บจ.ระดมทุนQ3วูบ64%สวนทางกำไรโตหลังดอกเบี้ยลด


ผู้จัดการรายวัน(6 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

สายงานวิจัยตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุไตรมาส3/50 บจ.ระดมทุนเพียง 1.6 หมื่นล้านบาทลดลงจากปีก่อนถึง 64.6% โดยกลุ่มแบงก์ครองแชมป์ระดมทุน 7.5 พันล้านบาท ด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.4% มาอยู่ที่ 9.27 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มทรัพยากรลงทุนมากที่สุดถึง 4.65 หมื่นล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 6.7% มาอยู่ที่ 6.9% หลังภาระดอกเบี้ยลดลง ด้านเงินปันผลพบจ่ายรวมกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท

สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกรายงานข้อมูลด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน การลงทุนและการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯผ่าน SET Note Corporate Update ไตรมาส3/2550 พบว่า บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในไตรมาส 3/ 2550 มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนกว่า 64.6% แบ่งเป็น การระดมทุนในตลาดแรก(ไอพีโอ) มูลค่า 400 ล้านบาท ขณะที่การระดมทุนในตลาดรองมีมูลค่า 1.56 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ การระดมทุนในตลาดรองส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PP) มูลค่าอยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท คิดเป็น 49.2% ของยอดระดมทุนรวม รองมาเป็นการระดมทุนจากผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ (EX) มูลค่าอยู่ที่ 4 พันล้านบาท คิดเป็น 24.9% และการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม(XR) มูลค่าอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท คิดเป็น 23.6 %ของยอดระดมทุนรวม ส่วนการเพิ่มทุนเพิ่มเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป ( PO) ไม่มีในไตรมาสนี้

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีการระดมทุนสูงสุด คือ กลุ่มธุรกิจการเงินคิดเป็น 47%ของมูลค่าระดมทุนรวม หรือ 7.5 พันล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)หรือ TBANK มูลค่าระดมทุน 4.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้น PP และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มูลค่าระดมทุน 2.9 พันล้านบาท รองมากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง คิดเป็น 22.4% ของการระดมทุนทั้งหมด มูลค่าระดมทุน 3.6 พันล้านบาท โดยลดลงจากช่วงเดียวกันถึง 75.8%

ส่วนการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนพบว่า มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 11.4 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2549 โดยมียอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรรวมกว่า 9.27 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มทรัพยากรมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมากที่สุดในไตรมาสนี้โดยมีมูลค่า 4.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รองมากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มูลค่าการลงทุน 1.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.5% จากงวดเดียวกันปีก่อน และกลุ่มเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร ขณะทีอุตสาหกรรมอื่นมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรลดลง โดยในไตรมาสนี้พบว่าบริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้พบว่า ระดับประสิทธิภาพ (รายไตรมาส) ของบริษัทจดทะเบียนไม่รวมกลุ่มการเงินและ NPG (Non-Performing Group) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาสนี้บางตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยวัดจากอัตราผลตอบแทนจากทุนที่ใช้ (ROCE) ที่เพิ่มขึ้น 4.2% มาอยู่ที่ระดับ 4.5 % และอัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net profit margin) เพิ่มขึ้นจาก 6.7% มาอยู่ที่ระดับ 6.9% สืบเนื่องจากบริษัทจดทะเบียนมีภาระในการชำระค่าดอกเบี้ยน้อยลง แต่อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ลดลงเล็กน้อยจากเดิม 4.2% มาอยู่ที่ระดับ 4.1% เกิดจากการลดลงของอัตราส่วนการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Asset turnover) 4.3% ส่วนด้านความเสี่ยงทางด้านการเงินของบริษัทจดทะเบียนพบว่าลดลง โดยอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Interest coverage ratio) เพิ่มขึ้น 0.9 เท่า อยู่ที่ระดับ 8.0 เท่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระดับประสิทธิภาพ (รายปี) ของไตรมาส 3/2550 กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่าลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากระดับประสิทธิภาพของไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2550 ที่ด้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2549 แต่ยังจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเปรียบกับไตรมาสเดียวกันตั้งแต่ปี 2543 -2548 ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อัตราผลตอบแทนจากทุนที่ใช้ (ROCE) และอัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net profit margin) เฉลี่ยที่ 11.6% 10.0% และ 6.4% ตามลำดับ โดยในไตรมาสนี้บริษัทจดทะเบียนมีเงินสดรับจากการดำเนินงานประมาณ 1.323 แสนล้านบาท โดยทุกกลุ่มอุตสาหกรรมใช้เงินส่วนนี้ไปในด้านการลงทุน 7.84 หมื่นล้านบาท โดยเน้นที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 9.27 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนต่างดังกล่าวส่วนใหญ่ได้มาจากการที่บริษัทจดทะเบียนได้รับเงินปันผลจากการลงทุน 9.5 พันล้านบาท

ด้านเงินสดจากการจัดหาเงินพบว่า บริษัทจดทะเบียนมีเงินสดจ่ายจากการจัดหาเงิน 7.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กิจกรรมจัดหาเงินพบว่า บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายเงินปันผลกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท จากการใช้จ่ายเงินสดของบริษัทจดทะเบียน 1.554 แสนล้านบาทในไตรมาสนี้ ทำให้เงินสดรับจากการดำเนินงานไม่พอเพียงต่อเงินสดจ่ายของบริษัทจดทะเบียน บริษัทจดทะเบียนจึงจำเป็นต้องใช้เงินสดที่มีอยู่ ณ ต้นไตรมาสมาใช้จ่าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.