LPN คาดปี51 ยอดขายทะลุหมื่นล้าน ชูกลยุทธ์ต้นทุนที่ดินต่ำ-เร่งลูกค้าซื้อ-ส่งมอบไว


ผู้จัดการรายวัน(11 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เจ้าตลาดคอนโดมิเนียม "แอล.พี.เอ็น."เผยแผนธุรกิจปี 2551 ผุด 5-8โครงการใหม่ พร้อมส่งแบรนด์ลุมพินีเซ็นเตอร์ และลุมพินีคอนโดทาวน์ราคา 6แสนบาทบุกตลาดใหม่2-3 ทำเล ปูทางก่อนส่งแบรนด์ ลุมพินีวิลล์ และ ลุมพินี เพลส ต่อยอดลูกค้าต่อ แจงสัดส่วนพัฒนาโครงผ่านแบรนด์ลุมพินีทาวน์-เซ็นเตอร์50-60% แบรนด์ลุมพินีวิลล์-พาร์ควิลล์20-30%และแบรนด์เพลส10% พร้อมเบรกแบรนด์ลุมพินีสวีทในปีหน้า ระบุปี51ตลาดแข่งดุเดือด เหตุผู้ประกอบการแห่ผุดโครงการใหม่อีกเพียบ ตั้งเป้าปี"ชวด" ยอดขายและยอดรับรู้รายได้โตไม่ 20% หรือมียอดขายไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ส่วน11เดือนที่ผ่านมามียอดขายกว่า 9,000 ล้านบาท

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอล.พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในปี2551 ว่า แนวทางการพัฒนาโครงการของบริษัทในช่วง3-4ปีจากนี้ จะเน้นการเปิดตลาดในพื้นที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น ซึ่งบริษัทฯจะใช้สินค้าในแบรนด์ ลุมพินี คอนโดทาวน์ และลุมพินี เซ็นเตอร์ ซึ่งมีราคาขายต่อหน่วย 5-6 แสนบาท เป็นโครงการหลักในการเจาะตลาดใหม่ๆ และจะเน้นสร้างการรับรู้ในแบรนด์ของบริษัทในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และหลังจากที่แบรนด์ แอล.พี.เอ็น.ฯได้รับการยอมรับจากลูกค้าแล้ว จึงจะต่อยอดกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยการผลักดันโครงการในแบรนด์ ลุมพินี วิลล์ และ ลุมพินี พาร์ควิลล์ ที่มีราคาขายต่อหน่วย 1ล้านบาท สินค้าในตลาดระดับกลางเข้าทำตลาด และค่อยขยับโครงการภายใต้แบรนด์ลุมพินี เพลส และลุมพินี สวีท ราคาขาย 1.5-2 ล้านบาทต่อหน่วยไปจับตลาดบนอีกส่วนหนึ่ง

สำหรับในปีหน้าบริษัทจะเริ่มใช้แบรนด์ ลุมพินี คอนโดทาวน์ และลุมพินีเซ็นเตอร์ เข้าเปิดตลาดใหม่ๆ 2-3 ทำเล เช่น ในโซนตะวันออก โซนใต้ และโซนเหนือของกรุงเทพฯ ส่วนแบรนด์ลุมพินีวิลล์และลุมพินีพาร์ควิลล์ จะเข้าไปทำตลาดในโซนที่ลูกค้ายอมรับแล้ว เช่น โซนปิ่นเกล้า เป็นต้น

ในส่วนของแบรนด์ ลุมพินีเพส จะเข้าไปเก็บเกี่ยวในทำเลที่มีศักยภาพสูงแล้ว ในขณะที่แบรนด์ลุมพินี สวีท จะชะลอการพัฒนาโครงการภายใต้แบรนด์ดังกล่าว เนื่องจากต้องเป็นทำเลที่มีศักยภาพจริงๆและมีกำลังซื้อสูงโดยในปี51บริษัทมีแผนจะพัฒนาโครงการใหม่ประมาณ 5-8 โครงการ แบ่งเป็นการพัฒนาโครงการภายใต้แบรนด์ลุมพินีคอนโดทาวน์ และลุมพินี เซ็นเตอร์ประมาณ 50-60% , แบรนด์ลุมพินี วิลล์ 20-30% ส่วนอีก10% จะเป็นการพัฒนาภายใต้แบรนด์ ลุมพินีเพลส

นายโอภาส กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา มียอดขายแล้ว 9,000 กว่าล้านบาท เกินเป้าที่วางไว้ทั้งปี 8,000 ล้านบาท ส่วนในปีหน้า บริษัทตั้งเป้าจะมีอัตราการเติบโตของยอดขาย และยอดรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 20% หรือมียอดขาย 10,000ล้านบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข่งขันในตลาดคอนโดฯในปี 2551 จะทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าปี 2550 เนื่องจากผู้ประกอบการมีการพัฒนาโครงการใหม่เข้ามาในตลาดจำนวนมาก ทำให้ในบางพื้นที่มีการแข่งขันที่รุนแรงมาก เช่น ทำเลแนวรถไฟฟ้า เป็น ซึ่งบางทำเลมีแนวโน้มสินค้า(ซัปพลาย) เกินความต้องการ(ดีมานด์)อยู่บ้าง

ทั้งนี้ ใน1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาพัฒนาโครงการคอนโดฯเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความต้องการในตลาดขยายตัวค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการในตลาดบ้านเดี่ยวหรือตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ ที่ได้รับผลจากปัจจัยการปรับขึ้นราคาน้ำมันที่ต่อเนื่อง โดยการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ได้ส่งผลในด้านบวกต่อตลาดคอนโดฯ คือ ด้านบวก พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดฯ ส่งผลให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดฯมีอัตราการขยายตัวอย่างมาก ส่วนในด้านลบ กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากการปรับตัวของค่าครองชีพ และการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังกระทบต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการในตลาดด้วย โดยเฉพาะในปี2551 ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวให้สามารถแข่งขันในตลาด และยังสามารถรักษาอัตราเติบโตของกำไรไว้ในระดับที่ดีให้ได้ ในภาวะที่ต้นทุนวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวแล้ว

" ในปีหน้า จะเป็นปีแห่งการปรับตัวของผู้ประกอบการอีกครั้งหนึ่ง แนวโน้มการปรับตัวน่าจะมีการปรับลดขนาดห้องชุดลง เพื่อคงระดับราคาขายให้เหมาะกับกำลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าตลาดระดับล่างที่เป็นฐานใหญ่ นอกจากนี้ ต้องมีระบบบริหารจัดการต้นทุนที่ดีด้วย โดยแนวทางการควบคุมต้นทุนที่น่าจะหยิบขึ้นมาใช้ในปีหน้า คือการหาที่ดินที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อลดต้นทุนการพัฒนาโครงการลง การตลาดต้องไว โดยการเร่งการตัดสินใจซื้อของลูกค้า และเร่งการก่อสร้างให้รวดเร็วขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนด้านดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน"นายโอภาสกล่าว

อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกในปีหน้ายังคงมีอยู่ คือ ดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับที่ต่ำ ทำให้ลูกค้ายังมีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม แม้น้ำมันจะปรับขึ้น จนส่งผลให้เกิดต้นทุนวัสดุปรับราคามีผลต่อราคาขายสินค้า และมีผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.