เก็งเฟดลดดบ.อย่างต่ำ 0.25% แผนช่วยซับไพรม์ไม่ตรงจุด-แค่ช่วยพยุงศก.


ผู้จัดการรายวัน(11 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์-นักวิชาการประเมินมาตรการตรึงอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว 5 ปี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ซื้อบ้านของสหรัฐฯ แค่ช่วยบรรเทาปัญหาได้ไม่มาก ระบุเป็นมาตรการที่ช้าเกินไปและน้อยเกินไป ทำให้แนวโน้มการประชุมเฟดในวันที่ 11 ธันวาคมนี้น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%เป็นอย่างต่ำ ส่วนในปี 51 ยังคงอยู่ในขาลง แต่จะมากน้อยขึ้นอยู่กับการขยายวงกว้างของปัญหาซับไพรม์

จากการที่ทางการสหรัฐได้มีการประกาศแผนช่วยเหลือลูกหนี้หรือเจ้าของบ้านสหรัฐฯโดยการตรึงอัตราดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราว 5 ปีสำหรับเงินกู้ซับไพรม์ที่ทำไว้ในช่วงระหว่างปี 2548 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2550 และมีกำหนดจะปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ซึ่งในกรณีดังกล่าวนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า การที่ทางการสหรัฐฯได้นำมาตรการต่างๆ ออกมาใช้นั้น มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ให้ตกต่ำ ซึ่งมาตรการที่ออกมานั้นเหมือนว่าจะเป็นการออกมาช่วยแก้ปัญหาซับไพรม์แต่ในความเป็นจริงแล้วมาตรการที่ออกมาถือเป็นการช่วยส่วนรวมมากกว่า

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการที่ทางการสหรัฐฯออกมานั้น โดยรวมแล้วเท่าที่ดูก็จะมีความเห็นเป็น 2 ทาง ก็คือมาตรการดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี เนื่องจากเป็นการช่วยเฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น รวมทั้งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎซึ่งอาจทำให้เสียระบบโดยรวม

"บางฝ่ายก็มองเหมือนว่าทางการฝ่าฝืนกฎ ทำให้กฎไม่เป็นกฎ คิดจะมีกฎก็มี แต่พอมีปัญหาก็ยกเลิกหรือละเมิดกฎ ซึ่งอาจจะส่งผลโดยรวมได้ ก็คืออีกหน่อยนักลงทุนก็จะไม่เชื่อถือกฎที่ตั้งขึ้นมา"

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังเป็นช่วยเหลือในส่วนของลูกหนี้ที่ดี มีวินัยในการชำระเงินท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้ก็อาจจะช่วยเหลือได้ไม่มากนัก คาดว่าอาจจะแค่ 1 ใน3หรือ4เท่านั้น ดังนั้น มาตรการที่ออกมาก็อาจจะแค่บรรเทาปัญหาได้เล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ก็คงจะต้องดูในรายละเอียดของมาตรการที่อาจจะมีเพิ่มเติมออกมา เพราะหากทางการจะช่วยในส่วนของผู้ซื้อบ้านที่มีปัญหา ก็จะผลักดันให้ผู้ซื้อที่ผ่อนจ่ายสม่ำเสมอมาเป็นส่วนที่มีปัญหาได้ เพื่อให้ได้รับการผ่อนคลายจากมาตรการ

นายบันลือศักดิ์กล่าวอีกว่า มาตรการที่ออกมาคงยังไม่มีผลให้การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมวันที่ 11 ธันวาคมนี้เปลี่ยนแปลง โดยคาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% หรืออาจจะมากกว่านั้น โดยจากการสำรวจนักลงทุน 52% คาดการณ์ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ส่วนที่คาดการณ์ว่าลด 0.25% เนื่องจากคิดว่ายังมีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้ออยู่

คาดเฟดลดดบ.อย่างน้อย0.25%

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้หรือเจ้าของบ้านสหรัฐฯอาจจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯรอดพ้นจากการเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือการหดตัวลงอย่างรุนแรง แต่แผนดังกล่าวที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงเพราะอาจจำเป็นต้องแยกพิจารณาลูกหนี้เป็นรายกรณี ก็ถูกมองว่าเป็นการดำเนินการที่ช้าและน้อยเกินไป และอาจจะไม่ได้ช่วยให้ความเสียหายจากปัญหาซับไพร์มลดน้อยลงได้มากนัก หากราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คาดว่าเฟดอาจจะยังมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.25 ในการประชุมวันที่ 11 ธันวาคมนี้ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มที่มีต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าเฟดจะยังคงให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออยู่ก็ตาม

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯอาจขยับตัวสูงขึ้นในเดือนตุลาคม อันเป็นผลจากการเร่งขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลก แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยเฉพาะของผู้บริโภคและที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล ก็ยังคงอยู่ภายในกรอบที่เฟดรู้สึกว่าปกติหรือไม่เกินร้อยละ 2.0 นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเร่งสูงขึ้นจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะถูกถ่วงไว้ด้วยแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯในระยะถัดไป ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน่าจะยังไม่ใช่ประเด็นที่น่าวิตกกังวลมากนักและน่าจะยังเอื้อให้เฟดมีความยืดหยุ่นที่จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงได้อีก

สำหรับในปี 2551 ขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของเฟดคงจะขึ้นอยู่กับความเสียหายของปัญหาซับไพร์มว่าจะแผ่ขยายไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงหรือการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯมากน้อยและยาวนานเพียงใด รวมทั้งประสิทธิผลของนโยบายการเงินและมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มทั้งจากทางการสหรัฐฯและเฟดด้วย โดยกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถรอดพ้นจากภาวะถดถอยหรือไม่ได้ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ อาจจะปิด ณ ปลายปี 2551 ที่ร้อยละ 3.00-4.00 เทียบกับร้อยละ 4.00-4.25 ณ ปลายปี 2550

ขณะที่ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่า FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น (FED Funds Rate) ลงอีกในการประชุมครั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาในภาคการเงินส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของสหรัฐฯได้ปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีลงหลายพันล้านดอลลาร์เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัยและภาวะตลาดสินเชื่อตึงโดยคาดว่าจะปรับลด FED Funds Rate ลงในการประชุมวันที่ 11 ธ.ค. นี้ แต่คาดว่าจะปรับลดเพียง 0.25% มาสู่ระดับ 4.25% เนื่องจาก FED ยังคงคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อควบคู่กันไป โดยในเดือน ต.ค. อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 49

สำหรับการประชุมครั้งถัดไปในเดือน ม.ค. 51 คาดว่า FED ยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากผลกระทบของภาคอสังหาฯและวิกฤตสินเชื่อน่าจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในปี 51 ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีบ้านจำนองครบกำหนดสัญญาต้องใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวกว่า 2 ล้านราย ประกอบกับสถาบันการเงินและบริษัทต่างๆ ทยอยประกาศผลประกอบการในช่วงต้นปี 51 ซึ่งจะสะท้อนว่ามีการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ในบัญชีสืบเนื่องจากปัญหาซับไพร์มอีกมากเพียงใด ทั้งนี้ OECD ประมาณการว่าสัญญาจำนองซับไพร์มราว 8.9 แสนล้านดอลลาร์จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ในปี 51 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากราว 7.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 50 อีกทั้งได้คาดการณ์ว่าความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้ซับไพร์มอาจมีมูลค่ารวมสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ ตลอดจนคำกล่าวของประธานและรองประธาน FED ที่แสดงความวิตกกังวลต่อตลาดสินเชื่อในขณะนี้ อีกทั้งยังมีความเห็นว่าธนาคารกลางต้องการความยืดหยุ่นและเตรียมพร้อมอย่างไม่มีข้อจำกัด ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ FED มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อป้องกันมิให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตาม คาดว่า FED คงไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงมากนัก เนื่องจากมีสัญญาณว่าความรุนแรงของปัญหาซับไพร์มน่าจะมีแนวโน้มบรรเทาลงภายหลังจากที่ทางการสหรัฐฯได้เข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยผลจากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯในการช่วยเหลือลูกหนี้ซับไพร์ม ซึ่งน่าจะบรรเทาผลกระทบทำให้วิกฤตการณ์ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯคลายความรุนแรงลงบางส่วน ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ชะลอตัวลงรุนแรงเกินควร เมื่อประกอบกับแนวโน้มการทรงตัวของอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯน่าจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ย FED Funds Rate ลงอีกไม่เกิน 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกปี 51 ทั้งนี้ หากมีการปรับลด FED Funds Rate ที่มากและรุนแรงเกินไปอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมากเกินควร และเมื่อประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.