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|