|
สภาพัฒน์ฯคาดจีดีพีปีหน้าโต 4-5% แนะพัฒนาโครงการพื้นฐานเสริมศก.แกร่ง
ผู้จัดการรายวัน(4 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เลขาฯสภาพัฒน์ดักคอรัฐบาลใหม่อย่าทิ้งโครงการพื้นฐาน-ลอจิสติกส์ ระบุจะเป็นภูมิคุ้มกันสภาวะเศรษฐกิจระยะยาว ขณะที่ประมาณการจีดีพีปีหน้า คาดขยายตัว 4-5% ส่วนน้ำมันดิบดูไบ แตะ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาเรล จี้ธุรกิจไทยปรับตัวรับราคาน้ำมัน-การชะลอตัวเศรษฐกิจโลก
วานนี้(3 ธ.ค.) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีไตรมาส 3 (ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม)ของปี 2550 ว่า จีดีพีขยายตัวร้อยละ 4.9 สูงกว่าไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 และสูงกว่าไตรมาส 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการลงทุนของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้จะมีสัญญาณชะลอตัว
โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นถึง 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัว 1.3% และไตรมาส 2 ขยายตัว 0.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวโดยเพิ่มขึ้น 1.1% จากที่ลดลง 2.3% ในไตรมาสแรก และขยายตัว 0.47% ในไตรมาส 2 เนื่องจากมีการก่อสร้าง นำเข้าอุปกรณ์เครื่องจักรมากขึ้น รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมาย 407,000 ล้านบาท เพิ่มจาก 348,588 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน การท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 2.2% จาก 0.4% ในไตรมาส 2 การส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ 1.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.6% ลดลงจาก 2.4% ในไตรมาสแรก และ 1.9% ในไตรมาส 2 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ การผลิตสาขาอุตสาหกรรมมีการขยายตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 2 โดยอยู่ที่ร้อยละ 5.8 การก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.4 ดังนั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 แม้ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อย แต่แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อไม่มากนัก เนื่องจากโครงสร้างการใช้น้ำมันปรับตัวดีขึ้น ทำให้การปรับตัวในช่วงราคาน้ำมันสูงขึ้นทำได้ดี
"แม้ภาคการส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอตัวใน 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่ตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.9 ในเดือนตุลาคมจะทำให้การส่งออกรวมในไตรมาสสุดท้าย ยังขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะต้องเร่งตัวเองขึ้น ตามภาวะของการลงทุนที่เริ่มขยับตัว”นายอำพนกล่าว
นายอำพนกล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปลายปีนี้ยังดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกมากกว่าปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบ ทำให้คาดว่าไตรมาส 4 จีดีพีจะขยายตัวในระดับ 4.6-4.7% ส่งผลให้ในปี 2550 คาดว่าเศรษฐกิจจะมีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่าระดับ 4.5% และเมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบเข้ามากระทบ ยังคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2551 จะขยายตัว 4-5% จากการลงทุนภาครัฐ ที่จะขยายตัวถึงร้อยละ 8 นอกจากนั้นยังมีโครงการที่ผ่านบีโอไอที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2551 ที่กระจายตัวในกลุ่มเอสเอ็มอี ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เอทานอลและผลิตภัณฑ์พลาสติก
ทั้งนี้ ปัจจัยบวกมาจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อัตราว่างงานต่ำ การปรับเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ การดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การเมืองมีความชัดเจน เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันระดับสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอลงที่อาจรุนแรงกว่าคาดการณ์ไว้ จากปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐ และราคาน้ำมันตลาดโลก รวมถึงปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกปี 2551 จะขยายตัวประมาณ 4.5% ชะลอลงจาก 4.8% ในปี 2550
"จากความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกดังกล่าว จะทำให้มีการแข่งขันสูงในกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋อง เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งกฎเกณฑ์ทางมาตรฐานคุณภาพสินค้าที่เข้มงวดขึ้น ดังนั้น นักธุรกิจไทยควรต้องเร่งปรับตัวให้ทันด้วย"เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2551 การนำเข้าจะขยายตัว 12.5% จากที่ขยายตัว 10% ในปี 2550 เพราะมีการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรมารองรับการลงทุน ทำให้ยอดดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลน้อยลง จาก 4.9% ในปี 2550 ลดลงเป็น 3.6% ในปี 2551 การลงทุนจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ในปี 2550 เป็น 5.8% โดยเฉพาะเป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาครัฐลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 4.5% เป็น 8% ในปี 2551 การบริโภคเพิ่มขึ้น 3.1% จากในปี 2550 เป็น 4.5% ในปี 2551
ส่วนการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่า 163,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 10% ลดลงจากปี 2550 ที่ขยายตัว 16% และมีมูลค่าการส่งออก 148,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อปี 2551 จะอยู่ที่ 3.0-3.5% จาก 2.3% ในปี 2550
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า ปี 2551 ราคาน้ำมันดิบดูไบ จะเฉลี่ยเท่ากับ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาเรล เนื่องจากตลาดน้ำมันยังคงตึงตัว แต่คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะชะลอลงเล็กน้อยในครึ่งหลัง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่คาดว่าจะเริ่มทรงตัวได้ดีขึ้นในครึ่งหลังของปี รวมทั้งการปรับเพิ่มกำลังผลิตของกลุ่มประเทศโอเปค
นาย อำพน ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้สภาพัฒน์จะกำลังศึกษานโยบายของพรรคการเมืองต่างๆอยู่ แม้ยังไม่ทราบว่าพรรคใดจะได้เป็นรัฐบาล แต่จุดสำคัญที่จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจปี 2551 เติบโตได้ตามที่คาดหมายไว้ รัฐบาลชุดใหม่จะต้องดำเนินการลงทุนโครงการพื้นฐานที่จำเป็น และระบบลอจิสติกส์ของภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งโครงการขนส่งมวลชน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง 2 สาย สายสีม่วง 1 สาย และโครงการรถไฟรางคู่ เพราะจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มทำการลงทุน หลังจากภาคเอกชนหยุดชะงักมากว่า 2 ปี
ทั้งนี้ รวมไปถึงการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตามโครงการอยู่ดีมีสุข ของรัฐบาลชุดนี้ที่จัดสรรงบประมาณไปยังชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
"ดังนั้นปี 2551 ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ถ้าหากจะเดินหน้าเพื่อให้เกิดความสมดุล โครงการเหล่านี้ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างฐานราก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวหรือภาคบริการที่เป็นการพึ่งพาเศรษฐกิจ รัฐบาลชุดใหม่ก็จะต้องยึดตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 มิฉะนั้นถ้าไม่ดำเนินการก็จะไม่มีภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจต่อไป”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|