|
John Key กับกระแสการเมืองที่ย้อนกลับมาสู่แนวอนุรักษนิยม
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
กระแสการเมืองโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักการเมืองจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาแนวอนุรักษนิยมทั่วโลกได้มีการเปลี่ยนแปลง จากหัวหน้าพรรคที่สูงอายุมาเป็นนักการเมืองหนุ่มไฟแรง อย่างเช่น เดวิด คาเมรอน ของพรรคอนุรักษนิยมในอังกฤษ หรือในเมืองไทยเองก็ยังมีคนหนุ่มอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมานำพรรคประชาธิปัตย์ และในประเทศนิวซีแลนด์ก็เช่นเดียวกัน พรรคชาตินิวซีแลนด์ (National Party of New Zealand) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและพรรคขนาดใหญ่อันดับที่สอง ได้เลือกนักการเมืองหนุ่มใหญ่วัย 45 ชื่อ จอห์น คีย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2006 เพื่อนำพรรคเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2008
หากผู้อ่านสังเกตกระแสการเมืองในประเทศพัฒนาแล้วอย่างละเอียดจะเห็นได้ว่า การจัดตั้งและสับเปลี่ยนขั้วของรัฐบาลในหลายๆ ประเทศมักจะสอดคล้องกันเหมือนโดมิโน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 90 กระแสการเมืองโลกนั้นจะเอียงซ้าย ทำให้เกิดผู้นำทางการเมืองแนวสังคมนิยมและเสรีนิยมขึ้นมาสู่อำนาจอย่างมากมาย เช่น โทนี่ แบลร์ ในอังกฤษ โกรัน เพอร์สัน ในสวีเดน หรือ เจอราด ชโรเดอร์ ในเยอรมนี ในประเทศนิวซีแลนด์เองก็เช่นเดียวกัน พรรคแรงงานภายใต้การนำของเฮเลน คล้าก สามารถล้มรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมของเจนนี่ ชิพเล่ย์ ได้สำเร็จในปี 1999 และส่งผลให้ขั้วการเมืองเปลี่ยนจากแนวอนุรักษนิยมไปสู่สังคมนิยม
ตรงนี้ผมได้เคยชี้แจงในฉบับที่ผ่านมาแล้วว่า แนวเอียงซ้ายไม่ใช่เรื่องไม่ดี นโยบายเอียงซ้ายก็มีข้อดีในตัวเอง นักศึกษาในเมืองฝรั่งจำนวนไม่น้อยมองว่า การเมืองฝ่ายซ้ายเป็นวีรบุรุษเสียด้วยซ้ำ เพราะเขายึดติดกับภาพของโรบินฮู้ด คือปล้นคนรวยไปช่วยคนจน และเห็นว่าสอดคล้องกับนโยบายฝ่ายซ้ายคือเก็บภาษีสูงๆ จากนักธุรกิจ เพื่อเอาไปทำประชานิยม นอกจากนี้พวกฝ่ายซ้ายจะชอบมีคอนเซ็ปต์ประเภท change the world เช่น ช่วยเหลือคนอดอยากในประเทศด้อยพัฒนา หรือ save the world เช่น อนุรักษ์ธรรมชาติ
เมื่อฝ่ายซ้ายเข้ามามีอำนาจ ปัญหาของพรรคฝ่ายขวาคือ การเอาพวกนี้ลงจากอำนาจ ซึ่งผมรับรองได้เลยครับว่ายากมาก เพราะเมื่อฝ่ายซ้ายเข้ามามีอำนาจนโยบายหลักของพวกเขาคือประชานิยม โดยการแจกไม่อั้น แจกเงิน แจกบ้าน แจกปัจจัยสี่ โดยสังเกตได้ว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายนั้นจะลากยาวกันระหว่าง 5 ถึง 10ปี โดยสังเกตได้ว่าในอังกฤษทุกวันนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 10 ของรัฐบาลแรงงาน นิวซีแลนด์ก็เข้าสู่ปีที่ 8 ในประเทศสวีเดนรัฐบาลฝ่ายซ้ายก็ครองอำนาจถึง 12 ปี ก่อนที่จะหมดอำนาจ หรือชโรเดอร์ก็ครองอำนาจถึง 7 ปี ในเยอรมนี ดังนั้นการที่ฝ่ายอนุรักษ์จะชิงเก้าอี้คืนตามวิถีทางประชาธิปไตยนั้นจึงจำเป็นต้องหาจุดขายที่เหนือกว่าประชานิยมให้ได้
ในประเทศนิวซีแลนด์ พรรคชาตินิวซีแลนด์หาทางสู้กับฝ่ายค้านโดยในขั้นแรกทางพรรคได้ให้เกียรติเจนนี่ ชิพเล่ย์ อดีตนายกรัฐมนตรีให้นำพรรคต่อไป เพราะเชื่อว่าการใช้อดีตนายกหญิงคนแรกของนิวซีแลนด์ สู้กับนายกหญิงแกร่งอย่างเฮเลน คล้าก ถือว่าสมน้ำสมเนื้อกัน ชิพเล่ย์ เป็นนายกที่ผมยกย่องท่านหนึ่งเพราะเป็นคนตรง มัธยัสถ์ สมถะ และเด็ดขาด ไล่พรรคร่วมรัฐบาลที่มีชื่อเสียเรื่องเหยียดสีผิวคนเอเชียออกจากการร่วมรัฐบาล โดยไม่สนใจว่าตนเองจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ผมยังจำได้ว่าตอนที่ท่านมาเป็นวิทยากรให้กับนักศึกษา ท่านขับรถฟอร์ดส่วนตัว ไปจอดในที่จอดรถรวมแล้วก็เดินเข้าไปนั่งรอในหอประชุมปะปนไปกับนักศึกษา อย่างไรก็ตาม ท่านได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อแสดงความรับผิดชอบหลังจากแพ้การเลือกตั้ง
ขณะนั้นพรรคเชื่อว่าหนทางที่จะชนะเลือกตั้งได้นั้นต้องใช้พลังของคนหนุ่ม พรรคตัดสินใจเลือกบิล อิงลิช นักการเมืองหนุ่มหน้าตาดี วัย 39 ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ด้วยจุดเด่นที่พูดเก่ง การศึกษาสูง และหน้าตาดี ทำให้เขาได้รับเลือกตั้งแต่อายุ 29 ปี โดยคะแนนนิยมในเขตของเขาสูงถึง 65% ต่อมายังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณสุขด้วยวัยเพียง 35 ปี แม้ว่าจะผ่านงานเป็นเจ้ากระทรวงมาแล้ว แต่ด้วยวัยเพียง 39 ปี อิงลิชก็หนีไม่พ้นการโดนโจมตีว่าอ่อนประสบการณ์ และเมื่อการเลือกตั้งมาถึง อิงลิชเลือกที่จะทำแคมเปญเช่นการร่วมงานการกุศลหรือใช้ภาพลักษณ์ของตนเองเป็นจุดขาย ซึ่งเรียกว่าห่างไกลจากการที่จะเอาชนะนายกคล้ากมาก ในที่สุดพรรคชาติได้พ่ายแพ้การเลือกตั้งแบบหมดสภาพ สามารถนำ ส.ส. เข้ามาได้แค่ 21%
ดังนั้นพรรคชาติจึงตัดสินใจสู้ด้วยขิงแก่ คือเปลี่ยนให้ ดร.ดอน แบรช อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ วัย 65 ออกมาสู้ ดร.แบรชโจมตีพรรคแรงงานถูกจุดคือ นำเอางบดุลมาชี้ให้ประชาชนเห็นว่าทุกๆ ปีรัฐบาลเอาเงินจำนวนเท่าไรไปถมกับประชานิยม และส่งผลให้รายได้ต่อหัวของประชาชนลดลงเพราะภาษีที่สูงขึ้นทำให้เหลือเงินเก็บน้อยลง ปัญหาการนำประชาชนที่ไร้คุณภาพจากประเทศโลกที่สามมานิวซีแลนด์และการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม แต่รัฐบาลฝ่ายซ้ายได้หน้าว่าช่วยโลก ปัญหาจากสนธิสัญญาเกียวโตซึ่งทำให้ชาวนิวซีแลนด์ต้องแบกรับภาษีที่สูงขึ้นและต้องยุติการใช้พลังงานในประเทศและนำไปสู่การขาดดุลการค้าเพราะต้องนำเข้าพลังงาน ส่งผลให้คนตกงานจำนวนมากและค่าไฟที่แพงขึ้น เพียงแค่รัฐบาลได้หน้าว่าได้กู้โลก ผมต้องยอมรับว่าขิงแก้ยี่ห้อแบรชนั้นเผ็ดจริงและโดนใจชาวนิวซีแลนด์ด้วยนโยบายเด็ดคือ ลดภาษีลง 14% โดย ดร.แบรชชี้ว่า ถ้ายกเลิกประชานิยม ยกเลิกการอนุญาตให้ประชาชนด้อยคุณภาพจากประเทศโลกที่สามเข้านิวซีแลนด์ ฉีกสัญญาเกียวโตทิ้งแบบออสเตรเลียและอเมริกา และกลับมาใช้พลังงานสำรองในประเทศ เช่น ถ่านหิน เพราะนิวซีแลนด์เป็นชาติที่มีถ่านหินสำรองเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้รัฐสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 40% ดังนั้นแบรชจึงสรุปว่าการลดภาษีจึงเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม ดร.แบรชก็หนีไม่พ้นการโดนโจมตีจากเรื่องครอบครัวเพราะท่านไม่ได้แต่งงานกับชาวนิวซีแลนด์แต่ภรรยาเป็นชาวจีนมาเลเซีย และข่าวลือว่าท่านสนับสนุนโบสถ์เอ็กคลูซีฟเบเทอรันให้ทำใบปลิวสาปแช่งคนที่เลือกพรรคแรงงานให้ตกนรกหมกไหม้ แต่ที่แรงที่สุดคือนโยบายยึดคืนบ้านเอื้ออาทรและเอาไปขายทอดตลาดหรือเก็บค่าเช่าผู้ที่อยู่ในโครงการตามราคาตลาด ตรงนี้เองทำให้บรรดารากหญ้าเฮโลออกมาเลือกพรรคแรงงาน และเป็นจุดที่พรรครัฐบาลใช้โจมตีได้ผลที่สุด เพราะชาวรากหญ้าเมืองกีวีนั้นถ้าไม่ทำงานรัฐบาลจะเลี้ยงดูเดือนละหลายหมื่นบาท และบ้านเอื้ออาทรของรัฐบาลนั้นจะมี 2 ห้องนอน 1 ห้องนั่งเล่น และห้องน้ำในตัว พร้อมค่าเช่าสุดถูกแค่เดือนละ 2,000 บาท ซึ่งนับว่าถูกมากเพราะบ้านเช่าในตลาดจะตกเดือนละ 20,000-38,000 บาท ผลปรากฏว่าการเลือกตั้งในปี 2005 นั้นนับว่าเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่สูสีที่สุด โดยผลของโพลในนิวซีแลนด์ซึ่งได้ชื่อว่าแม่นอันดับต้นๆ ในโลกยังไม่กล้าฟันธงว่าใครจะได้ ต่างต้องอาศัยเออเร่อมาร์จิน 2% กล่าวคือโพลอาจคลาดเคลื่อนได้ 2% ซึ่งผมยอมรับว่าโพลนิวซีแลนด์นั้นแม่นแม้แต่เออเร่อมาร์จิน เพราะ ส.ส.พื้นที่ทั้งสองพรรคแบ่งกันไปพรรคละ 31 คน เท่ากัน แต่พรรคพันธมิตรฝ่ายขวาได้ 5 ที่ พรรคพันธมิตรฝ่ายซ้ายได้ 2 ที่ ถ้าวัดกันตาม ส.ส.พื้นที่ พรรคชาติจะได้จัดตั้งรัฐบาลที่ 36 ส.ส. ต่อ 33 แต่เมื่อมีการนำปาร์ตี้ลิสต์มาเพิ่ม ปรากฏว่าอัตราคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 2% พอดี พรรคแรงงานได้ ส.ส. ลิสต์ 19 คน ทำให้ได้ ส.ส. รวม 50 ส่วนพรรคชาติได้ 17 คน ทำให้ได้ ส.ส.รวม 48 แต่พรรคร่วมฝ่ายซ้ายกลับได้ ส.ส. มาเพิ่มถึง 15 ขณะที่ฝ่ายขวาได้มาแค่ 1 ทำให้รัฐบาลผสม 5 พรรคฝ่ายซ้ายได้ 67 เสียง ขณะที่ฝ่ายขวาได้จาก 3 พรรค รวม 54 เสียง เมื่อแพ้เลือกตั้งในตอนแรก พรรคชาติเชื่อว่าขิงแก่อย่างแบรชยังคงมีลุ้นที่จะสู้ต่อ แต่ด้วยวัยที่สูงขึ้นทำให้ ดร.แบรชตัดสินใจเกษียณตนเอง
ในที่สุดพรรคชาติจึงสรรหาผู้นำคนใหม่ที่จะมาสู้ศึกเลือกตั้ง บรรดาผู้บริหารมองว่า หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง การที่พรรคแรงงานชนะเลือกตั้งได้นั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากกระแสการเมืองโลก แต่ที่จะปฏิเสธไม่ได้คือ การที่พรรคแรงงานใช้เฮเลน คล้าก ซึ่งเป็นคนที่เข้าใจโครงสร้างและฐานเสียงของพรรคชาติ เพราะตระกูลคล้ากเป็นฝ่ายขวามาก่อน เรียกว่าเข้าตำราพิชัยสงครามคือ รู้เขารู้เรา พรรคชาตินั้นใช้แต่ลูกหม้อมานานจึงไม่รู้เขาและออกไปเสียท่าฝ่ายรัฐบาลมาหลายหน ในที่สุดพรรคจึงตัดสินใจเลือกจอห์น คีย์ นักการเงินหนุ่ม วัย 45 มาเป็นหัวหน้าพรรค คีย์นั้นเป็นบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นกระจกเงาที่เหมือนแต่ตรงข้ามซ้ายขวากับนายกคล้าก พรรคชาตินั้นเป็นพรรคฝ่ายขวาซึ่งครอบครัวของผู้สนับสนุนมักจะเป็นชนชั้นกลางถึงบน จอห์น คีย์ กลับเกิดในตระกูลซึ่งสนับสนุนพรรคแรงงานและเป็นชาวรากหญ้าพันธุ์แท้ แถมเติบโตในโครงการบ้านเอื้ออาทรและกินเงินสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มฐานเสียงหลักของพรรคแรงงานโดยตรง ซึ่งตรงนี้เมื่อเอาไปวัดกับนายกคล้าก ซึ่งผมได้เกริ่นในฉบับก่อนก็เหมือนกับภาพที่ตรงกันข้าม เพราะนายกคล้ากนั้นเกิดในครอบครัวผู้มีอันจะกิน เข้าศึกษาในสถาบันชั้นนำ แต่กลับไปเป็นพวกฝ่ายซ้ายตอนที่เข้ามหาวิทยาลัย
เช่นเดียวกันจอห์น คีย์ เป็นชาวรากหญ้าระดับดั้งเดิม เข้าโรงเรียนรัฐบาล แต่อาจจะเพราะเป็นชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายยิวซึ่งมีความขยันและฉลาดทำให้เขาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งแคนเทอเบอรี่ได้สำเร็จ ในยุคนั้นหากมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ที่นายกคล้ากศึกษาอยู่เป็นแหล่งของนักศึกษาฝ่ายซ้าย มหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ก็เป็นแหล่งของนักศึกษาฝ่ายขวา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คีย์จะมาเข้ารีตฝั่งขวาเมื่อเข้ามาอยู่ในรั้วของแคนเทอเบอรี่ หลังจากออกจากรั้วมหาวิทยาลัย คีย์ได้เข้าทำงานกับตลาดหลักทรัพย์นิวซีแลนด์ ก่อนย้ายไปทำงานกับเมอริลลินช์ที่สิงคโปร์ ลอนดอน ซิดนีย์ ก่อนจะออกไปเรียนปริญญาโทที่ฮาร์วาร์ด หลังจากนั้นเข้าทำงานกับธนาคารกลางนิวยอร์ก
คีย์กลับมานิวซีแลนด์ปี 2001 และเล่นการเมืองในปีต่อมาด้วยการสมัครเข้ารับเลือกตั้ง ในปี 2002 พรรคแรงงานได้ฉวยโอกาสรวบเขตเลือกตั้งของพรรคชาติ คือเขตไวตาคีรีกับเขตเฮเลนวิลล์ของตนเข้าด้วยกัน เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ทางพรรคชาติจึงต้องหาผู้สมัครใหม่ คีย์ได้เป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งในตอนนั้น อย่างไรก็ตาม ทางพรรคได้จัดความสำคัญของคีย์ในปาร์ตี้ลิสต์อันดับที่ 43 ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือถ้าสอบตก ส.ส. เขต อนาคตทางการเมืองของคีย์เป็นอันว่าจบสิ้น ในช่วงนั้นคีย์เป็นตัวเก็งที่จะสอบตก ตั้งแต่ตอนถูกเสนอชื่อ เพราะว่ต้องมาสู้กับผู้สมัครพรรคแรงงานซึ่งมีกระแสนิยมนายกคล้ากหนุนหลังอยู่ อย่างไรก็ตาม คีย์ได้หาเสียงอย่างหนักและหลุดเข้ามาได้ และด้วยความรู้ความสามารถของเขา ส่งให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำในการอภิปรายนโยบายการเงินของรัฐบาล ซึ่งเป็นการเติบโตในพรรคแบบก้าวกระโดด จากอันดับที่ 43 เป็นอันดับที่ 4 ของพรรคชาตินิวซีแลนด์ในเวลา 2 ปี นอกจากนี้คีย์ยังสามารถรักษาเก้าอี้ ส.ส.เฮเลนวิลล์ ได้อย่างงดงามในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
ในช่วงที่สรรหาผู้นำพรรคชาติ จอห์น คีย์ได้รับแรงสนับสนุนจากสื่อมวลชนและจากคนรุ่นใหม่ในพรรคชาติเป็นอย่างมาก งานแรกที่คีย์เร่งแก้ไขคือการตั้งคนหนุ่มสาวที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารและลดบทบาทของนักการเมืองรุ่นเก่าลงไป ทีมงานของคีย์นั้นประกอบด้วยนักวิชาการ นักธุรกิจ นักกฎหมายวัย 30 ตอนปลายถึง 40 นอกจากนี้คีย์ได้แสดงความสามารถโดยการขยายนโยบายของพรรคชาติให้ครอบคลุมฝ่ายซ้าย โดยเสนอนโยบายการลดกรีนเฮาส์แก๊สลงครึ่งหนึ่ง แต่กลับไม่แสดงท่าทีสนับสนุนสนธิสัญญาเกียวโตทำให้เขาไม่เสียคะแนนเสียงจากฝ่ายขวาที่ต่อต้านสนธิสัญญาและได้คะแนนสนับสนุนจากพวกเลฟออฟเซนเตอร์บางส่วน อย่างไรก็ตาม คีย์นับว่าเป็นนักการเมืองที่มีสีสันคนหนึ่ง เขาเลือกที่จะโจมตีกฎหมายที่พรรคเขาจะได้คะแนนเสียงจากพลังเงียบ เช่น การต่อต้านกฎหมายที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ทำให้กลุ่มพลังเงียบแสดงความพอใจอย่างมาก การสนับสนุนให้เพิ่มอายุสำหรับผู้ที่มีสิทธิดื่มสุราจาก 18 เป็น 20 ปี ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่พอใจกันมาก
แม้ว่าคีย์จะแพ้ในสภาทั้งสองหน แต่คะแนนเสียงของเขากลับพุ่งขึ้นตามนายก คล้ากแบบหายใจรดต้นคอ แต่ที่ทำให้คีย์เป็นตัวเต็งคือการที่เขาค้านกฎหมายห้ามตีบุตรและธิดา ซึ่งรัฐบาลฝ่ายซ้ายนำเรื่องสิทธิเด็กมาขยายความจนตกขอบ พรรคชาติและคีย์กลายมาเป็นศูนย์รวมของผู้ปกครองทั้งประเทศในการต่อต้านกฎหมายดังกล่าว ที่จะให้สิทธิตำรวจจับกุมบิดามารดาที่ตีลูกของตนเอง ด้วยกระแสสังคมที่รุนแรงทำให้คะแนนของคีย์และพรรคชาติในโพลทุกสำนักขี่พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรครวมกัน ถึง 10% เพราะตอนนั้นไม่ใช่แค่โบสถ์เอกคลูซีฟเบทารันที่สาปให้รัฐบาลตกนรก แต่บรรดาชาวคริสต์แทบจะทุกนิกาย ร่วมกับมัสยิดมุสลิม ต่างออกมารณรงค์ถล่มกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยโพลชี้ว่าประชาชน 85% ไม่เห็นด้วยและมากกว่าครึ่งของประชาชนที่มาทำโพลชี้ว่าจะไม่เลือก 5 พรรครัฐบาล กระแสสังคมที่รุนแรงคราวนี้ทำเอารัฐบาลซึ่งในอดีตได้ออกกฎหมายสารพัดโดยอาศัย ส.ส. เกินครึ่งสภา จำเป็นต้องเข้าเกียร์ถอยหลังแบบสุดตัว และรัฐบาลสุดท้ายต้องรักษาหน้าตนเองโดยเจรจากับฝ่ายค้านว่าจะออกกฎหมายนี้แต่จะตัดส่วนที่เกี่ยวกับบทลงโทษของผู้ปกครองออกไป แม้ว่าในภาพรวมพรรครัฐบาลดูเหมือนว่าจะชนะเพราะใช้เสียงกว่าครึ่งสภาออกกฎหมายนี้ได้ แต่คนที่ชนะจริงๆ กลับเป็นคีย์และพรรคชาติ เพราะโพลจากวันนั้นเป็นต้นมา คะแนนของคีย์และพรรคของเขาก็ขี่รัฐบาลอยู่ที่ 10% มาเป็นเวลาติดต่อกันถึง 6 เดือนเข้าไปแล้ว
นอกจากนี้กระแสการเมืองโลกที่เอียงขวายังช่วยหนุนคีย์อย่างชัดเจน ขณะที่พรรครัฐบาลกลับไม่สามารถหาช่องว่างมาโจมตีคีย์ได้ถนัด ยกเว้นแต่การคาดเดาแบบไม่สร้างสรรค์ เช่น พรรคฝ่ายขวาเป็นพวกอเมริกา ถ้ามีอำนาจก็จะส่งทหารนิวซีแลนด์ไปรบที่อิรัก และจะยกเลิกนโยบายปลอดนิวเคลียร์ ซึ่งคีย์กลับออกมารับอย่างน่าสนใจว่า ปลอดนิวเคลียร์นั้นไม่ดีตรงไหนในเมื่อออสเตรเลียมียูเรเนียมอยู่มาก ถ้าเอามาใช้ทำพลังงานไฟฟ้าก็จะลดการขาดดุลการนำเข้าน้ำมันมาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ และลดพอลลูชั่นและกรีนเฮาส์แก๊สได้เกือบ 20% นโยบายนี้โดนใจคนนิวซีแลนด์แค่ 30% แต่การแสดงความชัดเจนกลับกลายเป็นข้อดีเพราะคนที่ไม่เลือกพรรคชาติเพราะเหตุผลว่าไม่สนับสนุนนโยบายปลอดนิวเคลียร์ยังไงก็ไม่เลือกอยู่แล้ว
แต่ที่ยังลังเลเพราะเป็น 30% ที่หนุนพลังงานนิวเคลียร์ต่างก็เทใจเข้าฝั่งขวา นอกจากนี้คีย์ยังแย้งได้น่าสนใจเรื่องส่งทหารนิวซีแลนด์ไปอิรักว่า ถึงวันนั้นอเมริกาจะต้องการนิวซีแลนด์ไปอิรักหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ แต่ถ้าเป็นมิตรกับอเมริกา ฟรีเทรดก็จะตกเป็นของชาวกีวี นอกจากนี้เขายังเสนอนโยบายลดภาษีลงสำหรับคนที่ขยันทำงาน พูดง่ายๆ คือ ถ้าทำงาน 2-3 แห่ง จะลดภาษีลงจากเดิมราวๆ 18% เช่น ทำงานพิเศษได้เดือนละ 2,150 ดอลลาร์ ปัจจุบันจะโดนภาษี 37% เหลือเก็บเพียง 1,300 กว่าๆ นโยบายของคีย์จะลดภาษีลงเหลือเพียง 19% หรือเหลือเก็บถึง 1,740 แทน นโยบายนี้ยิ่งทำงานมากก็ยิ่งได้เงินมาก โดยคีย์ชี้แจงว่า เราจะปฏิรูปนโยบายประชานิยมให้มาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้คนที่ไม่ทำงานและคอยรับเงินช่วยเหลือมาตลอดชีวิตให้เป็นคนขยันและสู้งาน เพราะถ้าคนเราไม่รู้จักพึ่งพาตนเอง คนคนนั้นก็จะต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดไป และถ้าประเทศนิวซีแลนด์มีแต่เด็กที่เกิดจากผู้ปกครองที่เอาแต่พึ่งพารัฐบาล เด็กเหล่านั้นก็จะอดอยาก เมื่อท้องว่างไปเรียนหนังสือ สมองก็ไม่รับรู้อะไร เด็กเหล่านี้ก็จะสมองว่างเปล่า เมื่อสมองว่างเปล่าชีวิตของพวกเขาก็จะว่างเปล่า
เมื่อกระแสการเมืองโลกได้พัดหวนกลับมาทางขวา สิ่งที่น่าสนใจในการเมืองนิวซีแลนด์คือพรรคชาตินิวซีแลนด์ และจอห์น คีย์เองจะสามารถโหนกระแสกลับมาเป็นรัฐบาลได้หรือไม่ แต่ที่ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งคือ คนที่มีความสามารถเช่น จอห์น คีย์ คงจะไม่ปล่อยโอกาสของตนเองให้เสียเปล่าอย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|