ตปท.รุมบาทบอนด์5หมื่นล้าน คลังตีปี๊บความเชื่อมั่น-ศก.ฟื้น


ผู้จัดการรายวัน(11 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เผยสถาบันการเงินต่างชาติ 10 รายทั้งเวิลด์แบงก์ เอดีบีและธนาคารจากยุโรป ขอออกพันธบัตรสกุลเงินบาทหรือบาทบอนด์วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท อายุ 3 ปีขึ้นไป หวังกระจายความเสี่ยงและแหล่งระดมทุนจากยุโรป-อเมริกามายังประเทศแถบเอเชีย แจงนำเงินที่ระดมทุนได้ปล่อยกู้ให้กับบริษัทจากชาติเดียวกันที่ทำธุรกิจในประเทศไทยและภูมิภาคนี้ คลังหวังบาทบอนด์มีอัตราอ้างอิงที่ดีและมีความเป็นสากลมากขึ้น อนุมัติหลักการแล้ว ผอ.สศค.ปลื้มความเชื่อมั่นคืนหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้น

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การที่สถาบันการเงินจากต่างชาติจำนวนกว่า 10 แห่ง ได้ยื่นขอออกพันธบัตรสกุลเงินบาท (บาทบอนด์) จำนวนประมาณ 50,000 ล้านบาทแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น สำหรับในแง่ของการดูดซับสภาพคล่องนั้นต้องดูว่าเม็ดเงินที่เขาเข้ามาระดมทุนไปนั้นนำไปใช้ในประเทศหรือต่างประเทศและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างมีนัยมากน้อยเพียงใด

“ในแง่ของความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจการที่ต่างชาติขออนุญาตออกบาทบอนด์ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะตั้งแต่มาตรการกันสำรองเงินตราต่างประเทศ 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาทำให้นักลงทุนบางส่วนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยพอสมควร แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งเขาก็เข้าในและมีความเชื่อมั่นจึงเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกครั้งรวมทั้งการขอออกบาทบอนด์ในครั้งนี้ด้วย” นางพรรณีกล่าว

นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงิน สำนักนโยบายระบบการเงิน สศค. กล่าวว่า สถาบันการเงินจากต่างประเทศ 10 แห่ง ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดการออกบาทบอนด์ ประกอบไปด้วย ธนาคารโลก (WB) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) SWEDISH EXPORT CREDIT CORPORATION (SEK) NORDIC INVESTMENT BANK (NIB) Deutsche Bank

สถาบันเครดิตเพื่อการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน Kreditanstalt fur Wiederaufbau (KfW) ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น The Japan Bank for International Cooperation (JBIC) CITY GROUP กองทุนเพื่อการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อม (Agence Fran?aise de D?veloppement ( AFD) ของฝรั่งเศส และ KBN แห่งเนเธอร์แลนด์

โดยสถาบันการเงินจากต่างประเทศเหล่านี้ได้ยื่นขอออกบาทบอนด์ในวงเงินรายละ 5,000 ล้านบาท รวมวงเงินโดยประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และสศค.ได้ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะอนุมัติให้กับสถาบันการเงินจากต่างประเทศรายใดบ้างที่ยื่นขอวงเงินออกบาทบอนด์เข้ามา

“ในเบื้องต้นหลายฝ่ายเห็นด้วยกับการยื่นขอออกบาทบอนด์ของสถาบันการเงินต่างประเทศในครั้งนี้เพราะเป็นการส่งเสริมให้ตลาดมีความต้องการบาทบอนด์ที่ออกโดยต่างชาติ ซึ่งหากผู้ที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตออกบาทบอนด์อนุมัติให้ออกบาทบอนด์ไปจะเป็นการส่งเสริมให้พันธบัตรสกุลเงินบาทมีอัตราอ้างอิงที่ดีและมีความเป็นสากลมากขึ้น” นายโชติชัยกล่าว

สำหรับการขอออกพันธบัตรสกุลเงินบาทในครั้งนี้สถาบันการเงินจะนำเงินที่ได้ไปปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยและเป็นบริษัทสัญชาติเดียวกันกับสถาบันการเงินแห่งนั้น นอกจากนี้ยังจะนำไปปล่อยกู้เพื่อก่อสร้างสาธารณูปโภคในประเทศที่อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ทั้งนี้ อายุพันธบัตรจะมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป อีกเหตุผลที่สถาบันการเงินต่างประเทศขออนุญาตออกพันธบัตรสกุลเงินบาทในครั้งนี้เนื่องจากต้องการกระจายความเสี่ยงจากการกระดมทุนนอกเหนือจากตลาดหลักในสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรปและต้องการพัฒนาตลาดการเงินไทยด้วย ส่วนลูกค้าที่เป็นเป้าหมายของการขายพันธบัตรคือ นักลงทุนประเภทสถาบันทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและบริษัทประกันชีวิตบริษัทประกันภัยในประเทศไทย

“การที่สถาบันการเงินต่างชาติขอออกบาทบอนด์ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนสถาบันในไทยมีความต้องการซื้อตราสารหนี้จากบริษัทหรือสถาบันที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีอันดับเครดิตที่ดีมากจากการจัดลำดับของบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก” นายโชติชัยกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.