Chinatown of Kolkata

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

โกลกะตะ หรือกัลกัตตา เป็นเมืองเดียวในอินเดียที่มี "ไชน่าทาวน์" และตลาดเช้าของไชน่าทาวน์ก็เป็นที่เดียวในอินเดีย ที่คุณจะได้ลิ้มรสจานด่วนที่ปรุงจากก้นครัวของคนจีนแท้ๆ อย่างซุปลูกชิ้นปลา ขนมจีบไส้ปลา กุ้ง ไก่ "เปา" หรือซาลาเปาไส้ไก่ หมู หรือถั่วแดง ปาท่องโก๋ทอดร้อนๆ รวมถึงจับจ่ายของแห้งโฮมเมดอย่างวุ้นเส้น กุนเชียง เต้าหู้ ข้าวเกรียบกุ้ง และผักที่หาไม่ได้ในตลาดอื่น เช่น ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักกวางตุ้ง ตั้งโอ๋ โดยที่พ่อค้าแม่ขายแม้หน้าตาเป็นจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กลับพูดฮินดีหรือเบงกาลีได้คล่องและชัดในสำเนียง

ย่านในกัลกัตตาที่เรียกกันว่า ไชน่าทาวน์ มี 2 ย่าน ย่านแรกอยู่ใจกลางเมืองบริเวณถนนซุนยัตเซ็นและ Chattawala Gully อันเป็นที่ตั้งของตลาดเช้า ร้านค้าและที่อยู่อาศัยของชาวจีน บ้างเรียกกันว่า "ชีน่าบาซาร์" ไชน่าทาวน์อีกแห่งตั้งห่างออกไปทางตะวันออกราว 5 กิโลเมตร อยู่ในเขต Tangra อันเป็นแหล่งโรงฟอกหนัง

จากบันทึกพบว่าชาวจีนเริ่มเข้ามาทำงานและตั้งรกรากในกัลกัตตาในช่วงปลายทศวรรษ 1770 เพราะกัลกัตตาสมัยนั้นเป็นเมืองหลวงของ British India และเป็นเมืองท่าสำคัญที่สะดวกที่สุดสำหรับเรือสินค้าจากจีนจะเข้ามาทำการค้ากับอินเดีย ชาวจีนอพยพรุ่นแรกๆ ที่มากับเรือสินค้าเหล่านั้น บ้างทำงานในโรงงานน้ำตาลและในท่าเรือ Khidderpore ต่อมาพบบันทึกว่ามีคนจีนกลุ่มหนึ่งเริ่มมาตั้งรกรากในย่านถนนโบว์บาซาร์ ใกล้กับไชน่าทาวน์ในปัจจุบัน

ราวกลางศตวรรษที่ 19 ชาวจีนอีกระลอกใหญ่ตามเข้ามาสมทบ ส่วนหนึ่งเป็นช่างไม้ชาวกวางตุ้ง กลุ่มนี้เข้ามาทำงานและเปิดร้านในย่านโบว์บาซาร์ อีกกลุ่มใหญ่ไปทำงานในโรงฟอกหนังและทำรองเท้า ซึ่งสันนิษฐานว่าสังคมอินเดียสมัยนั้นยังถือเคร่งในเรื่องวรรณะและงานที่เกี่ยวกับเครื่องหนังถือเป็นงานของคนวรรณะต่ำ สกุลชามาร์ ชาวจีนซึ่งล้วนเป็นแรงงานมีฝีมือและหนักเอาเบาสู้ จึงสบช่องโอกาสในการหาเลี้ยงชีพ

ด้วยปัญหาภัยแล้ง การเมืองและสงครามในจีนแผ่นดินใหญ่ นับจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามฝิ่น สงครามจีน-ญี่ปุ่น กบฏนักมวย และปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นจีนคอมมิวนิสต์ ชาวจีนอพยพที่เข้ามาตั้งรกรากในกัลกัตตาก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้น ประเมินว่าเคยมีชาวจีนอยู่ในกัลกัตตาและเมืองใกล้เคียงถึงราว 20,000 คน ทั้งแยกอาชีพและประเภทธุรกิจระหว่างกลุ่มเชื้อสายต่างๆ ค่อนข้างชัดเจน โดยชาวฮกเกี้ยนประกอบกิจการโรงฟอกหนังและทำรองเท้า ชาวกวางตุ้งทำงานไม้และเปิดร้านอาหาร ชาวหูเป่ยเปิดร้านทันตกรรม ส่วนร้านซักรีดมักเป็นกิจการของจีนเซี่ยงไฮ้ นอกจากกิจการเหล่านี้ชาวจีนยังได้รับอนุญาตให้เปิดโรงฝิ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมายถึงปี 1947

นับแต่อดีตมา ชาวจีนทำมาหากินและเป็นส่วนหนึ่งของกัลกัตตาโดยไม่มีปัญหาขัดแย้งใดๆ ขณะที่พวกเขารักษาขนบประเพณีของตนอย่างเหนียวแน่น แต่งงานสืบตระกูลกันเฉพาะในหมู่คนจีน แต่ก็มีการรับแลกและเคารพวัฒนธรรมประเพณีของชาวอินเดีย ดังจะเห็นว่า นอกจากจะเฉลิมฉลองใหญ่ในวันตรุษจีน สารทจีน และไหว้พระจันทร์ ชาวจีนก็ร่วมฉลองและให้ความสำคัญกับวันดิวาลีหรือวันตรุษของชาวฮินดู และอีดหรือตรุษของชาวมุสลิม นอกจากมีวัดจีนในย่านเอสพลานาด ก็ยังมีวัดเจ้าแม่กาลีเทพที่ชาวเบงกาลีรักใคร่บูชา ซึ่งคนจีนสร้างขึ้นในย่านทังรา

แต่สิ่งที่เหมือนจะเชื่อมร้อยชาวจีนและชาวอินเดียในกัลกัตตาไว้เหนียวแน่นที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องอาหาร ดังมีร้านอาหารจีนเก่าแก่หลายแห่งที่ชาวเมืองกัลกัตตารู้จักกันดี อาทิ Eau Chew, Waldrof, Peiping และ Fat Mama ส่วนเมนูอาหารจีนที่ดูจะเป็นสูตรต้นตำรับของชาวจีนโพ้นทะเลในกัลกัตตาที่ประยุกต์ขึ้นจากเครื่องปรุงท้องถิ่น จนถูกปากคนอินเดียและสั่งกันได้ขึ้นใจ ได้แก่ Hakka-บะหมี่ผัดคล้ายราดหน้า Chowmain-บะหมี่ผัดแห้ง Chicken Machurian-ไก่ทอดในน้ำเกรวี่ปรุงด้วยซอสจีน ผัดเปรี้ยวหวาน และ Chillie Chicken-ไก่ผัดในซอสพริกรสจัด ปัจจุบันเมนูเหล่านี้โดยเฉพาะฮักก้าและเชาว์เมนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมนูจานด่วนที่หากินได้ทุกตรอกซอย ควบคู่ไปกับจานด่วนสไตล์อินเดียนอื่นๆ ซึ่งพ่อครัวส่วนใหญ่ก็เป็นคนอินเดียนั่นเอง

ในช่วงทศวรรษ 1990 ราฟีคเอลเลียส ช่างภาพแฟชั่นและงานโฆษณาชาวอินเดียที่มีผลงานในระดับนานาชาติ เกิดความสนใจในกลิ่นอายเฉพาะของชุมชนชาวจีนในกัลกัตตา จึงเริ่มเก็บภาพชีวิตในไชน่าทาวน์ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ จนกลายเป็นผลงานสารคดีชื่อ The Legend of Fat Mama : Stories from Calcutta's Melting Wok (ชมได้ที่ www.icecube.in) ซึ่งได้รับการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี ในปี 2005

ในสารคดีดังกล่าว เอลเลียสใช้ชื่อเสียงของ Fat Mama หญิงอ้วนอัธยาสัยดีที่เคยเปิดร้านอาหารจีนในย่านชีน่าบาซาร์ เป็นกุญแจไขเข้าไปพบกับชีวิตเรื่องราวของชาวจีนครอบครัวอื่นๆ ในไชน่าทาวน์ เช่น ฟามู่หลันกลุ่มนักเชิดสิงโตผู้หญิง สเตลล่าเจ้าของร้านของชำ มร.ลี ผู้รู้ด้านฮวงจุ้ยและนักเขียนแผ่นป้ายมงคล ฯลฯ พร้อมกับสะท้อนผลของสงครามระหว่างจีนกับอินเดียที่ปะทุขึ้นและกินเวลาเพียงเดือนเศษในปี 1962 ที่มีต่อชุมชนชาวจีนที่เคยมีชีวิตสงบสุขกลมกลืนอยู่บนแผ่นดินอินเดีย

ระหว่างสงครามครั้งนั้น ชาวจีนต้องมีชีวิตอยู่ในความกลัว เพราะถูกมองว่าเป็นชนชาติศัตรู แม้ว่าจำนวนมากเกิดโตในอินเดีย ถือสัญชาติอินเดียน และพูดภาษาฮินดีได้คล่องแคล่ว ในช่วงนั้นกิจการของชาวจีนจำนวนมากถูกสั่งปิด บ้างถูกริบทรัพย์ออกขายทอดตลาด และส่งตัวไปยังค่ายกักกันในราชสถานและดีโอลี

ผลจากสงครามและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงต่อมา ทำให้ครอบครัวชาวจีนจำนวนมากอพยพไปทำงานและตั้งรกรากในแคนาดาและออสเตรเลีย โดยเฉพาะที่แคนาดานั้นพวกเขาไปรวมกลุ่มอยู่กับชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่และชาวอินเดียในเมืองโทรอนโต

ในสารคดีของเอลเลียสเราจะพบว่าชาว "จีนอินเดียน" ในโตรอนโต ล้วนยังมีความทรงจำและความผูกพันที่ลึกซึ้งกับกัลกัตตา พวกเขาถือว่ากัลกัตตาคือบ้านเกิด ยังเดินทางกลับมาเยี่ยมญาติและหาคู่แต่งงานให้ลูกหลาน เขาถือชาวอินเดียเป็นเพื่อนบ้าน ยังคงชอบกินไก่ทันดูรีและอาหารอินเดียนอื่นๆ และชอบร้องเพลงโปรดจากหนังฮินดีเพื่อรำลึกความหลัง

ชาวจีนในไชน่าทาวน์ปัจจุบันมีอยู่ราว 5,000 คน ส่วนใหญ่คงยึดอาชีพในกิจการที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่น ร้านรองเท้าในย่านถนนเบ็นท์นิค ร้านอาหาร ร้านซักรีด ร้านของชำ โรงงานผลิตซีอิ๊ว ส่วนกิจการฟอกหนังนั้นกำลังอยู่ในภาวะง่อนแง่น เพราะมีคำสั่งย้ายโรงงานฟอกหนังออกไปอยู่นอกเมืองในเขตบันตาลา

ส่วนเด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่แม้ส่วนใหญ่ยังพอพูดภาษาจีนได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะเรียนในโรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษและฮินดีมากกว่าภาษาจีน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังสือพิมพ์จีนที่เคยตีพิมพ์มาถึง 65 ปี ต้องปิดตัวลง ทุกวันนี้ยังเหลือหนังสือพิมพ์จีนเพียงฉบับเดียว ที่น่าจะเรียกว่าเป็นหนังสือพิมพ์ทำมือ เพราะผลิตโดยนักเขียนตัวอักษรจีนชราสองคน ซึ่งทุกเช้าเขาจะมาสรุปข่าว เขียนข่าวด้วยพู่กันจีน ก่อนนำไปถ่ายเอกสารแจกจ่ายแก่สมาชิกที่มีอยู่ราว 500 คน

ทุกวันนี้แม้ไชน่าทาวน์และกิจการของชาวจีนในกัลกัตตาจะไม่รุ่งโรจน์เช่นในอดีต หนุ่มสาวชาวจีนอินเดียนต่างมุ่งหมายที่จะอพยพย้ายไปใช้ชีวิตในต่างแดน ก้นครัวของร้านอาหารจีนใหม่ๆ ที่เปิดเป็นดอกเห็ดล้วนมีชาวทิเบตหรือเนปาลีเป็นพ่อครัว แต่ทุกตรุษจีนใจกลางเมืองกัลกัตตายังคงคึกคักด้วยเสียงเชิดสิงโตและการแสดงของเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ในชุดประจำชาติจีน ตรอกซอยย่านโบว์บาซาร์ยังมีกระด้งที่เรียงรายด้วยข้าวเกรียบกุ้งให้เห็นแทบทุกวันที่แดดเป็นใจ และชีน่าบาซาร์ยังเป็นสวรรค์สำหรับมื้อเช้าแสนอร่อย เป็นแหล่งที่สามารถนำขวดเปล่ามาซื้อซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ และซอสพริกได้ในสนนราคาลิตรละ 25-30 รูปี ทั้งเชาว์เมนและฮักก้าก็ยังเป็นจานด่วนที่คนอินเดียเรียกหาอยู่ติดปาก

เหล่านี้คงเป็นสัญญาณบอกได้ว่า บทตอนหนึ่งของชีวิตชาวจีนโพ้นทะเลยังไม่ได้เป็นเพียงแค่ประวัติศาสตร์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.