“เงินเฟ้อ” ที่ฆ่าคนได้

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเกิดเหตุโศกนาฏกรรมแปลกๆ ขึ้นในประเทศจีนจากการเหยียบกันตายของคนจีนที่แย่งกันซื้อของในห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ในเขตเมืองฉงชิ่ง เมืองใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน

ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าทำไมเขาถึงเหยียบกันตาย?

คำตอบก็คือ "เพียงเพราะแย่งกันซื้อน้ำมันพืชลดราคา!"

เรื่องราวมันเป็นอย่างนี้ครับ... เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พ.ย. ในห้างคาร์ฟูร์ ห้างดิสเคาท์สโตร์สัญชาติฝรั่งเศส สาขาซาผิงป้า ที่ตั้งอยู่ในเมืองฉงชิ่ง เนื่องจากทางห้างประกาศลดราคาน้ำมันพืชขวดขนาด 5 ลิตรลงร้อยละ 20 จากขวดละ 51.4 หยวนเหลือ 39.9 หยวน เพื่อฉลองในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการเปิดสาขา โดยมีเงื่อนไขว่าลูกค้าแต่ละคนสามารถที่จะซื้อน้ำมันดังกล่าวได้เพียง 2 ขวดเท่านั้นเนื่องจากสินค้ามีจำนวนจำกัด

การออกประกาศลดราคาดังกล่าวของห้างคาร์ฟูร์ส่งให้ฝูงชนชาวจีนรุดไปรอคิวกันล่วงหน้าก่อนที่ห้างจะเปิดนานหลายชั่วโมง โดยมีบางคนไปรออยู่ที่หน้าห้างตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา

ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขของทางห้างที่อนุญาตให้ลูกค้าแต่ละคนสามารถซื้อน้ำมันลดราคาดังกล่าวได้เพียง 2 ขวดก็ทำให้บางครอบครัวถึงกับระดมสรรพกำลังยกพลกันไปทั้งบ้านเพื่อทำให้ครอบครัวตนสามารถซื้อน้ำมันลดราคากลับมาให้ได้มากที่สุด โดยรายงานข่าวจากสื่อมวลชนจีนระบุว่า ในเช้าวันเสาร์ที่เกิดเหตุมีประชาชนชาวฉงชิ่งมารอคิวซื้อน้ำมันพืชลดราคารวมแล้วมากถึง 2,000 คนเลยทีเดียว

สุดท้ายในเวลา 8 นาฬิกากว่าๆ เมื่อห้างเปิดทำการ ผู้คนราว 2,000 คนก็แห่กันเข้าไปในห้าง ยื้อยุดฉุดกระชากกันอย่างไม่เกรงใจกันและกัน เมื่อมีคนลื่นก็ใช้กำลังเหยียบย่ำกันอย่างไร้สติ จนในที่สุดเกิดเหตุผู้เสียชีวิตจำนวน 3 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 31 ราย โดยในจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอยู่ 7 ราย

หลังเกิดเหตุการณ์ห้างคาร์ฟูร์สาขาดังกล่าวถูกปิดลงชั่วคราว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐของจีนเข้าตรวจค้นหาสาเหตุของการเสียชีวิตและการบาดเจ็บ

โศกนาฏกรรมครั้งดังกล่าวถูกเรียกขานในหมู่สื่อมวลชนจีนว่า 'เหตุการณ์ 11-10 การเหยียบกันที่ห้างคาร์ฟูร์' โดยสองวันให้หลังกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ออกประกาศห้ามบริษัทและห้างร้านต่างๆ ทั่วประเทศจัดกิจกรรม ส่งเสริมการขายแบบจำกัดเวลา โดยใจความหลักของประกาศระบุว่า

"ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย นับ แต่นี้ไปบริษัทต่างๆ ห้ามจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแบบจำกัดเวลาที่อาจก่อให้เกิดการติดขัดของการจราจร อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และจัดการอย่างไร้ระเบียบ"

ซึ่งในเวลาต่อมาประกาศดังกล่าวได้รับการตอบรับจากคณะกรรมการด้านการค้าของเทศบาลเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศจีนที่ออกประกาศไม่อนุญาตให้ร้านค้าต่างๆ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแบบจำกัดเวลาและจำกัดจำนวน โดยเฉพาะประเภทสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง เช่น ข้าวและธัญพืช, น้ำมัน, เกลือ, เนื้อสัตว์, ไข่ เป็นต้น

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ก็เคยเกือบที่จะเกิดเหตุโศกนาฏกรรมคล้ายๆ กันนี้ ณ เมืองใหญ่อื่นๆ ของจีนมาก่อนแล้ว เช่น เมื่อสองปีก่อนเกิดเหตุลูกค้าเหยียบกันเพื่อแย่งซื้อสินค้าลดราคาในห้างแห่งหนึ่งของเมืองเฉิงตู จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ 5 ราย และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็เกิดเหตุมีผู้บาดเจ็บกว่า 15 คนจากการแย่งซื้อน้ำมันพืช ลดราคาในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้

จากเหตุการณ์ที่เมืองฉงชิ่งได้ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สื่อมวลชนจีนทั่วประเทศและประชาชนจีนทั่วไปที่เข้ามาแสดง ความเห็นในอินเทอร์เน็ตที่ต่างก็ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า โศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดจากความเห็นแก่ได้ของบริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่ต้องการเพียงแต่จะดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการขายแบบฉวยโอกาสโดยไม่มีการเตรียมการ และดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับลูกค้า

จากเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว นอกจากในแง่มุมที่ภาครัฐของจีนละเลยและขาดมาตรการ การดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนแล้ว โดย ส่วนตัวผมคิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ยังบ่งชี้ให้เห็นถึง ปัญหาทางภาวะสังคมเศรษฐกิจจีนอีกประการหนึ่ง ที่ปัญหาถูกปล่อยปละจนทำให้สถานการณ์ ไหลลึกลงไปสู่ภาวะวิกฤติอีกระดับหนึ่งแล้วซึ่งปัญหาดังกล่าวคือ 'ปัญหาเงินเฟ้อ'

คล้อยหลังโศกนาฏกรรมการเหยียบกันที่ห้างคาร์ฟูร์ได้ 3 วัน สำนักงานสถิติแห่งประเทศจีนออกมาประกาศตัวเลขดัชนีผู้บริโภคของจีนในเดือนตุลาคม ระบุว่าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาดัชนีราคาผู้บริโภคหรือ CPI (Consumer Price Index) นั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ส่งผลให้คาดการณ์ตัวเลข เงินเฟ้อทั้งปี 2550 ของเศรษฐกิจจีนนั้นขยับขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 อย่างช่วยไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากหันมาพิจารณาถึงรายละเอียดของการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือนตุลาคมก็จะพบกับข้อมูลที่ค่อนข้างจะน่าตื่นตระหนกยิ่ง กล่าวคือ จากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เทียบแบบปีต่อปี สาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนีดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นก็เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าประเภทอาหารที่เทียบกับเดือนกันยายนในปีนี้แล้วราคาเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 17.6

กล่าวง่ายๆ คือ ในช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนจากกันยายนถึงตุลาคม คนจีนต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.6 เพื่อซื้ออาหารประเภทเดียวกัน!

ทั้งนี้เมื่อแบ่งแยกประเภทของสินค้าอาหารที่ขึ้นราคาแล้วก็พบว่า ประเภทสินค้าอาหารที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดก็คือ 'ราคาเนื้อหมู' ที่เพิ่มถึงร้อยละ 54.9! รองลงมาคือราคาเนื้อและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 ราคาผักสดเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 ราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 ราคาผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ราคาผลิตภัณฑ์อาหารจากทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ราคาข้าวและธัญพืชเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 รวมถึงราคาเครื่องปรุงรสต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้นี่เองจึงเป็นคำตอบว่า เพราะเหตุใดชาวจีนกว่าสองพันคนจึงไปแย่งกันซื้อน้ำมันพืชลดราคาที่ห้างคาร์ฟูร์ในเมืองฉงชิ่งจนก่อให้เกิดเหตุการณ์เหยียบกันตายได้

รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับดัชนีราคาผู้บริโภคชาวจีนในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาชิ้นเดียวกันยังบ่งชี้ให้เห็นด้วยว่า แม้ว่าดัชนีราคาสินค้าประเภทที่ไม่ใช่อาหารจะไม่ได้ซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป โดยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 1.1 แต่ก็มิอาจฉุดรั้งให้ภาวะเงินเฟ้อในภาพรวมนั้นดีขึ้นเท่าใดนัก

สถานการณ์เงินเฟ้ออันเลวร้ายดังกล่าวกดดันให้นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าของจีนต้องออกมาประกาศให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกไปกับภาวะเงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารและน้ำมัน โดยกล่าวว่าตัวเขาเองใส่ใจกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ณ ปัจจุบัน แม้กระทั่งขึ้นเพียงหยวนเดียวก็ตามที ว่าจะส่งผลกระทบกับชีวิตของประชาชนชาวจีนอย่างไรบ้าง

ภาวะเงินเฟ้อในจีน ณ วันนี้ แม้จะยังห่างไกลกับ 'ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyperin-flation)' ในความหมายของนักเศรษฐศาสตร์ที่ให้คำจำกัดความอย่างกว้างไว้ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อมิอาจควบคุมได้คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ภายในหนึ่งเดือนจนเกิดภาวะโกลาหลในสังคม แต่เพียง 'ภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อน (Mild Inflation)' หรืออัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปีเช่นนี้นี่แหละที่ทำให้สังคมจีนเกิดความโกลาหลแบบย่อยๆ ได้เช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.