ธปท.ซาวเสียงผ่อนเกณฑ์คุมแบงก์ หวั่นศก.ชะลอกระทบฐานะ-สินเชื่อ


ผู้จัดการรายวัน(11 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.มีแผนจะทบทวนการนำมาตรฐานสากลต่างๆมาใช้กับระบบสถาบันการเงินไทย หลังเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไม่เป็นไปตามเป้า หวั่นสร้างแรงกดดันในการดำเนินธุรกิจของแบงก์ โดยจะลดหย่อนความเข้มข้นการนำเกณฑ์มาตรฐานสากลมาใช้ให้เหมาะสมกับฐานะการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยก่อนจะเพิ่มความเข้มสู่ระดับสากล ขณะที่สหรัฐมีการเลือกนำมาตรฐานสากลมาใช้บางส่วนเฉพาะแบงก์ที่ทำธุรกรรมระหว่างประเทศเท่านั้น

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ขณะนี้สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.กำลังมีแนวคิดจะทบทวนการนำเกณฑ์มาตรฐานสากลต่างๆ ที่มีแผนจะนำมาใช้กับระบบสถาบันการเงินไทยทั้งมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (ไอเอเอส) ฉบับที่ 39 ไอเอเอส32 และการเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ไอเอฟอาร์เอส 7รวมทั้งเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) หรือบาเซิล 2 ซึ่งธปท.มีแผนจะเริ่มนำมาใช้ในช่วงต้นปี 2552ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ สาเหตุที่ธปท.มีการทบทวนเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากลต่างๆ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงและบางภาคธุรกิจก็ยังคงไม่ฟื้นตัวชัดเจนนัก ทำให้สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของสินเชื่อเหลือเพียง 2.4% ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ก็เริ่มเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ประกอบกับธปท.ได้เริ่มทยอยใช้เกณฑ์ไอเอเอส39บางส่วนแล้ว ซึ่งส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลและสัดส่วนการกันสำรองหนี้ของธนาคารพาณิชย์บางแห่งเพิ่มขึ้น รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรและเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงบางแห่งลดลง ธปท.จึงเกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อฐานะและการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบของสถาบันการเงินมากขึ้น

"ในช่วงที่ผ่านมาการประกาศใช้เกณฑ์สากลในส่วนของไอเอเอส39 ถือเป็นมาตรฐานการบัญชีใหม่และเกณฑ์บาเซิล 2 ของประเทศทางตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาหรือประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนก็มีการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ให้สถาบันการเงินเข้าร่วมโดยความสมัครใจและทยอยเพิ่มความเข้มข้นในการใช้เกณฑ์ดังกล่าวไม่ใช่การประกาศใช้แบบเข้มข้นหรือใช้ทุกเกณฑ์ทั้งฉบับในทันที โดยเฉพาะประเทศสหรัฐมีเพียงธนาคารพาณิชย์ที่ติดต่อทำธุรกรรมระหว่างประเทศเท่านั้นที่ใช้มาตรฐานบาเซิล 2 ส่วนธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นที่ทำธุรกรรมในประเทศไม่ได้ใช้เกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่บีบบังคับมากเกินไป”

ดังนั้น ในเบื้องต้นธปท.จึงได้ส่งแบบสอบถามไปยังสถาบันการเงิน เพื่อพิจารณาว่าการนำมาตรฐานสากลต่างๆ มาใช้แล้วจะเป็นการสร้างผลกระทบต่อเงินกองทุน ความสามารถในการทำกำไรและการกันสำรองต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินหรือไม่และอย่างไร โดยหลังจากเดือนมกราคม 2551 ทางธปท.จะมีการนำข้อมูลที่ได้ดังกล่าวมาพิจารณาทบทวนความเข้มงวดในการใช้มาตรฐานสากลเหล่านี้อีกครั้ง รวมทั้งยังจะมีการทบวนการนำเกณฑ์บาเซิล 2 มาใช้ว่าควรจะมาบังคับใช้ในคราวเดียวทั้งหมดหรือทยอยบังคับใช้ตามขั้นตอนแล้วจะมีผลดีต่อระบบสถาบันกาเรงินไทยมากกว่ากัน เพื่อพิจารณาถึงความสามารถในการดำเนินงาน การปล่อยสินเชื่อ รวมถึงความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทยควบคู่กันไป

"การทบทวนดังกล่าวไม่ใช่การยกเลิก หรือชะลอการประกาศใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ บาเซิล 2 หรือการเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์สากลจากเดิมที่ธปท.ได้ประกาศออกไป แต่อาจจะเป็นการทบทวนว่าควรจะเริ่มใช้มาตรฐานเหล่านี้อย่างไร เช่น การทยอยใช้ให้เหมาะสมกับการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความเข้มในการดูแลบริหารความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เพราะธุรกรรมบางประเภทสถาบันการเงินไทยังไม่มีการทำ หรืออาจจะค่อยๆ ทยอยบังคับใช้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.