|

แผนแปรรูปตลาดหุ้นคลอดQ1
ผู้จัดการรายวัน(11 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังเผยกระบวนการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ชัดเจนมากขึ้นหลังเปิดให้ที่ปรึกษาระดับโลก 4 รายยื่นข้อเสนอและรูปแบบการแปรรูปให้ตัดสินใจ ระบุอาจใช้รูปแบบเดียวกันกับมาเลเซียเพราะมีพื้นฐานและโครงสร้างที่คล้ายกัน เชื่อหากสำเร็จจะดึงดูดให้บริษัทจดทะเบียนทั้งในและต่างประเทศสนใจเข้าเทรดมากขึ้น ส่งผลมาร์เก็ตแคปเทียบเท่าจีดีพี ขณะที่ ก.ล.ต.ร่างกฎหมายรอ หากพร้อมประกาศใช้ทันที ด้าน ตลท.ได้ 5 รายชื่อเสนอศึกษาแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมชงบอร์ดตัดสินเลือก 19 ธ.ค.นี้ก่อนเซ็นสัญญาจ้างภายในวันที่ 28 ธ.ค.เพื่อให้เริ่มศึกษารูปแบบ โครงสร้างได้ทันทีปีหน้า "ภัทรียา" คาดได้ผลสรุปภายในไตรมาส 1/51
นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงิน สำนักนโยบายระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คณะทำงานศึกษาการปรับรูปแบบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งมีนายกฤษฎา อุทยานิน รองผู้อำนวยการ สศค.เป็นประธานฯ มีความคืบหน้ามากขึ้นหลังจากที่มีการหารือร่วมกันระหว่าง สศค. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลท.และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์
โดยในขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกได้แก่ เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาบูซ อัลเลน แอนด์ แฮมิลตัน จำกัด และบริษัท เล็กซ์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ซึ่งบริษัททั้ง 4 แห่งนี้มีประสบการณ์ในการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์มาแล้วหลายแห่งทั่วโลก
ซึ่งสิ่งที่บริษัทที่ปรึกษาเหล่านี้ต้องดำเนินการคือการแนะนำรูปแบบการแปรรูป เงินกองทุนต่างๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นเงินทุนประเดิมและกำไรสะสมกว่า 10,000 ล้านบาทต้องแปลงเป็นทุนเรือนหุ้นให้มีความชัดเจนว่ากระทรวงการคลังจะมีสัดส่วนหุ้นเท่าไร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ จะมีสัดส่วนในการถือครองหุ้นตลาดหลักทรัพย์เท่าไรบ้าง
“บริษัททั้ง 4 แห่งนี้มีประสบการณ์มากในการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์เขาจะสามารถแนะนำได้ว่าสัดส่วนของผู้ถือหุ้นควรเป็นเท่าไรและรูปแบบที่ออกมาควรเป็นอย่างไร โดยยกตัวอย่างของเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ให้กับมาเลเซียที่เพิ่งทำสำเร็จไปเมื่อไม่นานมานี้อาจเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับประเทศไทยเนื่องจากมีสภาพต่างๆ ที่ใกล้เคียงกันทั้งพื้นฐานหุ้นและโครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการถึง 3 ปี” นายโชติชัยกล่าว
ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ หากทำได้สำเร็จจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเพราะจะทำให้บริษัทต่างๆ เกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะตัวตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็เข้ามาระดมทุนทำให้การดำเนินการต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความโปร่งใสมากขึ้น
ทั้งนี้ มูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) รวม ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพี ซึ่งในอดีตช่วงปี 2538 ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ที่ระดับ 1,700 จุด มาร์เก็ตแคปอยู่ในสัดส่วน 100% ของจีดีพี หากตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพัฒนาได้เต็มที่มีบริษัทจดทะเบียนเข้ามาซื้อขายมาก ก็จะสามารถดันมาร์เก็ตแคปได้มากกว่า 100% ของจีดีพี ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมาร์เก็ตแคปสูงถึง 300% ของจีดีพี
นอกจากนี้การผลักดันให้มีการแปรรูปได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลท. ซึ่งขั้นตอนในขณะนี้อยู่ในระหว่างการทำความเข้าใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน ผู้บริหารและพนักงานตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากเมื่อมีการแปรรูปแล้วการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องทำตามนโยบายของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
“ตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพราะมีหลายฝ่ายได้รับผลกระทบทั้งพนักงานและผู้บริหารก็จะกลายเป็นพนักงานบริษัทไป ส่วนโบรกเกอร์ก็อาจได้รับผลกระทบในเรื่องของค่าธรรมเนียมเนื่องจากเมื่อกลายเป็นบริษัทมหาชนแล้วจะต้องทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ประเด็นนี้จึงต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายและพิจารณากันอย่างรอบคอบ” ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
สำหรับการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์นั้นทางสำนักงานก.ล.ต.ได้เตรียมความพร้อมโดยร่างกฎหมายพิเศษขึ้นมาเพื่อเสนอและสามารถบังคับใช้ได้ทันทีหากขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายแล้ว ทั้งนี้จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถปรับตัวรองรับการแข่งขันในตลาดทุนในภูมิภาคได้อย่างเข้มแข็ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|